top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เพราะเราไม่สามารถควบคุมทุกเรื่องในชีวิตได้ ความยืดหยุ่นทางใจจึงสำคัญ


หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคอันโด่งดังเกี่ยวกับเรื่องกำเนิดสปีชีส์ของ Charles Darwin ที่มักจะถูกหยิบยกมาจากงานเขียนของ Leon C. Megginson (1963) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารและการตลาดซึ่งกล่าวว่า “อ้างอิงจากเรื่องกำเนิดสปีชีส์ของ Darwin สิ่งที่มีชีวิตที่อยู่รอดได้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุดหรือแข็งแกร่งมากที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถสูงสุดในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง” โดยคำว่าปรับตัวที่ว่านั้นแน่นอนว่าสำหรับมนุษย์ย่อมไม่ใช่การปรับตัวทางกายภาพแบบกิ้งก่าที่สามารถเปลี่ยนสีของตัวเองไปตามสภาพแวดล้อม และมนุษย์ไม่ได้มีกระดองให้หดเข้าไปหลบซ่อนเมื่อมีภัยมาถึงตัวเหมือนเต่า แต่สำหรับมนุษย์นั้นการปรับตัวที่ว่าคือการปรับตัวทางจิตใจซึ่งหนึ่งในทักษะดังกล่าวก็คือ “ความยืดหยุ่นทางใจ (Mental Flexibility หรือ Psychological Flexibility) ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้


อยู่กับปัจจุบัน ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจำเป็นต้องตื่นรู้อยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คนที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจจะไม่จมอยู่กับอดีตและไม่วิตกกับอนาคต แต่จะอยู่กับที่นี่และเดี๋ยวนี้ (here and now) 


เปิดใจ ความยืดหยุ่นทางใจจะทำให้เป็นคนที่เปิดใจต่อประสบการณ์และมุมมองใหม่ ๆ แทนที่จะยึดติดอยู่กับประสบการณ์และมุมมองเดิม ๆ ที่มันไม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตพัฒนา คนที่มีความยืดหยุ่นทางใจจึงมักใช้จินตนาการในการมองโลกเพื่อให้ตัวเองสามารถปรับตัวได้ตามความต้องการ


ยอมรับ ในการที่จะรักษาความยืดหยุ่นทางใจเอาไว้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีความอดทนต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ ซึ่งคนที่มีความยืดหยุ่นทางใจนั้นจะเป็นคนที่ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นแทนที่จะเก็บกดหรือหลีกหนีมัน  และจะมองหาความหมายของอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะเรียนรู้เติบโตจากมัน


ความยืดหยุ่นทางใจจึงเป็นเหมือนตัวช่วยในการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายและสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรค ซึ่งความยืดหยุ่นทางใจเป็นหนึ่งในแกนหลักของทฤษฎีการบำบัดแบบการยอมรับและพันธสัญญา (Acceptance and Commitment Therapy) ที่นักจิตบำบัดในทฤษฎีนี้จะใช้ความยืดหยุ่นทางใจเพื่อช่วยให้ผู้รับบริการพบกับทางเลือกที่จะนำไปสู่ชีวิตที่อิ่มเอมและมีความหมาย


10 วิธีเพิ่มความยืดหยุ่นทางใจ

1. ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สำเร็จก็คือการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า “ฉันต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง” 

2. ตอบตัวเองว่าเพราะอะไรถึงต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง หาเหตุผลที่สามารถนำมาใช้บังคับตัวเองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ 

3. แทนที่จะมองว่าความเปลี่ยนแปลงคือปัญหา ให้มองว่ามันคือโอกาส หมั่นพูดกับตัวเองว่าปัญหาที่เข้ามามันคือโอกาสและความท้าทาย การเลือกพูดกับตัวเอง (self-talk) แบบนั้นจะช่วยให้มีความยืดหยุ่นทางใจเกิดขึ้นโดยทันที

4. ดัดแปลงความหมายของคำว่ายืดหยุ่นให้ไปในทางที่ส่งเสริมคุณค่าตัวเอง เช่น ให้คุณค่ากับการคิดสร้างสรรค์ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ใช้การคิดสร้างสรรค์เข้ามาจัดการกับปัญหา การให้คุณค่าเช่นนี้จะช่วยให้มองเห็นแง่มุมที่ดีของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

5. ทำให้เป็นเรื่องสนุก แทนที่จะคิดว่าตัวเองกำลังลำบากก็คิดว่าเรื่องที่เข้ามามันทำให้ชีวิตตื่นเต้นประหลาดใจ

6. ทำตรงข้ามกับแผนที่ตั้งใจเอาไว้ เช่น เส้นทางประจำที่เคยใช้จะต้องเลี้ยวซ้าย แต่เมื่อเห็นว่าถ้าเลี้ยวซ้ายรถจะติดมากก็เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นแทน ซึ่งสำหรับบางคนแล้ว การได้มีประสบการณ์แปลกใหม่ก็ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเบิกบานขึ้นมาได้

7. หยุดพักเมื่อสมองเริ่มตัน ไม่ดันทุรังทำต่อให้เสร็จ เพราะการหยุดพักแม้เพียงแค่ 5 นาทีก็สามารถช่วยให้สมองได้พักซึ่งจะช่วยให้คุณกลับมาคิดสร้างสรรค์หรือเห็นทางแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น

8. ขอโทษให้เป็น การกล่าวขอโทษและการยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดจะช่วยบ่มเพาะให้เกิดความยืดหยุ่นทางใจขึ้นมาได้

9. ให้กำลังใจตัวเอง พูดกับตัวเองในทางที่ให้กำลังใจตัวเอง และเมื่อทำอะไรได้ดีก็ชื่นชมตัวเองบ้าง

10. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นจะช่วยให้เห็นมุมมองที่หลากหลายซึ่งคุณสามารถเรียนรู้ผ่านมุมมองของคนอื่น ๆ ได้


แม้ว่ากระแสในยุคนี้จะส่งเสริมในเรื่องของ “การคิดบวก” เป็นอย่างมาก แต่ผู้เขียนก็พบว่ายังมีหลายคนที่สับสนเกี่ยวกับการคิดบวกและยึดติดกับคำว่าคิดบวกมากจนไม่ยืดหยุ่น การคิดบวกแบบไม่ยืดหยุ่นจึงกลายเป็น toxic positivity และมักจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ในขณะที่ความยืดหยุ่นทางใจจะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ได้มากขึ้นโดยอยู่บนพื้นฐานของการมองโลกตามความเป็นจริง  


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง:

[1] Psychological Flexibility What It Means and Why It's Important. Retrieved from https://www.verywellmind.com/psychological-flexibility-7509628

[2] Think Different: 10 Ideas for More Mental Flexibility. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/changepower/202206/think-different-10-ideas-more-mental-flexibility


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page