อย่ากลับบ้าน!: 6 ข้อคิดและวิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ผู้แบกโลก
ซีรี่ย์ที่มาแรงและถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ตอนนี้ ต้องยกให้กับ “อย่ากลับบ้าน” ทาง Netflix ที่โปรโมตด้วยการเป็นซีรี่ย์ผี แต่สับขาหลอกคนดูด้วยการเป็นซีรี่ย์ไซไฟที่แฝงสัญญะความเป็นแม่และการเมือง ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะข้อนำประเด็นการพูดถึง “แม่” ที่เล่าผ่านซีรี่ย์ “อย่ากลับบ้าน” มาขยายความเป็น 6 ข้อคิดจิตวิทยาและวิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ผู้แบกโลก เพื่อดูแลสุขภาพจิตของแม่ และผู้ที่ทำหน้าที่แม่ทุกคน ให้ผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้นกันนะคะ
ก่อนเป็นแม่
ถึงแม้ว่า “อย่ากลับบ้าน” จะไม่ได้เล่าให้เราเห็นตรง ๆ ว่า ก่อนเป็นแม่ “พนิดา” และ “ฟ้า” มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร แต่เราก็พอจะคาดเดาจากบุคลิกได้ว่า ก่อนเป็นแม่ ทั้งสามตัวละครหลักต่างก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามรูปแบบชีวิตของตน
โดย “วารี” มีอาชีพเป็นนักข่าว เป็นหญิงสาวอ่อนหวาน ที่แม่ทะนุถนอม จนพบรักกับทหารหนุ่ม และสร้างครอบครัวด้วยกัน
ทางด้าน “ฟ้า” ตำรวจหญิงไฟแรง มีความห้าว ความดุดัน ผู้มุ่งมั่นที่จะทำงานของตนให้ออกมาดีที่สุด แต่ก็ดันไปรักกับคนที่ไม่ควรรัก จนตั้งครรภ์ และ “พนิดา” Working Woman ของแท้ ที่เก่ง ขยัน ทุ่มเทให้กับงาน ชนิดที่ว่างานมาก่อนทุกสิ่ง
เมื่อต้องกลายเป็นแม่ผู้แบกโลก
ภาวการณ์เป็น “แม่” ของทั้งสามตัวละครถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนผ่าน “อย่ากลับบ้าน” ที่ทำให้เราเข้าใจ และรับรู้ได้ว่า “แม่” คือภาระที่หนักที่สุดในโลก
เริ่มจากตัวละครหลัก “วารี” เมื่อเธอตั้งครรภ์ เธอก็เริ่มถูกสามีทำร้ายร่างกาย และหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อลูกคลอดออกมา แต่เธอก็ยังฟูมฟัก เลี้ยงดูลูกสาว “น้องมิน” ด้วยความทุถนอมมาอย่างดี ถึงแม้จะหวาดกลัวสามี แต่เมื่อคิดถึงความปลอดภัยของลูก เธอก็ตัดสินใจพาลูกหนีแบบ “ไปตายเอาดาบหน้า” ทิ้งทุกอย่างที่เธอมี ยอมมาอยู่บ้านหลังเก่า ห่างไกลผู้คน เพื่อหวังจะสร้างชีวิตใหม่กับลูกสาวสุดที่รักของเธอ
“ฟ้า” เมื่อตั้งครรภ์กับคนที่ไม่สามารถมาเป็นสามีที่ถูกต้องตามกฎหมายของเธอได้ เธอก็เลือกที่จะเก็บลูกไว้ และยังคงทำงานเป็นตำรวจสาบสืบต่อไป แม้ว่าจะถูกกดดันจากสังคมเป็นอย่างมาก แต่เธอก็พยายามไม่สนใจแรงกระทบกระแทกเหล่านั้น และพยายามรักษาหน้าที่การงานของเธอไปพร้อม ๆ กับดูแลลูกที่กำลังเติบโตในครรภ์
ทางด้าน “พนิดา” กลับประสบปัญหา Work ไร้ Balance เมื่องานคุกคามชีวิตครอบครัวของเธอ จนเธอไม่มีเวลาให้ลูก และเริ่มทะเลาะกับสามี ซึ่งนำไปสู่ชีวิตที่ทนทุกข์ของเธอ เมื่อเธอกลายเป็นแม่ผู้สูญเสีย เธอก็เฝ้าโทษตัวเอง เธอจึงพยายามจะทำทุกทางเพื่อแก้ไขอดีต แต่กลับกลายเป็นว่าเธอได้มีโอกาสที่สองโดยไม่ตั้งใจ และเธอก็ทำทุกอย่างเพื่อให้การเป็นแม่ของเธอสมบูรณ์แบบที่สุด
6 ข้อคิดจิตวิทยาและวิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ผู้แบกโลก
จากเรื่องราว “ความเป็นแม่” ของสามตัวละครหลักจากเรื่อง “อย่ากลับบ้าน” สามารถสรุปเป็น 6 ข้อคิดจิตวิทยาและวิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ผู้แบกโลก ได้ดังนี้ค่ะ
ให้เวลากับลูกแล้ว อย่าลืมให้เวลากับตัวเองบ้าง
“แม่” เป็นงานที่ต้องทำ 24 ชั่วโม3 7 วันต่อสัปดาห์ 365 วันต่อปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อพอมีเวลา เช่น ลูกไปโรงเรียน ลูกนอนหลับ หรือมีคนมาช่วยดูแล แม่เองก็ควรจะให้เวลากับตัวเองได้ทำกิจกรรมที่เติมชีวิตชีวา เติมไฟให้ชีวิต ได้ชาร์ตแบตให้ตัวเองบ้าง เพราะหากฝืนเลี้ยงลูกคนเดียวนาน ๆ จะเกิดความเครียดสะสม จนกลายเป็น Parental burnout และเสียสุขภาพจิตได้
การรักษาสมดุลชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
ประเด็นนี้ถูกเล่าผ่านชีวิตของ “พนิดา” แม่ผู้บ้างานจนลืมลูก และเกิดปัญหากับสามี ซึ่งเป็นข้อคิดที่ดีให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาชีวิตส่วนตัวควบคู่ไปกับการรับผิดชอบเรื่องงาน เพราะเราทุกคนย่อมไม่สามารถสวมหน้ากากที่เรียกว่า “ตำแหน่ง” ได้ตลอดเวลา เมื่อออกจากงานเราก็กลายเป็นคนธรรมดา เมื่อกลับบ้านเราเป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนรัก เป็นทาสแมว และมีอีกหลายบทบาทให้เราได้เป็น เราจึงควรรักษาสมดุลให้ดี เพื่อให้ชีวิตไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ไม่ใจร้ายกับตัวเองจนเกินไป
การสื่อสารเป็นหัวใจหลักในการรักษาครอบครัว
จะเห็นได้ว่าใน “อย่ากลับบ้าน” ตัวละครหลักของเรามีปัญหากับคนในครอบครัว เพราะ “ขาดการสื่อสารกัน” โดย “วารี” ขาดการสื่อสารเชิงบวกกับสามี และสามีเองก็ไม่รับฟังภรรยา จนเกิดเป็นความรุนแรงในครอบครัว ฝ่าย “ฟ้า” ก็ขาดการสื่อสารที่ชัดเจนและซื่อตรงกับความรู้สึกกับพ่อ ฟ้ารักพ่อ แต่ไม่เคยอธิบายการกระทำของตนเอง และมักจะประชดพ่อ หรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับพ่อ รวมถึงไม่เปิดใจที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับผู้กองเต้ เพื่อนสนิทที่คิดไม่ซื่อ จนทำให้เธอผิดใจกับพ่อ และปิดใจกับผู้กองเต้ และสำหรับ “พนิดา” แม้ว่าในโลกของการทำงาน เธอสื่อสารเรื่องงานได้ดีมาก แต่กับโลกของครอบครัว เธอล้มเหลวด้านการสื่อสารอย่างสิ้นเชิง เธอไม่ให้เวลาในการสื่อสารกับลูก ใช้อารมณ์เชิงลบกับสามี เมื่อมีเวลาร่วมกับครอบครัว ก็ยังไม่ปล่อยวางเรื่องงาน จนก่อให้เกิดความทุกข์ใจตามมา
อย่าแบกทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ด้วยความเป็น “แม่” เรามักจะลืมตัวและเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับลูกเรา หรือครอบครัวของเรา ล้วนเป็นภาระหน้าที่ของเรา และเมื่อเกิดเหตุบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อุบัติเหตุ สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ใดก็ตามที่ส่งผลต่อชีวิตคนในครอบครัว เราก็มักจะอดที่จะโทษตัวเองไม่ได้ว่า “ถ้าฉัน...คงไม่เกิดเรื่องแบบนี้” ซึ่งเมื่อมองตามความเป็นจริงแล้ว เรื่องเหล่านั้นไม่ได้เกิดมาจากเรา แต่เมื่อเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อคนในครอบครัว สิ่งที่เราทำได้คือ ดูแล แก้ไข และอยู่เคียงข้างกันจนพ้นวิกฤต
ปรับตัวไว ใจเป็นสุข
ด้วยความที่โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับความเป็นอยู่ของ “แม่” และคนในครอบครัว เช่น สามีตกงาน ลูกมีค่านิยมที่เราตามไม่ทัน เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้ว หากสิ่งใดที่เกินควบคุม อย่าโทษตัวเอง แต่ต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ เพื่อรักษาสุขภาพจิตของเราเองและคนในครอบครัวให้ปกติสุข เมื่อใจเป็นสุข มันจะมีแรงฮึด มีแรงสู้ และจับมือกันไปต่อในนามของครอบครัวได้
ดื่มด่ำกับปัจจุบันขณะ
ด้วยความที่เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไข หรือเริ่มใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นเราจะเกิดภาวะโทษตัวเองไม่จบสิ้น ดังที่ “พนิดา” ต้องทนทุกข์ ขอให้รู้ตัวว่าปัจจุบันเรามีหน้าที่อะไร ต้องทำอะไร มีบทบาทอย่างไร หากอยู่ในเวลางานก็ทำงานให้เต็มที่ แต่เมื่อนอกเวลางาน กลับบ้านมาเป็นแม่ที่ใจดีของลูก เป็นภรรยาที่อยู่เคียงข้างคู่ชีวิต เป็นตัวเองที่รักตัวเอง ใจดีกับตัวเอง เพื่อสุขภาพจิตและชีวิตที่ดีของตัวเราเอง
Carrie Mullins ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา กล่าวว่า “ความวิตกกังวลและความรู้สึกเหนื่อยล้าของแม่ จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะส่งผลถึงพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูก” ดังนั้นแล้ว หากรักลูก ต้องการให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดี แม่ต้องดูแลตัวเองให้มีความสุขก่อนนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 1.5 แนวทางสนับสนุนในการลดความเครียดแก่พ่อ แม่ในการเลี้ยงลูก
อ้างอิง : Mullins, C. (2024). The book of mothers: How literature can help us reinvent modern motherhood. New York, NY: Publisher.
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Commenti