top of page

การจัดการอารมณ์เศร้า ด้วยหลัก “การฟื้นสภาพทางใจ” (Resilience)

iSTRONG การจัดการอารมณ์เศร้า ด้วยหลัก “การฟื้นสภาพทางใจ” (Resilience)

ในสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงและบั่นทอนมากขึ้นทุกวัน ทักษะจิตวิทยาในการจัดการอารมณ์เศร้าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหลายคนต้องเผชิญกับความผิดหวัง เช่น ถูกเลื่อนฉีดวัคซีน COVID-19 ถูกให้ออกจากงาน ไม่สามารถเดินทางกลับไปหาครอบครัวที่ต่างจังหวัดได้ หรือต้องเผชิญกับความเศร้า


เช่น เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 สูญเสียคนใกล้ตัวจาก COVID-19 หรือต้องต่อสู่กับความท้อแท้ เช่น กิจการไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ หนี้สินที่พอกพูนส่วนทางกับรายได้ ไม่มีเตียง หรือไม่มีโรงพยาบาลรับรักษาเมื่อติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ช่างบีบคั้นและท้าทายต่อการฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) เป็นอย่างมาก


เมื่อเรามองย้อนไปในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์ COVID-19 ไม่ใช่วิกฤติแรกที่พวกเราคนไทยต้องเผชิญหน้า เพราะในปี พ.ศ. 2540 เราก็ได้เผชิญกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งทำให้คนรวยล้มละลายเพียงข้ามวันนับพันคน และทำให้คนที่พอจะมีกิน กลายเป็นไม่มีจะกินในเวลาไม่กี่สัปดาห์


และในปี พ.ศ. 2547 เราก็ได้เผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรง ที่เรียกว่า “สึนามิ” ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รุนแรงกินพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ผู้ที่ประสบเหตุก็สูญเสียหนักหนา และต้องใช้พลังใจอย่างมากในการฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) เพื่อให้มีการจัดการอารมณ์ทางลบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม


เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ดิฉันขอนำเรื่องราวบางช่วงบางตอนที่ผู้ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง และภัยธรรมชาติสึนามิ ได้ถ่ายทอด เพื่อเป็นข้อคิดและส่งกำลังใจให้ทุกท่านในการฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) ให้เข้มแข็งค่ะ


คุณทินกร อาวัฒนกุลเทพ เจ้าของธุรกิจทัวร์ ผู้เคยเป็นอดีตนักธุรกิจรับเหมาติดตั้งกระจกอะลูมิเนียมได้เล่าผ่านบีบีซีไทย ว่า ก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก ซึ่งมูลค่าธุรกิจของคุณทินกร ในช่วงนั้นมีมูลค่าถึง 30 ล้านบาท


แต่เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจของคุณทินกรก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเลยค่ะ จนต้องหยุดกิจการและไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และในการไปญี่ปุ่นครั้งนี้เองค่ะที่ทำให้คุณทินกรได้ใช้หลักจิตวิทยา การฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) คือ การสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) โดยการ “ฝึกฝนสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัดจนเชี่ยวชาญ”


ในการการจัดการอารมณ์ทางลบ เพราะคุณทินกรได้มีโอกาสทำงานพิเศษในการช่วยงานนำเที่ยวให้กับแขกของสถานทูตไทยในโตเกียว ซึ่งคุณทินกรก็ขอบและได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ดังกล่าวถึง 5 ปี จนเชี่ยวชาญ และสามารถเปิดบริษัททัวร์ได้เมื่อกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย


อีกหนึ่งคนที่สามารถใช้หลักจิตวิทยาการฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) จากวิกฤติต้มยำกุ้งได้สำเร็จ ก็คือ คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตเซียนตลาดหุ้นและเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อพบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง เขาก็ถูกฟ้องล้มละลาย ซึ่งคุณอาจรู้จักคุณศิริวัฒน์ ในฉายา “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” และปัจจุบัน คุณศิริวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัท ทีจีไอเอฟ


โดยคุณศิริวัฒน์ ได้เล่าความหลังว่า ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งคุณศิริวัฒน์ มีภาระหนี้สินทั้งหุ้นและอสังหาริมทรัพย์กว่า 4 - 5 ร้อยล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยอีกปีละ 17 - 19% ในวิกฤตครั้งนั้นคุณศิริวัฒน์ได้ใช้หลักจิตวิทยา การฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) คือการมีแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self - concept) ในทางที่ดี โดย “ปิดระบบพฤติกรรมอัตโนมัติของเรา” “ลดอคติต่อบุคคลและสถานการณ์ลง” และ “เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น”


โดยกลับมาตั้งสติ และเริ่มธุรกิจเล็ก ๆ ที่เหมาะสมกับทุนที่ตัวเองมีในขณะนั้น รวมถึงประเมินแล้วว่าสามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น กิจการขายแซนด์วิช ที่คุณศิริวัฒน์ใช้ทั้งความอดทน ความเข้มแข็งทางจิตใจ และหลักการฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) เข้าสู่จนสามารถกลับมายืนได้แบบเต็มภาคภูมิอีกครั้ง


นอกจากนี้แล้วคุณศิริวัฒน์ยังได้กล่าวถึงวิกฤติจากสถานการณ์ COVID-19 ไว้ว่า “เราเซเราทรุดอยู่แล้ว สถานการณ์ COVID-19 มากระทืบซ้ำ เหตุการณ์ขณะนี้ต่างจากปี 2540 โดยสิ้นเชิง แต่ผลกระทบของ COVID-19 ในที่สุดก็ต้องหายไป ต้องมีทางแก้ไขได้ แต่มันต้องใช้เวลา” ซึ่งคุณศิริวัฒน์ก็มีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยการปรับตัว เช่น ขายในแอปพลิเคชั่นไลน์ ขายบนสถานีรถไฟฟ้า BTS หรือเพิ่มผลิตภัณ์ใหม่ ๆ


โดยคุณศิริวัฒน์กล่าวว่า “เราคว้าโอกาสตอนที่คนอื่นมองว่าเป็นช่วงไม่ดี นี่คือธุรกิจที่เราต้องตัดสินใจ ถามว่ากลัวความเสี่ยงไหม ผมกลัวเพราะอายุก็มากขึ้น ผมพลาดไม่ได้แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าทำธุรกิจทุกอย่างต้องมีความเสี่ยง แต่จะทำอย่างไรให้มีความเสี่ยงน้อย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำหลักจิตวิทยา การฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) คือ การสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) โดย “หมั่นให้กำลังใจตัวเอง” และ “ผิดเป็นครู” มาใช้ในการเพิ่มความเข้มแข็งทางใจในการสู้กับวิกฤติครั้งใหม่ค่ะ


และหนึ่งเดียวในบุคคลตัวอย่างของการก้าวผ่านวิกฤติสึนามิอย่างเข้มแข็ง ในบทความจิตวิทยานี้ คือ คุณวรรธนะ สิทธิราโชติ ผู้ต้องสูญเสียครอบครัวที่รักและต้องเข้ามาสู่การดูแลของ “บ้านธารน้ำใจ” จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดูแลเด็กที่สูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์สึนามิ


โดยคุณวรรธนะ กล่าวว่า “ความทรงจำที่เลวร้ายจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ กลายเป็นอุปสรรคทำให้หลายคนเผชิญความยากลำบากที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ยิ่งถ้าเป็นเด็กในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสึนามิ จะพบว่ามีปัญหา


โดยเฉพาะความกลัวในการเข้าสังคม เมื่อเจออะไรที่แปลก ๆ นิดนึง ก็ไม่เอาแล้ว ก็จะกลัว” คุณวรรธนะ ยังได้พูดถึงแนวทางการดูแลเด็ก ๆ ในบ้านธารน้ำใจไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราใช้ความเข้าใจเป็นหลัก เสริมเข้ากับการปลูกฝังทักษะทางความรู้และวิชาชีพ เพื่อให้เด็ก ๆ รู้จักการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อพวกเขาออกไปเผชิญโลกกว้าง”


ซึ่งเป็นการนำหลักจิตวิทยา การฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) คือ การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) โดย “มองหาต้นแบบที่ดี” และ “ใส่ใจผู้อื่น” มาใช้ในการจัดการอารมณ์ทางลบ และเสริมความเข้มแข็งทางใจให้เด็ก ๆ ค่ะ


จากเรื่องราวของบุคคลตัวอย่างทั้งสามท่านแสดงให้เห็นว่าในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ การฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก โดยมีหลักทางจิตวิทยา ดังนี้ค่ะ

1. การสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) สามารถทำได้โดย

[1] ฝึกฝนสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัดจนเชี่ยวชาญ

เช่น ถ้าชอบทำอาหาร ก็สามารถเพิ่มทักษะโดยการดูคลิปใน Youtube หรือจดเคล็ดลับจากรายการทำอาหาร มาพัฒนาสูตรให้เป็น signature ของคุณเองก็ได้ค่ะ


[2] หมั่นให้กำลังใจตัวเอง

เช่น ตั้งรางวัลให้ตัวเองเมื่อทำงานที่ยากสำเร็จ ชื่นชมผลงาน หรือความสามารถของตนเองบ้าง เพื่อให้รู้สึกว่าเราเองก็มีดี และมีความสามารถมากพอที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ค่ะ


[3] ผิดเป็นครู

เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ถึงแม้ว่าเราจะกลับไปแก้ไขความผิดพลาดไม่ได้แล้ว แต่เราสามารถนำมาป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในอนาคตได้ค่ะ


[4] พูดคุยกับคนที่สนิทใจ

การแบ่งปันเรื่องราวทั้งทางบวก ทางลบ ให้กับคนที่เราไว้วางใจจะช่วยให้เราสบายใจ และมองตัวเองในทางบวกมากยิ่งขึ้นได้ด้วยค่ะ


2. การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) สามารถทำได้โดย

[1] รู้ทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง

มีสติ รู้ตัวว่าในขณะที่เราอยู่ในสถานการณ์นี้เรารู้สึกอย่างไร มีความคิดอย่างไร เมื่อเรารู้ทันความคิดและความรู้สึกของเรา เราจะสามารถควบคุมการแสดงออกได้อย่างเหมาะสมค่ะ


[2] ให้เกียรติตัวเองและผู้อื่น

โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เชื่อในความสามารถของตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน เป็นต้น ค่ะ

[3] มองหาต้นแบบที่ดี

ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ของเรา ครู เจ้านาย หรือบุคคลที่เราประทับใจแล้วเรียนรู้จากเขา เพื่อนำมาปรับใช้กับชีวิตของเรา

[4] ใส่ใจผู้อื่น

เช่น ทักทายทุกคนในที่ทำงาน อวยพรวันเกิดเพื่อน หรือเพียงแค่ไลน์ถามไถ่สุขภาพความเป็นอยู่ของคนรู้จัก ก็จะทำให้เรามีเสน่ห์กับคนอื่น และมีความภาคภูมิใจที่เราเป็นที่ยอมรับของคนอื่นอีกด้วยค่ะ


3. การมีแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self - concept) ในทางที่ดี สามารถทำได้โดย

[1] ปิดระบบพฤติกรรมอัตโนมัติของเรา

หยุดตัดสินคนอื่น หยุดพูดถึงหรือเม้ามอยคนอื่นในทางไม่ดี แล้วเปิดหู เปิดตา เปิดใจเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากคนรอบตัว ซึ่งจะสามารถทำให้เราเห็นภาพตัวเองชัดขึ้นจากการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นั่นเองค่ะ


[2] ลดอคติต่อบุคคลและสถานการณ์ลง

เมื่อเรามองทุกอย่างเป็นกลาง คือไม่ตัดสิน ไม่ใส่ความรู้สึกลงไป เราจะสามารถเรียนรู้โลกได้ลึกซึ้งมากขึ้นค่ะ


[3] เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น

การเรียนรู้ที่ดี นอกจากจะเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้ผ่านการกระทำของคนที่มีประสบการณ์ได้ด้วยค่ะ ดังเช่นบุคคลตัวอย่างทั้งสามท่านข้างตน ก็เป็นครูที่ดีในการฟื้นสภาพทางใจ (Resilience) ได้อย่างดีเลยค่ะ


ทั้งนี้ คุณสามารถอ่านบทความจิตวิทยา เรื่อง 3 หลักการสร้าง Resilience ในสถานการณ์COVID-19 ฉบับเต็มได้ที่ https://www.istrong.co/single-post/3-principles-of-resilience-covid นะคะ ขอเป็นกำลังใจ และเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลทางจิตวิทยา เพื่อให้ทุกท่านสามารถมีการจัดการอารมณ์เศร้าที่เหมาะสม และก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

[1] ธันยพร บัวทอง. 2 กรกฎาคม 2017. 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง: บทเรียนจากคนเคยล้ม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-40471733

[2] ThaiPublica. 31 ตุลาคม 2012. ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” เขาเรียกผมว่า “คนเคยรวย”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564 จาก https://thaipublica.org/2012/10/series-15-year-crisis-siriwat/

[3] รุจรดา วัฒนาโกศัย. 7 พฤษภาคม 2020. “ศิริวัฒน์ แซนด์วิช” ชายผู้ล้มแล้วลุกตั้งแต่ยุค’40 จนถึงโควิด-19. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5781-id.html

[4] BBC News ไทย. 25 ธันวาคม 2019. สึนามิ: จากเด็กกำพร้าเพราะคลื่นยักษ์ สู่ผู้ให้-ธารน้ำใจแก่เยาวชนผู้สูญเสีย.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50907266

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page