ความคิดแบบไหนที่ควรบอกลา เพื่อพัฒนาความสุขของตัวเอง
- นิลุบล สุขวณิช
- 6 days ago
- 1 min read

“อยู่กับตัวเองให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังคำพูด” เป็นประโยคที่มักจะได้ยินกันบ่อย แต่ในบางครั้งการระวัง ‘ความคิด’ และ ‘คำพูด’ ก็เป็นไปได้ยากเพราะในการที่จะระวังความคิดและคำพูดได้นั้นจะต้องอาศัยการรับรู้และเข้าใจตัวเอง ซึ่งอาจจะต้องตั้งต้นด้วยการสำรวจตัวเองก่อนว่าส่วนใหญ่แล้วตัวเองมักจะมีความคิดแบบไหน
และจากนั้นก็มาดูว่าความคิดแบบไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเพื่อที่จะได้บอกลาความคิดเหล่านั้นแล้วฝึกตัวเองให้คิดในรูปแบบใหม่ที่มันจะช่วยส่งเสริม well-being ของตัวเอง ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ทุกคนลองมาสำรวจตัวเองกันดูว่าคุณมีความคิดที่เป็นพิษต่อตัวเองอยู่หรือไม่ ดังนี้
ทัศนคติแบบเหยื่อ (Victim Mentality)
มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อของสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ และเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงมันได้ โดยตัวอย่างพฤติกรรมของคนที่มีทัศนคติแบบเหยื่อ ได้แก่
คิดว่าที่ชีวิตของตัวเองกลายเป็นแบบนี้มันเป็นเพราะคนอื่นทำ
พอได้สงสารตัวเองแล้วจะรู้สึกดีขึ้น
มีแนวโน้มที่จะชอบ hang out กับคนที่มีลักษณะชอบกล่าวโทษหรือตำหนิคนอื่นมากกว่า
รู้สึกว่าตัวเองขาดการสนับสนุนช่วยเหลือจากคนอื่น
ขาดความมั่นใจในตนเองและมักจะมีภาวะ low self-esteem
คิดว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม
มองโลกแบบขาวกับดำ
ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อปัญหาของคนอื่น
ไม่สามารถสนับสนุนทางอารมณ์หรือเปิดใจรับฟังเพื่อเข้าใจผู้อื่นได้
รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้เลย
มักจะรู้สึกอยู่เสมอว่าคนอื่น ๆ มีชีวิตที่ดีกว่า
การมีทัศนคติแบบเหยื่อมักจะนำไปสู่กับรู้สึกผิด อับอาย ซึมเศร้า เกิดความคับข้องใจกับโลกใบนี้ รู้สึกเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลาเพราะคิดว่าโลกนี้ไม่มีใครที่แคร์คุณเลย รู้สึกแปลกแยกและเหงา รวมถึงรู้สึกไม่พอใจเวลาที่เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการทำงาน
เพราะคนรอบตัวจะรู้สึกถูกควบคุมบงการหรือถูกกล่าวโทษอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ทัศนคติแบบเหยื่อนั้นมีที่มา เช่น เกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทำให้มีทัศนคติแบบเหยื่อ การฝึกฝนวิธีคิด ฝึกขอบคุณ หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจึงสามารถช่วยให้คนที่มีทัศนคติแบบเหยื่อสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้
รูปแบบความคิดที่เป็นพิษต่อตัวเอง (toxic mindset patterns)
จากบทความของ Psychology Today เขียนโดย Sean Grover ได้กล่าวถึง 3 รูปแบบความคิดที่เป็นพิษต่อตัวเอง ได้แก่
“ฉันเป็นคนนอกอยู่เสมอ” ทำให้มักจะคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้าว่าตัวเองจะถูกสังคมปฏิเสธ
“ฉันมีปัญหาในการเชื่อใจคนอื่น” ทำให้ถอนตัวออกจากสังคม หลีกเลี่ยงความใกล้ชิดผูกพันกับคนอื่น และแยกตัวโดดเดี่ยวออกมาจากผู้คน
“ทุกคนทอดทิ้งฉัน” ทำให้มองเห็นความเจ็บปวดในทุกความสัมพันธ์และเชื่อว่าการใกล้ชิดกับคนอื่นมาก ๆ ความสัมพันธ์มักจะจบลงแบบเลวร้าย
รูปแบบความคิดเหล่านั้นมักจะนำไปสู่การไม่มีความสุข ซึ่งเมื่อคิดแบบนั้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ Sigmund Freud เรียกว่า “การบีบคั้นให้ทำซ้ำ (repetition compulsion)” ต่อให้ทำแล้วไม่มีความสุขหรือรู้ว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ “unhealthy” แต่ก็ห้ามตัวเองไม่ได้และยังคงทำซ้ำ ๆ แบบเดิมไปอยู่ดี
ในการแก้ไขรูปแบบความคิดเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องทำลายรูปแบบความคิดเดิม ซึ่งนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญจะสามารถช่วยให้คุณค่อย ๆ ออกจากความคิดเหล่านี้ไปสู่รูปแบบความคิดใหม่ ๆ ที่ดีต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น
จากที่ผู้เขียนได้หยิบยกขึ้นมาในข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดที่มักจะนำไปสู่ความรู้สึกไม่มีความสุขอันเกิดจากอารมณ์ต่าง ๆ เช่น อับอาย รู้สึกผิด โดดเดี่ยว เหงา หรือเศร้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีความคิดอีกหลายรูปแบบที่ส่งผลในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าต่อให้จะเป็นความคิดแบบใดก็ตาม หากเจ้าของความคิดรู้เท่าทันว่าตัวเองมักจะมีความคิดแบบใดเกิดขึ้นบ่อยหรือเคยชินกับมันก็จะช่วยให้สามารถจัดการกับความคิดของตัวเองได้มากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนควรที่จะทำให้ตัวเองมีแต่ความคิดทางบวกเท่านั้น
เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีแต่ความคิดบวกอยู่ตลอดเวลาแม้ต้องพบเจอกับสิ่งที่กระตุ้นความเครียดหรือทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว สิ่งที่ทำได้จริงมากกว่าจึงเป็นการฝึกรู้เท่าทันว่าตัวเองมีความคิดอะไร โดยอาจจะนำเทคนิคการฝึกสติ (Mindfulness exercises) เข้ามาช่วย เช่น
จดจ่อกับสิ่งรอบตัว เพื่อใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ให้มากขึ้น เช่น กลิ่น รสชาติ ฯลฯ
อยู่กับปัจจุบัน ฝึกเปิดใจ ยอมรับ และมองหาความสุขที่เกิดขึ้นในแต่ละวันผ่านสิ่งที่เรียบง่าย
ยอมรับตนเอง ปฏิบัติกับตัวเองดุจดั่งเพื่อนที่คุณรักคนหนึ่งของคุณ
อยู่กับลมหายใจ เมื่อมีความคิดทางลบเกิดขึ้น พยายามนั่งลงแล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ หลับตาลง จดจ่ออยู่กับลมหายใจของตัวเองที่มันผ่านเข้าออกจากร่างกาย การทำเช่นนี้แม้เพียงไม่กี่นาทีต่อวันก็สามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาได้
ผู้เขียนขอทิ้งท้ายว่าหากคุณเจอกับคนอื่นที่เป็นพิษหรือทำให้คุณรู้สึกไม่ดี คุณยังพอจะปลีกตัวหนีออกมาได้ แต่หากคน ๆ นั้นเป็นตัวคุณเอง มันไม่มีทางที่จะปลีกตัวหรือหนีไปไหนได้เลย ทางเลือกเดียวจึงเป็นการหาวิธีที่จะอยู่กับตัวเองให้มีความสุข
การพาตัวเองให้ไปพบเจอแต่ผู้คนที่ทำให้คุณมีความสุขนั้นอาจจะยากเพราะเราไม่สามารถควบคุมบังคับคนอื่นได้ วิธีที่น่าสนใจกว่าจึงน่าจะเป็นการทำให้ตัวเองเป็นคน ๆ นั้นที่คุณอยู่ด้วยแล้วมีความสุขและไม่ต้องพยายามหาทางหนีไปจากตัวเอง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
Victim Mentality: Definition, Causes, and Ways to Cope.
3 Toxic Mindsets That May Be Poisoning Your Life.
Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/when-kids-call-the-shots/202108/3-toxic-mindsets-that-may-be-poisoning-your-life
Mindfulness exercises.
Retrieved from
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความให้กับ ISTRONG และเป็นทาสแมวคนหนึ่ง
Nilubon Sukawanich (Fern) have had experience working as a counseling psychologist at a university and as a speaker on mental health issues and self-development for students for 11 years. Currently, I am a writer for ISTRONG and a cat slave.