จะฟื้นฟูสภาพจิตใจยังไง หลังจากพังทลายเพราะถูกหลอกโกงเงิน
ทำไมบางคนถึงถูกหลอกโกงเงินหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ?
สำหรับคนที่ไม่เคยถูกหลอกอาจจะมีคำถามว่าอะไรที่ทำให้บางคนถูกหลอกทั้งที่มันดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ในความจริงแล้วการถูกหลอกในลักษณะนี้มันไม่เข้าใครออกใครแต่จะมีกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการถูกหลอกได้ง่ายกว่า โดยจากข้อมูลของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าคนที่เสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมักมีลักษณะ ได้แก่
1. มีนิสัยและพฤติกรรมชอบความเสี่ยง
บุคคลที่มีนิสัยกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ และรับความเสี่ยงจะมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอของผู้หลอกลวงมากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ชอบความเสี่ยงเพราะไม่ได้ใส่ใจกับการประเมินความเสี่ยงต่อข้อเสนอแต่ไปโฟกัสกับรางวัลผลตอบแทนมากกว่า
2. ระดับการควบคุมตัวเอง (self-control) น้อย
บุคคลที่มีความบกพร่องในการควบคุมตนเองมักไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจลงทุนหรือโอนเงินแบบหุนหันพลันแล่นได้ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หลอกลวงใช้กลยุทธ์การจำกัดเวลาหรือจำกัดจำนวนรางวัลตอบแทนเพื่อโน้มน้าวและชักใยทางอารมณ์
3. ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง (emotional competence) น้อย
บุคคลที่มีทักษะจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองน้อยจะมีความสามารถในการไตร่ตรองข้อมูลลดลง และอาจตัดสินใจทางการเงินโดยใช้อารมณ์ชั่วขณะ จึงมีแนวโน้มตอบรับขอเสนอการล่อลวงทรัพย์สินมากกว่าบุคคลที่กำกับอารมณ์ตนเองได้ดี
จะฟื้นฟูสภาพจิตใจยังไงเมื่อถูกหลอกโกงเงินไปแล้ว?
แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือการแก้ไขปัญหาด้วยข้อกฎหมาย แต่เบื้องหลังของการที่จะมูฟออนไปได้โดยเฉพาะในกรณีที่เสียหายแบบหมดเนื้อหมดตัวก็คือสภาพจิตใจที่ยังไหวอยู่ การฟื้นฟูสภาพจิตใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะการถูกหลอกโกงเงินไปมักจะทำให้เกิดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจขึ้นตามมา เช่น
วิตกกังวล
อับอายหรือขายหน้า
รู้สึกผิด
โกรธ
ซึมเศร้า
กลัว
สูญเสียความรู้สึกเชื่อใจคนอื่น
สูญเสียความรู้สึกมั่นคง
เศร้าโศก
เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียที่มากไปกว่าเงินก็คือ “ชีวิต” คนที่ถูกหลอกโกงเงินจึงควรทำการฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยมีแนวทาง ดังนี้
1. ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น
ลองสำรวจว่าจากอารมณ์ที่ผู้เขียนลิสต์ไว้ด้านบน มีอารมณ์ไหนที่ตรงกับตัวเองบ้าง อารมณ์เหล่านั้นล้วนเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่ผ่านการสูญเสียซึ่งระยะเวลาที่มีอารมณ์เหล่านั้นจะสั้นยาวแล้วแต่บุคคลแต่อารมณ์เหล่านั้นมันจะไม่คงอยู่อย่างถาวร การพยายามหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธอารมณ์เหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไร ตรงกันข้าม การยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการช่วยลดความเข้มข้นของอารมณ์ให้เบาบางลงได้
2. มองหาความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือเพื่อนที่ช่วยคุณได้
แต่หากคุณอยู่กับใครแล้วรู้สึกแย่ลงก็ควรที่จะปลีกหัวออกห่างมาจากคนเหล่านั้นก่อน ลองสำรวจใจตัวเองว่าเมื่อได้อยู่กับคนที่ให้การรับฟังและให้ความช่วยเหลือแล้วคุณเป็นยังไงบ้าง และพยายามเลือกอยู่กับคนที่ช่วยให้คุณดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง
3. ดูแลตัวเอง
ใช้เทคนิค self-care ต่าง ๆ เพื่อดูแลร่างกายจิตใจของตัวเอง
4. สังเกตและปรับเปลี่ยนความคิดของตนเอง
ความคิดของคุณจะส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคุณ หากคุณคิดวกวนจมอยู่กับเรื่องราวเลวร้ายที่มันเกิดขึ้นและพูดกับตัวเองในทางลบบ่อย ๆ คุณก็จะรู้สึกแย่ ดังนั้นแทนที่จะโฟกัสกับอดีตที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว คุณควรหันไปคิดว่าคุณทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหาจะดีต่อตัวเองมากกว่า
5. ขอความช่วยเหลือ
คุณอาจจะคิดว่าตัวเอง “ควร” จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนย่อมมีจุดที่ก็ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง โดยในเบื้องต้นอาจจะลองขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ดูก่อน แต่ถ้าคุณยังคงไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ เริ่มจะควบคุมตัวเองได้น้อยลงก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรง
นอกจากนั้น คนรอบข้างก็มีส่วนเป็นอย่างมาก การลดความเสี่ยงที่ผู้เสียหายจะเกิดพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือเลือกที่จะจบชีวิตลงก็คือ การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิ ไม่ซ้ำเติม หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ เช่น “ทำไมถึงโง่ได้ขนาดนั้น” แต่ควรจะชวนให้ผู้เสียหายเกิดความรู้สึกให้อภัยตัวเอง ไม่โทษตัวเอง ไม่ตอกย้ำว่าเขาเป็นคนโง่
แต่ควรให้กำลังใจว่าเขาจะสามารถผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ในที่สุด และชวนกันโฟกัสที่ทางออกว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สถานการณ์มันดีขึ้น หากปัญหามันมีหลายอย่างและมันเป็นปัญหาที่ใหญ่ก็ชวนกันแตกปัญหาออกมาให้มันเล็กลงแล้วค่อย ๆ แก้ไขไปทีละอย่าง โดยไม่ลืมที่จะดูแลสภาพจิตใจควบคู่กันไปด้วยเสมอ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] จิตวิทยาของการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ (Victim of scams). Retrieved from https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/victim-of-scams/
[2] The Emotional Impact of Fraud and Scams). Retrieved from https://www.lifepathscounseling.com/emotional-support-fraud-scams/
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
コメント