top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เทคนิคจิตวิทยาในการดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วย Covid – 19 ให้แข็งแกร่ง



เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาลและศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ประจำวันยอดผู้ป่วย Covid – 19 รายใหม่ พบผู้ติดเชื้อรวม 23,557 ราย ทางด้านกรมควบคุมโรครายงานผลตรวจ ATK พบผู้เข้าข่ายเพิ่มอีก 22,240 ราย นั่นหมายความว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ป่วย Covid – 19 โดยประมาณอยู่ที่ 45,797 ราย ซึ่งดิฉันเองพร้อมสมาชิกครอบครัว ก็ได้กลายเป็นผู้ป่วย Covid – 19 เพิ่งออกจาก Hospitel เมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว สังเกตเห็นว่าเราจะมีความเครียดอยู่ 3 ระยะ ที่สั่นคลอนสุขภาพจิตของเรา ก็คือ


  • ระยะที่ 1 ความเครียดในช่วงรอฟังผลตรวจ Covid – 19

โดยขอยกให้ความเครียดในช่วงนี้ เป็นความเครียดที่ทำร้ายสุขภาพจิตที่สุดค่ะ เพราะมันจะเกิดความวิตกกังวลหลายสิ่ง ทั้งเรื่องความปลอดภัยของคนในบ้าน ว่าถ้าเราติด คนในบ้านจะติดไปกับเราไหม ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว อย่างเช่นดิฉัน จะกังวลมากว่าใครจะดูแลลูกให้เราเป็นเวลาตั้ง 10 วัน ทั้งเรื่องงานที่ค้างคา และเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งหากกรมสุขภาพจิต จัดนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ หรือทางออนไลน์ให้แก่ผู้รอผลตรวจในช่วงนี้ด้วยจะดีมากเลยค่ะ


  • ระยะที่ 2 ความเครียดช่วงรักษาตัว

เป็นความเครียดที่เบาที่สุดใน 3 ระยะ สำหรับตัวดิฉันเอง เพราะเป็นระยะที่มีความชัดเจนว่าตกลงเราเป็นผู้ป่วย Covid -19 และมีใครในครอบครัวติดไปกับเราบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด ก็คือ ความเป็นห่วงคนในครอบครัวค่ะทั้งที่ติดเชื้อรักษาอยู่กับเรา ติดเชื้อรักษาต่างสถานที่ หรือยังไม่ติดเชื้อก็ตาม แต่สำหรับบางท่านที่มีอาการแทรกซ้อน หรืออาการหนัก ช่วงนี้ก็จัดว่าเป็นช่วงวิกฤตต่อสุขภาพจิตที่สุดเหมือนกันนะคะ ดังนั้นนอกจากการดูแลสุขภาพการโดยทีมแพทย์แล้ว เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพใจโดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาด้วยเช่นกัน


  • ระยะที่ 3 ความเครียดเมื่อกลับมาใช้ชีวิตปกติ

เมื่อเรารักษาตัวครบกำหนดและกลับมาสู่โลกความจริง ก็จะแบ่งผู้ที่เคยติดเชื้อออกเป็น 2 แบบ ค่ะ คือคนที่หายดี กับคนที่เจอภาวะ Long Covid สำหรับคนที่หายดีนั้น ก็จะกลับมาเจอความเครียดประจำวันเหมือนเดิมที่เคยเจอ เช่น ความเครียดจากภาระงาน ความเครียดเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ที่เพิ่มเติมคือความเครียด ที่เกิดจากการรับแรงต้านของคนในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ไม่ได้สนิทกับเรามาก เช่น ป้าข้างบ้าน คุณพี่แผนกข้างเคียง ที่จะแวะเวียนมาถามเราว่า “ติดจากใคร?” “ติดจากไหน?” “ติดมาได้อย่างไร?” เราก็จะมีความในใจเป็นหมื่นล้านคำ ตอบกลับไปได้แค่ยิ้มแห้ง ๆ ส่วนคนที่เกิดภาวะ Long Covid ก็จะเผชิญความเครียดอีกรูปแบบหนึ่งที่รุนแรงกว่ามาก เพราะสภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม ทำให้ใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม เหนื่อยง่ายกว่าเดิม รู้สึกป่วยตลอดเวลา ซึ่งหากเป็นนาน ๆ ก็จะพาลทำให้เสียสุขภาพจิตได้ค่ะ


จากความเครียดที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งจะบั่นทอนความสุขในชีวิตและสุขภาพจิตของพวกเรา ดิฉันจึงได้รวบรวมข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ในการดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วย Covid – 19 ให้แข็งแกร่ง มาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ


1. รู้ทันอารมณ์ตัวเอง

การมีสติรู้ตัวเองอยู่เสมอสามารถช่วยเราได้มากในการควบคุมอารมณ์ตัวเองค่ะ ไม่ให้เศร้าเกินไป กังวลเกินไป หรือเครียดเกินไป เมื่อเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เราก็สามารถจัดการอารมณ์ของเราได้ไวและเหมาะสมค่ะ เช่น ถ้าเศร้าก็หากิจกรรมที่เราชอบทำ หรือโทรหาคนที่เราสามารถเล่าความในใจให้ฟังได้ เพื่อลดความเศร้าในใจ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาออนไลน์ เพื่อดูแลสุขภาพจิตอย่างยั่งยืนค่ะ


2. หมั่นผ่อนคลายจิตใจ

เมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ นักจิตวิทยาก็มีเทคนิคผ่อนคลายจิตใจที่หลากหลายมาฝากันค่ะ เช่น การผ่อนคลายลมหายใจ การเจริญสติ (Mild Fullness) การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Relaxation) การใช้จินตนาการช่วย หรือการเบี่ยงเบนความสนใจไปยังกิจกรรมอื่นที่ช่วยเสริมความรู้สึกทางบวกค่ะ


3. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นความเครียด

สิ่งที่กระตุ้นให้เราเกิดความเครียดได้มากที่สุดในช่วงเป็นผู้ป่วย Covid – 19 ก็คือ สื่อออนไลน์ค่ะ เพราะในโลกออนไลน์มีข้อมูลทั้งจริง ทั้งเท็จ ซึ่งแยกยากมาก และมาไวไปไว รวมถึงในโลกออนไลน์เราจะต้องพบเจอกับข้อความทางลบจากคนแปลกหน้าที่บั่นทอนกำลังใจ เพราะฉะนั้น หากเราลดการอยู่ในโลกออนไลน์ลง มาอยู่ในโลกความจริงมากขึ้น และนำเวลามาพัฒนาตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ เรียนออนไลน์ ความเครียดเราจะลดลง และยังได้พัฒนาความสามารถได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ


4. อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่เฉย ๆ

เมื่อร่างกายเราอยู่เฉยๆ ความคิดเราจะโลดแล่น และหากเราไม่มีสติ หรือมีความกังวลในใจมันจะวิ่งเตลิดคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยจนทำให้เราเสียสุขภาพจิต เพราะคิดมาก คิดไปไกล เช่น กังวลว่าอาการที่เราเป็นอยู่จะหนักขึ้น หรือกลัวว่าเชื้อ Covid – 19 จะลงปอด ทั้งที่ผลตรวจปกติ ดังนั้น หากเราไม่ตั้งใจนอนหลับพักผ่อน เราก็ควรหากิจกรรมให้สมองไปจดจ่อสิ่งอื่นเพื่อจะได้ไม่คิดมากค่ะ เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรี่ย์ เล่นเกมพัฒนาสมอง เป็นต้น


5. ดูแลสุขภาพกายควบคู่กับสุขภาพจิต

เมื่อเราติด Covid – 19 นอกจากสุขภาพกายที่ต้องรักษาแล้ว สุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ เพราะเมื่อกายป่วย เราย่อมมีความเครียด ความวิตกกังวลตามมาเป็นธรรมดา ดังนั้น นอกจากดูแลร่างกายตามอาการแล้ว การดูแลเยียวยาจิตใจตัวเองให้กลับมาสดใส ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน เช่น ออกกำลังกาย หาที่ปรึกษาทางจิตใจ หรือทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เป็นต้นค่ะ


ถึงแม้ว่า Covid – 19 สายพันธุ์โอไมครอนจะติดง่าย แต่หากเราได้รับการรักษาไว เราก็สามารถหายได้ไว แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้ระวังภาวะ Long Covid และปัญหาสุขภาพจิตด้วยนะคะ หากต้องการรับคำปรึกษา สามารถโทรหา Istrong ได้เสมอค่ะ พบกันใหม่บทความหน้านะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page