top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 เทคนิคจิตวิทยาในการรับมือกับวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis)



ปัญหาวิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้คนในวัย 40 – 60 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยกลางคน และเป็นกำลังหลักสำคัญของประเทศต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มีความเครียดสูง มีความวิตกกังวลกับความไม่แน่นอนในชีวิต เป็นต้น โดยในทางจิตวิทยาพัฒนาการนั้น คนในช่วงวัยกลางคนพร้อมจะเกิดวิกฤตได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งวิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis จะเกิดกับคนที่อยู่ในวัย 40 – 60 ปี เพราะคนในช่วงวัยนี้จะเข้าสู่วัยทองที่ฮอร์โมนหลายอย่างเลิกผลิต ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และแน่นอนว่าก็ส่งผลต่อสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ รวมถึงการตกผลึกทางความคิดบางอย่างที่ทำให้การมองโลก และทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดความไม่สบายใจ กังวลใจจนเป็นทุกข์หนัก เริ่มเกิดความสงสัยต่อคุณค่าในตน และคิดวกวนถึงเรื่องการประสบความสำเร็จในชีวิต   


ตามทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ บอกไว้ว่าอาการของวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) ที่พบได้มาก มีดังนี้

1. ความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากในชีวิต

เมื่อใช้ชีวิตมาครึ่งหนึ่งแล้วจนมาถึงช่วงวัยที่เรียกว่า “วัยกลางคน” คนเราก็จะมีการทบทวนชีวิต แล้วพบว่าชีวิตที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง จะเกิดความรู้สึกว่าชีวิตขาดความหมาย และกลายเป็นความเศร้า ความท้อแท้ในการใช้ชีวิต

2. เกิดความรู้สึกว่าชีวิตยังดีไม่พอ

เมื่อมีการทบทวนชีวิตแล้วพบว่าชีวิตเรายังไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังของเราเอง ผู้ที่ประสบวิกฤตวัยกลางคนหลายคนก็จะมีการปรับเปลี่ยนชีวิตโดยมุ่งหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำมาซึ่งความสุข ความสำเร็จในชีวิต เช่น หย่าร้าง เปลี่ยนงาน เปลี่ยนรูปแบบการแต่งตัวจากเรียบร้อยเป็นแซ่บซี๊ด เปลี่ยนไลฟ์สไตล์จากเก็บตัวเป็นออกสังคมมากขึ้น เป็นต้น

3. วิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดและทัศนคติที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบวิกฤตวัยกลางคนแล้ว ตามทฤษฎีจิตวิทยายังบอกอีกว่าในช่วงวัยดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างมาก ผมจะเริ่มร่วง น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น กระดูกจะเริ่มเปราะ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะลดลง จากเดิมที่เคยภูมิใจในรูปร่างหน้าตาก็จะภูมิใจน้อยลง จากเดิมที่เคยทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ช้าลง เหนื่อยง่ายมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนโดยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างหน้าตาที่เกิดขึ้น

4. วัยกลับ

และอีกปัญหาที่พบได้มากในผู้ที่ประสบวิกฤตวัยกลางคน ก็คือ เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “วัยกลับ” เกิดขึ้นมาค่ะ เช่น กลับไปแต่งตัวเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง กลับไปใช้ชีวิตเสมือนว่าตนเองยังอายุ 16 – 17 ปีอยู่ ไม่ว่าจะจีบเด็ก มีโลกหลายใบ เที่ยวกลางคืน นั่นเพราะผู้ที่ประสบวิกฤตวัยกลางคนรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาของตนเองแบกรับหลายสิ่งมากจนขาดอิสรภาพในการใช้ชีวิต จึงเกิดพฤติกรรมวัยกลับขึ้นมาเพื่อชดเชยสภาพจิตใจที่เหนื่อยล้านั่นเอง


ซึ่งในปัจจุบันนี้มีงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายงานสะท้อนว่า ผู้คนที่เข้าสู่วัย 40+ ประสบวิกฤตวัยกลางคนกันมากขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้น นั่นเพราะมีปัจจัยกระตุ้นที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

1.) สภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนสูง

เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่แปรผันตามเสถียรภาพทางการเมือง สถานการณ์โรคระบาด ภัยสงคราม หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดมากขึ้น ส่งผลให้คนวัยกลางคนที่เป็นเดอะแบกในการหาเงินมาดูแลครอบครัวต้องรับภาระทางการเงินที่หนักหนาสาหัส และตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประสบวิกฤตวัยกลางคนอย่างรุนแรงได้ 

2.) ปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าช่วงวัยกลางคนเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างมาก ด้วยเหตุนี้โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะมารุมเร้ามากขึ้น ส่งผลให้คนวัยกลางคนมีความเครียดเรื่องสุขภาพกายสูง ซึ่งเป็นผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ตามไปด้วย 

3.) การได้รับความกดดันทางสังคม

ด้วยการที่คนวัยกลางคนเป็นเดอะแบกทางการเงินและแรงงานของโลกใบนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าคนวัยกลางคนเป็นความหวังของหมู่บ้านทั้งด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเป็นกำลังแรงงาน การเป็นเสาหลักของบ้าน นั่นจึงทำให้คนวัยกลางคนได้รับความกดดันทางสังคมสูงมาก 

4.) ความสัมพันธ์ในครอบครัว

วัยกลางคนนอกจากจะเผชิญกับสุขภาพร่างกายที่เสื่อมถอย สุขภาพใจที่เหี่ยวเฉา และยังต้องต่อสู้กับภาระการงาน ภาระการเงินที่แบกเอาไว้เต็มบ่า จึงทำให้ชีวิตของคนวัยกลางคนขาดสมดุลจนไม่มีเวลาให้คนในครอบครัว จึงนำมาซึ่งวิกฤตความสัมพันธ์ในบ้าน ทั้งความขัดแย้งกับคู่สมรส ทั้งการทะเลาะกับลูกที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น และยังต้องรักษาความคาดหวังของพ่อ แม่วัยชรา จึงทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนวัยกลางคนเผชิญกับวิกฤตช่วงวัย 

5.) ความรู้สึกว่าต้องเตรียมตัวเข้าสู่วัยชราที่ยังต้องพึ่งพาตนเอง

จากสถิติประชากรที่มีเด็กเกิดน้อยลง แถมลูก Gen Z ก็อยากจะมีชีวิตเป็นของตนเอง นั่นจึงทำให้คนวัยกลางคนต้องวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำหรับดูแลตนเอง การรักษาพยาบาล การใช้ชีวิต รวมไปถึงอาชีพหลังเกษียณที่อาจจะต้องมีเพราะเงินเก็บไม่เพียงพอใช้จนวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คนวัยกลางคนมีความวิตกกังวลในชีวิตมากพอสมควรเลยทีเดียว


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำ 4 เทคนิคจิตวิทยาในการรับมือกับวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) เอาไว้ ดังนี้ค่ะ

1. เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน

เมื่อเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือไม่มีเงิน ดังนั้นเราจึงต้องเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยการเรียนรู้เรื่องการเก็บเงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากประจำ ออมทอง ซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อคอยด์ต่าง ๆ โดยศึกษาทั้งความเสี่ยง และอัตราตอบแทนที่จะได้รับทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะลงทุน และการลงทุนนี้จะเสริมความมั่นคงทางการเงินให้คนวัยกลางคนในยามเกษียณได้ค่ะ 


2. ดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง

แม้จะเข้าสู่วัย 40+ แต่หลายคนที่ดูแลตัวเองดีก็ยังหน้าดี รูปร่างฟิตเปรี๊ยะ กระฉับกระเฉง สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้นเมื่อเราอายุมากขึ้น เราก็ควรจะดูแลสุขภาพกายและใจของเรามากขึ้นด้วย ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกไปเที่ยวพักผ่อนบ้างเมื่อมีโอกาส และทิ้งเรื่องหนักหัวออกไปบ้าง เพื่อลดความเครียด


3. ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เข้มแข็ง

การสนับสนุนทางสังคม ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสุขภาพจิตที่ดีให้กับคนวัยกลางคน รวมไปถึงยังสามารถช่วยสร้างการตระหนักถึงคุณค่าในตนเองให้กับคนวัยกลางคนได้อีกด้วย ดังนั้นจึงต้องให้เวลากับครอบครัว คนรัก และเพื่อนสนิท เพื่อรักษาสัมพันธภาพทางสังคมเอาไว้


4. พัฒนาตนเองอยู่เสมอ

เนื่องจากมีแนวโน้มสูงว่าแม้คนวัยกลางคนจะเกษียณไปแล้วก็ยังต้องทำงานเพื่อหารายได้ให้เพียงพอ ดังนั้นการพัฒนาตนเองอยู่เสมอและการก้าวทันโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่ปรับตัวคือผู้อยู่รอด หากเราอยากอยู่รอดเราก็ต้องปรับตัว


แม้ว่าวิกฤตวัยกลางคนจะเป็นปัญหาที่มาพร้อมวัยที่เติบโตขึ้น แต่เราก็สามารถแก้ไขและรับมือได้ด้วยเทคนิคทางจิตวิทยาที่ได้แนะนำไปข้างต้น เพื่อให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจมากพอที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างภาคภูมิค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :  1. Gail Sheehy. (August 1976). Passages: Predictable Crises of Adult Life by Gail Sheehy. USA” : Dutton Books.

2. โรงพยาบาลเพชรเวช. (2564). Midlife Crisis วิกฤตวัยกลางคน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2567 จาก https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Midlife-Crisis-Symptoms-in-People-Over-40

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page