top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg
iStrong team

Midlife Crisis ชีวิตเปลี่ยนได้อีกในวัยกลางคน : เรียกคืนความสุข

ภาวะวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) ที่เราพูดคุยกันในสองตอนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพูดถึงอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่พบกับประสบการณ์ Midlife Crisis เช่น รู้สึกหดหู่สิ้นหวังที่ความจริงของชีวิตไม่ได้เป็นไปตามที่เคยฝันไว้ และอายุที่ล่วงเลยทำให้รู้สึกหมดหวังที่จะสมปรารถนาตามที่ฝัน รวมถึงการตระหนักทบทวนชีวิตจากการได้เห็นสภาพร่างกายที่ถดถอยและบรรดาคนรู้จักที่ทยอยจากไปจนเกิดความว้าวุ่นสับสนในใจนั้น ถึงแม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะพบกับประสบการณ์ดังกล่าว หลายคนอาจโต้แย้งว่าพวกเขาสามารถผ่านพ้นช่วงวัยกลางคนไปได้โดยไม่มีอาการที่ว่านี้เลย แต่สิ่งที่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งคือ สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะสับสนทางอารมณ์จากวิกฤตวัยกลางคนจนถึงจุดหนึ่งนั้น สุขภาพจิตจะถูกรบกวนจนถึงขั้นอาจทำให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปได้



คำถามคือหากเรารู้สึกว่าเป็นคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตวัยกลางคน เราจะทำอย่างไร?


ดังที่ทราบกันว่าสาเหตุของ Midlife Crisis นั้นมีหลายอย่าง เช่น สุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรม การทบทวนและพบว่างานที่ทำมาตลอดไม่ตอบสนองเป้าหมายชีวิต ไม่มีความสุขกับชีวิตครอบครัว หรือการสูญเสียคนที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา ดังนั้น วิธีการที่อาจจะสามารถบรรเทาความรุนแรงของภาวะวิกฤตวัยกลางคนจึงควรเป็นการดูแลตั้งแต่ปลายเหตุและต้นเหตุควบคู่กันไป


ในส่วนของการดูแลตัวเองที่ปลายเหตุมีอะไรบ้าง?

  • “ระบายออกไป” : หากเป็นไปได้ ควรหาทางระบายความรู้สึกในเรื่องนี้ให้บุคคลที่เราไว้ใจและเป็นผู้ฟังที่ดีได้ฟัง อาจจะเป็นญาติ เพื่อน หรือแม้แต่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ จริงอยู่ การระบายให้ผู้อื่นที่ไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกับเราได้ฟังอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ ได้ แต่การที่เราได้ถ่ายเทความรู้สึกนั้นออกไปจากตัวบ้าง โดยเฉพาะการมีคนรับฟังแม้ไม่อาจเข้าใจเราได้ทั้งหมดย่อมดีกว่าการเก็บความรู้สึกทั้งหลายไว้กับตัวเองอย่างแน่นอน

  • “เรียบเรียงความรู้สึก” : นอกจากการมีใครสักคนรับฟังแล้ว การลงมือเขียนความรู้สึกของตัวเองลงไป อาจจะเป็นสมุดบันทึกหรือกระดาษโน้ต ไม่สำคัญว่าจะเป็นความรู้สึกแบบไหน การเขียนบันทึกว่าขณะนี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่บ้างจะช่วยทำให้เกิดการเรียบเรียงและทำความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ ปัญหาของเราคืออะไร และประเมินความหนักเบาของสถานการณ์ได้ก่อนตัดสินใจพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

  • “ฝึกการผ่อนคลาย” : ยอมรับเสียก่อนว่าตอนนี้เรากำลังมีความเครียด สับสน เหนื่อยล้า จากนั้นให้ใช้วิธีผ่อนคลายที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจวางสิ่งที่ทำให้เครียดลงก่อนแล้วหันไปทำงานอดิเรกที่คุ้นเคย หรือบางคนอาจจะกลับด้านกันคือหันไปทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยดูบ้าง เช่นหากทำงานนั่งโต๊ะทั้งวันก็มีช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวมาก ๆ อย่างขี่จักรยาน วิ่งทางไกล หรือเต้นแอโรบิก ในขณะที่คนทำงานกลางแจ้งหรืองานที่เคลื่อนไหวมาแล้วทั้งวันก็อาจจะผ่อนคลายด้วยการเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวน้อยลงบ้าง เช่น โยคะ ทำสมาธิ ฟังเพลง

ในเรื่องของการรับมือกับภาวะทางอารมณ์ที่ปลายเหตุนั้น อย่าลืมว่าการพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหรือบ่งบอกว่าเรากำลังอ่อนแอ สภาวะจิตใจก็เหมือนกับสภาวะร่างกาย ถ้าหากเจ็บป่วยหรือเปลี่ยนไปจากปกติจนเรารู้สึกได้ก็เป็นเรื่องปกติที่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม เป็นสิทธิของคนทุกเชื้อชาติที่จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


สำหรับการดูแลตัวเองที่ต้นเหตุเพื่อรับมือกับภาวะอารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นในวัยกลางคนนั้น ควรเน้นที่การสร้างความมั่นคงทางจิตใจเพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและสามารถตั้งสติได้ โดยอาจใช้วิธีการดังนี้

  • “พักผ่อนให้เพียงพอ” : การโหมทำงานหนักอย่างต่อเนื่องจนร่างกายและจิตใจอ่อนล้า การนอนดึก มีเวลาพักผ่อนนอนหลับน้อยมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับสภาวะอารมณ์ ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตแย่กว่าคนทั่วไป ซึ่งส่งผลให้การรับมือกับภาวะอารมณ์ในวัยกลางคนย่ำแย่ลงไปด้วย จึงจำเป็นอย่างมากที่ในแต่ละวันเราควรมีช่วงเวลานอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง หรือหากนอนไม่หลับก็ไม่ควรลุกไปทำสิ่งอื่น ให้เอนหลังนอนพักที่เตียง นึกทบทวนในเรื่องที่มีความสุข อาจจะเป็นความสุขในอดีตหรือสิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าจะทำให้เรามีความสุขก็ได้ และงดการใช้อุปกรณ์สื่อสารก่อนนอน

  • “เริ่มออกกำลังดูบ้าง” : สุขภาพจิตที่ดีส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดจากร่างกายที่แข็งแรง หากร่างกายเสื่อมโทรมเร็วกว่าวัย ทั้งออฟฟิศซินโดรม น้ำหนักเกิน ขยับตรงไหนก็ปวดไปหมด วันหยุดหรือวันทำงานต้องลางานไปหาหมอบ่อย ๆ ก็เป็นเรื่องยากที่จิตใจจะเป็นสุขได้ หลายคนที่ห่างหายจากการออกกำลังไปนานอาจจะเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ และเพลิดเพลิน เช่น เดินเร็วไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือขี่จักรยานในละแวกบ้าน เต้นแอโรบิคเบา ๆ ตามยูทูปซึ่งมีรูปแบบให้เลือกมากมาย

  • “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” : นำความเบื่อตัวเองคนเก่าและอยากเปลี่ยนแปลงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ยังคงทำงานหลักแบบเดิมเพื่อให้มีรายได้ แต่เพิ่มงานที่ชอบเข้าไปเป็นอาชีพเสริมควบคู่กัน หรือออกไปลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น เรียนภาษาต่างประเทศเพิ่ม ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ ๆ แบบวางแผนด้วยตัวเอง ฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่มีให้เลือกมากมาย ร่วมกิจกรรมการกุศลในชุมชนโดยไม่รับสิ่งตอบแทน เราอาจค้นพบสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและทำให้ชีวิตมีความหมายได้มากขึ้น

  • “ดูแลจิตใจตัวเอง” : หลายครั้งที่สภาวะอารมณ์ของเราอ่อนไหวจากการคิดต่อเติมในสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน แน่นอนว่าเราคงห้ามเหตุการณ์ภายนอกไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมจิตใจของเราไม่ให้ไหวเอนตามเรื่องต่าง ๆ มากจนเกินพอดี เช่น การแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินคำพูดที่ไม่พึงประสงค์บ้าง ลดความอยากรู้เรื่องราวของผู้อื่นเพื่อลดการเปรียบเทียบลง มองข้ามในเรื่องที่ไม่พึงประสงค์บางเรื่องบ้าง มองข้อดีและขอบคุณในสิ่งที่ตัวเองมีแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อย และเชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีจุดที่ตัวเองมีความสุขแตกต่างกัน


ในวัยกลางคนที่เป็นช่วงอายุรอยต่อระหว่างวัยทำงานที่มีพลังและวัยสูงอายุที่มีประสบการณ์ การผ่านช่วงรอยต่อแห่งวัยนี้ไปได้นับว่าเป็นความท้าทายไม่น้อยไปกว่าช่วงวัยรุ่นเลยทีเดียว หลายคนสามารถพลิกช่วงเวลานี้เองเป็นช่วงของการตกผลึกและ “เริ่มต้นใหม่” ให้กับชีวิต จนพบเส้นทางใหม่ที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจในชีวิตมากขึ้นได้ การผ่านร้อนหนาวและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตมาแล้วนั่นเองที่อาจเป็นข้อได้เปรียบให้เราสามารถประคับประคองตัวเองผ่านช่วงเวลานี้ได้และพบรูปแบบชีวิตที่ผ่อนคลาย ได้เป็นตัวของตัวเอง และมีคุณภาพชีวิตที่น่าพอใจได้ในที่สุด

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

**ท่านที่สนใจสามารถอ่านงานวิจัยและบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่


https://en.wikipedia.org/wiki/Midlife_crisis

Susan Krauss Whitbourne Ph.D. (2015), Worried About a Midlife Crisis? Don't. There's No Such Thing.


https://www.psychologytoday.com/us/blog/fulfillment-any-age/201507/worried-about-midlife-crisis-dont-theres-no-such-thing


Jett Psaris, PhD (2017), Hidden Blessings (Midlife Crisis as a spiritual awakening)

 

ผู้เขียน

ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

วิทยากรฝึกอบรมและ HRD Specialist

MSc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page