จิตวิทยามีคำตอบ ลักษณะผู้นำแบบไหนที่คนไทยและคนยุคใหม่ต้องการ?
แนวโน้มความนิยม (Trend) หรือคุณลักษณะผู้นำที่คนไทยและคนยุคใหม่ ต้องการมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตามจำนวนสถิติคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2566 มีจำนวน 52,241,808 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาตามช่วงวัย (Generation) พบว่า Generation X (ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2506 - 2526) มีจำนวนมากที่สุด คือ 20,882,235 คน
รองลงมาคือ Generation Y (ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2527 - 2546) จำนวน 17,983,355 คน ตามมาด้วย Baby Boomer (ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2491 - 2505) จำนวน 9,326,314 คน กลุ่ม Before Baby Boomer (ผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2491) จำนวน 2,956,182 คน และปิดท้ายด้วยน้องเล็กสุด Generation Z (ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2547 – 15 พฤษภาคม 2548) จำนวน 1,093,722 คน
นั่นหมายความว่า คะแนนเสียงในการเลือกผู้แทนของคนไทย และเลือกผู้นำประเทศไทยคนใหม่ มาจากคะแนนเสียงของ Generation X และ Y มากถึง 74.40% และคะแนนเสียงเหล่านี่นี้เองที่เป็นผู้เลือกTrend ลักษณะผู้นำที่คนไทยต้องการ ซึ่งลักษณะผู้นำดังกล่าวก็มีความสอดคล้องกับแนวคิดจิตวิทยาที่เรียกว่า “Leadership ACT”
ซึ่งได้มาจากการเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ตามหลักสถิติ และจิตวิทยาด้วยการเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของผู้นำระดับโลก (Global Leaders) ที่กำหนดโดยสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก 38 สถาบัน (เช่น Stanford University, Harvard University, Peking University, มหาวิทยาลัยโตเกียว, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นต้น) ซึ่งมีทั้งหมด 3 กลุ่ม 6 คุณลักษณะสำคัญ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 Articulate
หมายถึง ผู้นำที่มีทักษะการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น สามารถอธิบายให้ทีมหรือผู้อื่นเข้าใจถึงเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพร่วมกัน โดยประกอบด้วย 2 คุณลักษณะ ได้แก่
1.) Uncharted Explorer
คือ ผู้นำที่มีความสามารถในการมองหาโอกาสใหม่ ๆ มีความกล้าเสี่ยงลองแนวทางใหม่ กล้าคิด กล้าลงมือทำ กล้าเปลี่ยนแปลง ดังที่อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. สุดแกร่งของเรา ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น โดยมีการพัฒนาระบบยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ มีการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้าง และเปิดเผยข้อมูลระหว่าง “ผู้ขอ – ผู้ให้” ใบอนุญาต ว่ามีการปฏิบัติตามเกณฑ์หรือไม่ ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ กทม. เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นต้น
2.) Success Warrior
คือ ผู้นำที่มีความสามารถในการผลักดันงานให้ประสบความสำเร็จ เกิดผลสัมฤทธิ์ ดังที่ Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวไว้ว่า “เราเอาชนะความเห็นถากถางดูถูกด้วยการทำงานหนัก เราเอาชนะการเมืองเชิงลบและแตกแยก ด้วยวิสัยทัศน์เชิงบวกที่นำชาวแคนาดามารวมตัวกัน” เนื่องจากเขามักโดนดูหมิ่นว่าอายุน้อย น้อยประประสบการณ์ แต่ก็ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการจริงจังกับงาน จริงใจกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย จนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และกำลังจะลงสมัยที่ 3 ในเร็ว ๆ นี้
กลุ่มที่ 2 Connect
หมายถึง ผู้นำที่บริหารงานโดยเน้นการมีส่วนร่วม กระตุ้นทีมให้เกิดการร่วมมือกันทั้งแนวตั้ง คือจากบนลงล่าง และแนวนอน คือ ระหว่างทีม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยประกอบด้วย 2 คุณลักษณะ ได้แก่
1.) Empathic Communicator
คือ คุณลักษณะผู้นำที่เป็นนักสื่อสาร สามารถพูดหรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจวัตถุประสงค์ได้โดยง่าย อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ใจกว้าง ยินดีรับฟังทุกคนเพื่อนำมาปรับปรุงตนเอง ดังที่อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “คำชมตนคงไม่ต้องการ ต้องการคำที่ต้องปรับปรุง ซึ่งมีเรื่องสุนัขและแมวจรจัด เรื่องปากท้องประชาชน และเรื่องการจราจร ต้องขอน้อมรับไว้และหาวิธีการ”
2.) Synergistic Winner
คือ ผู้นำที่มีความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ที่ดี ผสานความสัมพันธ์ทั้งภายในทีมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้งานสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นที่ Justin Trudeau ได้กล่าวถึงกรณีที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้ตำหนิ Trudeau ประเด็นการเจรจานอกรอบการประชุม G20 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 มีการหลุดไปถึงสื่อ ว่า “เราเชื่อมั่นในการสนทนาที่เสรี เปิดเผย และตรงไปตรงมา เราจะทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ต่อไป แต่อาจจะมีบางสิ่งที่เราเห็นไม่ตรงกัน”
กลุ่มที่ 3 Trust
หมายถึง ผู้นำที่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในทีม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการมอบอำนาจให้แก่ทุกคนในทีม และสร้างความเชื่อมั่นโดยมีความรับผิดชอบ รักษาคำพูด มีวินัย มีระเบียบแบบแผน จนสามารถทำให้ทีมและผู้อื่นเชื่อถือได้ โดยประกอบด้วย 2 คุณลักษณะ ได้แก่
1.) Diversity Promoter
คือ การเป็นผู้นำที่ส่งเสริมความหลากหลาย มีความสามารถในการบริหารความขัดแย้ง รวมถึงสามารถสร้างความสามัคคีทั้งในทีม และในกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นที่ทั้งอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Justin Trudeau และ Jo Biden ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา รวมถึงรับฟังความเห็นต่างอย่างสันติ
2.) Torch Bearer
คือ ลักษณะผู้นำที่มองการณ์ไกล สามารถวิเคราะห์ถึงแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังส่งเสริมและพัฒนาผู้นำรุ่นถัดไป ดังที่ Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวในครั้งที่ชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ว่า “เรากำลังอยู่ในโลกที่มีการแบ่งขั้วมากขึ้น สถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากสูญเสียความสามารถในการมองเห็นมุมมองของกันและกัน ดิฉันหวังว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ นิวซีแลนด์ได้แสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น ในฐานะประเทศที่เราสามารถรับฟังและถกเถียงกันได้”
ในทางจิตวิทยาเชื่อว่า ลักษณะผู้นำมีในตัวของเราทุกคน ซึ่งเราสามารถพัฒนาได้ และนำออกมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่เราเองและผู้อื่นได้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลคุณลักษณะผู้นำทั้ง 3 กลุ่ม 6 คุณลักษณะ ที่ได้นำเสนอข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองของทุกท่านนะคะ
หากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง
หรือหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. ประชาชาติธุรกิจ. (2563, 12 ธันวาคม). LeadershipACT. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.prachachat.net/csr-hr/news-570680
2. Thai PBS. (2566, 11 พฤษภาคม). เลือกตั้ง2566 : เปิดตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "เจเนอเรชัน X" มากสุด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/327601
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments