top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg
iStrong team

Midlife Crisis ชีวิตเปลี่ยนได้อีกในวัยกลางคน : อาการและความแตกต่างจาก Burnout และ Brownout

ในบทความที่แล้วเราได้ทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ หรือ ‘Midlife Crisis’ กันไปแล้ว และรู้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่พบได้ในประชากรทั้งชายและหญิง สามารถพบได้ทั่วไปในประชากรประเทศต่าง ๆ ในช่วงอายุประมาณ 40-50 ปีซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของวัยทำงานตอนกลางกับวัยใกล้เกษียณ ซึ่งความสับสนและความเครียดในวัยดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตไม่น้อย



แม้ว่าจะไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนแล้วจะต้องพบกับประสบการณ์นี้แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในภาวะที่ทำให้คุณภาพชีวิตของใครหลายคนถดถอย หลายครั้งความเครียดที่สะสมในวัยนี้อาจส่งผลให้เกิดการตัดสินใจด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น เช่น การลาออก การเปลี่ยนงาน การหย่าร้าง การหลีกหนีสังคม จึงจัดได้ว่าเป็นสภาวะทางจิตวิทยาที่ไม่พึงประสงค์นัก แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสภาพที่เราเผชิญอยู่คือ Midlife Crisis หรือไม่ ?


วันนี้เรามาดูสัญญาณอาการที่บ่งบอกว่าเราอาจจะกำลังพบกับประสบการณ์ ‘Midlife Crisis’ กันว่าคุณเคยรู้สึกว่าตัวเองมีอาการแบบที่ว่านี้บ่อยแค่ไหน

  • รู้สึกว่าพลังชีวิตถดถอย รู้สึกเหนื่อยหน่าย เฉื่อยชา สนใจสิ่งรอบข้างน้อยลง

  • พบกับประสบการณ์การสูญเสียและความผิดหวังจนนำไปสู่การคิดทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการในชีวิต ตอนนี้ชีวิตเราดำเนินมาถึงจุดไหนแล้ว มีความสุขกับมันหรือไม่

  • รู้สึกสับสนกับเป้าหมายของชีวิต ไม่รู้ว่าทิศทางของชีวิตกับสิ่งที่ทำอยู่จะนำไปสู่เป้าหมายความสุขที่ต้องการหรือไม่

  • หงุดหงิดง่าย รู้สึกเบื่อหน่ายตัวเองและคนรอบข้าง

  • วิตกกังวลเกี่ยวกับอายุที่มากขึ้น และรู้สึกว่าวัยชรากับจุดสิ้นสุดของชีวิตอยู่ในอนาคตอีกไม่ไกลแล้ว

  • วิตกกังวลเมื่อพบว่ารูปลักษณ์หรือสุขภาพของตัวเองมีความร่วงโรยมากขึ้น มีเรี่ยวแรงและความคล่องตัวลดลง

  • อยากย้อนเวลากลับไปในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีกำลังวังชา มีสังคม มีความเบิกบานและมีความหวังมากกว่าในปัจจุบัน

  • ทำสิ่งต่างๆด้วยความหุนหันพลันแล่นมากขึ้น ใช้อารมณ์ตัดสินใจมากกว่าเหตุผล

  • ในบางรายอาจพบกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น กินน้อย เบื่ออาหาร หรือในทางตรงกันข้ามคือกินมากขึ้น อยากกินเพื่อให้ลืมความทุกข์ความวิตกกังวล และมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงผิดปกติ

  • ยังรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่สมหวังตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

  • คิดวนเวียนในเรื่องที่ไม่สมหวังในชีวิต รวมถึงเปรียบเทียบกับคนอื่นในวัยเดียวกันที่ประสบความสำเร็จมากกว่า

  • ความรู้สึกภูมิใจในตัวเองลดลง คิดว่าชีวิตเราไม่มีคุณค่าหรือมีคุณค่าน้อย

  • รู้สึกท้อแท้ หมดหวังกับชีวิต

  • อยากเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในชีวิต เช่น อาชีพ ความชอบ รสนิยม สังคม ถิ่นที่อยู่อาศัย ไปจนถึงคู่ชีวิต

อาการเหล่านี้เป็นเพียงแนวโน้มที่อาจจะพยากรณ์ได้ว่าคุณกำลังพบกับวิกฤตวัยกลางคนอยู่หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนวัยกลางคนทุกคนจะต้องพบกับวิกฤตทางด้านจิตใจหรือมีอาการดังกล่าวที่ว่านี้ หลายคนอาจจะสามารถผ่านช่วงวัยนี้ไปได้โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ หรือถึงหากพบอาการดังกล่าวก็สามารถประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้สำเร็จ มีเพียงบางอาการที่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาทันที เช่น

  • ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันตามที่เคยทำได้เป็นปกติ

  • มีความเครียดจนส่งผลต่อสัมพันธภาพในครอบครัว กับคู่สมรส และบุตร

  • เกิดภาวะซึมเศร้า อยากแยกตัวอยู่คนเดียวตลอดเวลา โทษตัวเองซ้ำ ๆ คิดลบเกี่ยวกับตัวเองอย่างต่อเนื่อง

หลายคนอาจสับสนว่ากลุ่มอาการที่บ่งบอกว่าเราอาจกำลังเผชิญกับ Midlife Crisis นั้นเหมือนหรือต่างจากสภาวะ Burn Out , Brown Out อย่างไร คำจำกัดความอย่างกระชับที่แสดงความแตกต่างอาจระบุได้ดังนี้


  • Burnout เป็นสภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่เกิดจากการตรากตรำทำงานหนักต่อเนื่องและพักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดความเครียดสะสมเข้ามาทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น รู้สึกเหนื่อยแม้ว่าจะยังไม่ได้เริ่มลงมือทำงาน สมาธิและความกระตือรือร้นในงานหายไป กลายเป็นวงจรชีวิตที่ไม่อยากมาทำงาน หดหู่ เฉยชาต่อทุกสิ่ง

  • Brownout เป็นสภาวะหมดใจในการทำงาน เกิดจากการไม่พอใจคนหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ ทำให้พนักงานแม้จะมีความสามารถและยังมีไฟอยู่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง เบื่อหน่าย มีปฏิสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานหรือกิจกรรมขององค์กรลดลง และอาจลาออกไปทำงานที่อื่นที่คิดว่าดีกว่า

  • Midlife Crisis เป็นสภาวะเครียดและสับสนเมื่อพบว่าความฝันกับความจริงในชีวิตของตัวเองแตกต่างกันมาก และการที่ชีวิตดำเนินมาถึงวัยกลางคนทำให้รู้สึกหมดหวังที่จะแก้ไขสิ่งต่าง ๆ แล้ว ไม่รู้ว่าชีวิตหลังจากนี้เราจะทำอย่างไร


อาการที่ไม่พึงประสงค์ทั้งสามชนิดนี้มีทั้งจุดที่คล้ายคลึงกัน มีสาเหตุร่วมกัน และบางจุดที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นอาการใดในสามข้อนี้ หากถูกปล่อยทิ้งไว้จนรบกวนชีวิตของเราอย่างเรื้อรังก็อาจนำไปสู่ปลายทางเดียวกันได้คือภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตถดถอย ความเข้าใจและการจัดการอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งตัวบุคคล นายจ้าง และครอบครัวจะต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือการ ‘คิดไปเอง’ ของบุคคลคนนั้น เพื่อที่จะได้ร่วมกันจัดการสภาวะไม่พึงประสงค์นี้


ในบทความถัดไปซึ่งเป็นบทสุดท้ายเราจะพูดคุยถึงแนวทางการป้องกันและดูแลตัวเองในช่วงที่เกิด Midlife Crisis เพื่อให้ภาวะไม่พึงประสงค์ทางจิตใจดังกล่าวส่งผลรบกวนชีวิตให้น้อยที่สุด และทำให้เราสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่สำคัญนี้ไปได้อย่างราบรื่นครับ



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ผู้เขียน

ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

วิทยากรฝึกอบรมและ HRD Specialist

MSc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page