top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

บุคลากรสุขภาพจิตก็ป่วยจิตเวชได้ และความเจ็บป่วยทางใจไม่ได้น่าอายอย่างที่คิด



สำหรับในสังคมไทย มุมมองต่อผู้ป่วยจิตเวชดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้น ต่างจากเดิมที่ผู้ป่วยจิตเวชมักจะถูกตีตราและโรงพยาบาลจิตเวชก็จะถูกเรียกว่าเป็น “โรงพยาบาลบ้า” เนื่องจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางใจยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนในสังคมไทยจะมีความเข้าใจและมีมุมมองต่อผู้ป่วยจิตเวชดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังคงมีคนไม่น้อยที่มีความคิดว่า ‘บุคลากรสุขภาพจิตควรเป็นคนที่มีสุขภาพจิตที่แข็งแรงอยู่เสมอ’ ทำให้คนในแวดวงสุขภาพจิตบางคนละเลยที่จะไปรับบริการสุขภาพจิตซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกอับอาย โดยหากใครได้ดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘Daily Dose of Sunshine’ ก็จะเห็นว่ามีพยาบาลคนหนึ่งที่มีอาการของโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวซึ่งสาเหตุมาจากการที่ต้องทำงานหนักและต้องเผชิญกับเรื่องสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ในช่วงแรกของการรักษาเธอมีอาการที่รุนแรงมากเพราะขาดการยอมรับในอาการป่วยของตัวเอง รวมถึงเกิดความรู้สึกอับอายว่าตนเองเป็นพยาบาลจิตเวชแต่กลับต้องมาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งชุดความคิดนี้เองที่ทำให้อาการดีขึ้นได้ยากหรืออาจจะทำให้อาการรุนแรงยิ่งกว่าเดิม 


นอกจากนี้ ในบทความชื่อ ‘Mental Health Among Mental Health Practitioners: Why don't mental health professionals talk about their mental health disorders?’ ของเว็บไซต์ Psychology Today ได้สรุปข้อมูลลออกมาว่า

  • จากการสำรวจของ Medscape พบว่ามีบุคลากรการแพทย์ที่เผชิญกับภาวะหมดไฟ (Burnout) ซึ่งในนั้นมีอยู่ 42% ที่เป็นจิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพจิต

  • บุคลากรสุขภาพจิตมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง โดยพบว่า 30% มีความคิดฆ่าตาย และเกือบ 4% เคยพยายามฆ่าตัวตาย

  • จากการวิจัยงานหนึ่งได้ทำการสุ่มตัวอย่างของนักจิตวิทยาการปรึกษามากกว่า 1,000 คนและพบว่ามี 62% ที่ตอบแบบประเมินตนเองแล้วผลออกมาเป็นโรคซึมเศร้า โดยในกลุ่มนี้มีอยู่ 42% ที่ระบุว่าตนเองเคยมีความคิดฆ่าตัวตายหรือมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

  • จากการสำรวจหนึ่งพบว่ามี 61% ของนักจิตวิทยาที่เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต


อย่างไรตาม ข้อมูลที่หยิบยกมากล่าวถึงนั้นมาจากการสำรวจวิจัยในต่างประเทศที่อาจจะคล้ายหรือแตกต่างไปจากบริบทของสังคมไทย แต่ไม่ว่าตัวเลขทางสถิติหรือข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิชาการจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือไม่ว่าจะเป็นบุคลากรสุขภาพจิตหรือจะเป็นนักวิชาชีพใดก็ตาม ทุกคนล้วนมีจิตใจและมีความเป็นมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันเลย ดังนั้น ต่อให้งานในตำแหน่งหน้าที่คืองานที่ต้องดูแลผู้คน แต่ทุกคนก็ไม่ควรลืมว่าหนึ่งในผู้คนที่ว่านั้นจะต้องมีตัวเองรวมอยู่ด้วยเสมอ และแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยากที่จะรู้ตัวว่าตนเองมีสภาพจิตใจมาถึงจุดไหนแล้ว แต่ไม่ควรที่จะละเลยตัวเองจนลืมสังเกตสัญญาณต่าง ๆ ดังนี้

  • ความอยากอาหารหรือการนอนหลับมีการเปลี่ยนแปลงไป

  • อารมณ์แปรปรวน

  • ไม่อยากพบเจอพูดคุยกับใคร

  • ประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง เช่น การทำงาน การเข้าสังคม

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการคิด ความจำ และการตั้งสมาธิ

  • ประสาทไวผิดปกติทั้งการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และสัมผัสต่าง ๆ 

  • ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และไม่อยากจะเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ 

  • รู้สึกห่างเหินไม่เชื่อมโยงกับคนรอบข้าง  

  • มีความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล

  • รู้สึกกระวนกระวาย จิตใจไม่สงบ 

  • มีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิมที่เคยทำตามปกติ

  • มีปัญหาเรื่องการขาดลามาสายหรือมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานบ่อยขึ้น 


ทั้งนี้ แม้ว่าบุคลากรสุขภาพจิตจะสามารถสังเกตเห็นในคนอื่นได้ง่าย มีความรู้เกี่ยวกับสัญญาณปัญหาสุขภาพจิตเป็นอย่างดี แต่ปัญหาสุขภาพจิตบางทีก็เหมือนผงที่เข้าตา รับรู้ได้ว่ามันทำให้เกิดอาการระคายเคืองแต่บางครั้งก็เขี่ยออกมาด้วยตัวเองไม่ได้ จำเป็นจะต้องไปส่องกระจกหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้เขี่ยออกให้ ดังนั้น หากบุคลากรสุขภาพจิตเองก็เริ่มจะมีอาการที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ก็ไม่ควรเลือกที่จะเก็บเอาไว้ไม่บอกใครเพราะมันมีแต่จะทำให้เป็นอันตรายทั้งต่อผู้รับบริการและต่อตนเอง 


การป่วยจิตเวชไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอาย แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับบุคลากรสุขภาพจิตก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอับอาย เพราะหากว่าบุคลากรสุขภาพจิตเองยังรู้สึกอับอายที่ตนเองมีความปกติทางด้านอารมณ์จิตใจจึงไม่ยอมไปรับการรักษา มันก็สะท้อนว่ามุมมองต่อความเจ็บป่วยทางจิตใจยังเป็นไปในทางลบอยู่ ในทางกลับกัน หากบุคลากรสุขภาพจิตเองรู้สึกว่าการพาตัวเองไปรับการรักษานั้นไม่เห็นจะเป็นอะไรเพราะเป็นเรื่องที่ปกติ ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนกับทั่วไปได้ว่าการรักษาโรคจิตเวชนั้นไม่ได้น่าอาย รวมถึงโรคจิตเวชหลายโรคก็สามารถรักษาให้หายและกลับเข้าสู่สังคมได้ ผู้ป่วยจิตเวชที่พบจิตแพทย์และรับการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ใช่อาชญากร และส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว 


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากเชิญชวนทุกคนให้สังเกตว่าตนเองกำลังเป็นแบบพยาบาลดาอึนในเรื่อง Daily Dose of Sunshine หรือไม่? คนที่มีลักษณะห่วงใยและให้กำลังใจคนอื่นได้ทุกครั้ง แต่กลับไม่เคยพูดประโยคให้กำลังใจนั้นกับตัวเองเลยแม้สักครั้งเดียว ดูแลคนอื่นแล้ว อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ รวมถึงอย่าคิดว่าการดูแลตัวเองเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว เพราะการดูแลตัวเองคือหัวใจสำคัญของการเป็นผู้ดูแลคนอื่น


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

อ้างอิง:


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page