5 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช ทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษจริงหรือ?
จากข่าวดังเรื่องลูกชายวัยรุ่นที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชแล้วก่อเหตุสะเทือนขวัญกับแม่ของตัวเองเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งจากเนื้อหาข่าว และหลาย ๆ ความคิดเห็นของชาวโซเชียลทำให้มานั่งคิดว่า...โอ้ ความเข้าใจผิดเรื่องโรคทางจิตเวชไปไกลจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ซึมเศร้าทำร้ายคนอื่น” “คนที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชทำอะไรก็ไม่ผิด” และอีกมากมาย ดังนั้น เพื่อมาไขข้อข้องใจกัน ผู้เขียนเลยนำสาระดี ๆ ทางจิตวิทยามาอธิบายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชใน 5 ข้อ ต่อไปนี้ค่ะ
1.ผู้ป่วยจิตเวชเป็นอันตราย ชอบทำร้ายคนอื่น
ถึงแม้ว่าเราจะได้ยินจากข่าวบ่อยครั้งว่าผู้ป่วยจิตเวชมักจะทำพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ดูอันตราย เช่น ขับรถชนคนอื่นเพราะไม่สามารถคุมอารมณ์ได้ นำงูมีพิษมาปล่อยกลางถนน ถืออาวุธเข้าไปทำร้ายเด็กนักเรียนในโรงเรียน เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงตามหลักจิตวิทยาแล้ว ผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มทำร้ายผู้อื่นมีอยู่ 2 โรค คือ โรคจิตเวชที่เป็นผลมาจากการใช้สารเสพติดจนทำให้ประสาทหลอน และโรคจิตเภท แต่โรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรคสมองเสื่อม โรควิตกกังวล ฯลฯ ผู้ป่วยไม่มีแนวโน้มที่จะทำร้ายผู้อื่น เพราะมักจะหมกหมุ่นอยู่กับตัวเอง และแน่นอนว่ามีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าได้เหมารวมผู้ที่ป่วยจิตเวชว่าเป็นอันตรายทุกคนเลยค่ะ ลำพังแค่เขามีอาการป่วยก็ทุกข์ใจมากแล้ว อย่ากีดกันเขาด้วยอคติอีกเลย
2.เมื่อผู้ป่วยจิตเวชทำความผิด จะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย
ในหัวข้อนี้ดูจะเป็นข้อที่เข้าใจผิดกันเยอะมาก จนทำให้หลายครั้งโรคทางจิตเวชถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้พ้นผิด เช่น ขับรถชนรถคันอื่นเพราะเป็นโรคไบโพลาร์ ตอนนั้นควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หรือทำลายทรัพย์สินคนอื่นแล้วบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น เพราะเข้าใจว่าถ้าฉันเป็นโรคทางจิตเวช หรือเป็นโรคทางจิตเวชจริง ๆ แล้วจะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ในความจริงแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 กำหนดว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น หมายความว่า ถ้ามีสติรู้ตัว ต่อให้เป็นผู้ป่วยจิตเวชหากกระทำความผิดก็โดนลงโทษตามกฏหมาย เช่น ขับรถชนรถคันอื่น ต่อให้มีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นโรคไบโพลาร์ แต่กล้องหน้ารถจับภาพได้ว่าขับรถตามแต่รถของคู่กรณีคันเดียวก่อนจะขับชน ก็แสดงให้เห็นค่ะว่ามี “เจตนา” ที่จะทำร้ายโดยเฉพาะเจาะจง หรือทุบตู้ ATM จนพัง แล้วแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริง แต่ภาพจากกล้องวงจรปิดกลับเห็นว่าระหว่างทางที่ผู้ป่วยผ่านนั้นก็มีตู้ ATM อีกหลายตู้ แต่ผู้ป่วยถืออาวุธมาทุบตู้ ATM ของธนาคารนี้โดยเฉพาะ แบบนี้ก็ต้องรับผิดเต็ม ๆ ค่ะ
3.การรักษาโรคทางจิตเวชต้องใช้ยาเท่านั้น
ยาไม่ใช่ทางออกเดียวของโรคทางจิตเวชค่ะ ตัวช่วยอื่น ๆ ที่นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยานิยมนำมาใช้ในกานรักษาผู้ป่วยจิตเวชก็คือ "การบำบัด" (Therapy) ไม่ว่าจะเป็นจิตบำบัด (Psycho therapy) พฤติกรรมบำบัด (Behavioral therapy) ครอบครัวบำบัด (Family therapy) และอีกมากมายหลากหลายการบำบัดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติค่ะ เพราะการบำบัดเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีพฤติกรรมใหม่ มีความคิดใหม่ มีการมองโลกในมุมใหม่ รวมไปถึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของผู้ป่วยเองก็เข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในการใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุดค่ะ
4.โรคทางจิตเวชไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคทางจิตเวชถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรคเรื้อรัง หายยาก เพราะมีปัจจัยแวดล้อมคอยกระตุ้น ทั้งความเครียด ความกดดัน ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็ทำให้อาการของผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงขึ้นมาได้ แต่หากผู้ป่วยและครอบครัวเข้าทำการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง รับประทานยาครบ มาพบแพทย์ตามนัด โอกาสจะหายขาดก็มีไม่น้อยค่ะ
5.ผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ถึงแม้ว่าอาการป่วยของโรคจิตเวชจะรบกวนการใช้ชีวิตไปพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจิตเวชจะทำกิจกรรมแบบเดียวกับคนทั่วไปไม่ได้ ซึ่งมีตัวอย่างจากคนดังหลายคนเลยค่ะ ที่ถึงแม้ว่าจะป่วยด้วยโรคจิตเวช แต่ก็ยังทำงานได้อย่างดีเยี่ยม เช่น UR Boy TJ แรปเปอร์ที่มีสไตล์โดดเด่นและมีเพลงดังมากมายแม้จะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า หรือคุณทราย เจริญปุระ ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเช่นกัน แต่ฝีมือการแสดงก็ยังคงจัดจ้าน หรือคนดังระดับโลกอย่างมาราย แครี ทีป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ แต่ก็ยังสามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งทำให้เห็นว่า ถึงแม้จะป่วยแต่ก็ยังใช้ชีวิตได้
บทความแนะนำ “5 เทคนิคต้องรู้สำหรับการอยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”
ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อข้องใจที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผู้ป่วยจิตเวชผิดเท่านั้น ผู้เขียนหวังว่าเกร็ดความรู้ทั้ง 5 ข้อนี้ จะช่วยให้คุณผู้อ่านมีมุมมองใหม่ต่อผู้ป่วยจิตเวชนะคะ ขอแต่คุณผู้อ่าน "เข้าใจ" ผู้ป่วยจิตเวช ก็ช่วยให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตแล้วค่ะ พบกันใหม่บทความหน้านะคะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง
1. พิสิษฐ์ นภาธนาสกุล. จิตเภทกับความอ่อนแอของสังคมไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562 จาก http://web.krisdika.go.th/acknowledgeDetail.jsp?code=23
Comments