ข้อคิดดี ๆ ของการสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นจากละคร “มาตาลดา”
บทความจิตวิทยานี้ขอส่งท้าย Pride Month ด้วยการพูดถึงละครไทยคุณภาพ คือ “มาตาลดา” ละครไทยที่แหวกกระแสความเป็นละครไทย เน้นความใส่ใจในคุณภาพ สร้างสรรค์สังคม และสะท้อนสังคมสมัยใหม่ออกมาได้อย่างทันสมัย และเข้าใจถึงปัญหาครอบครัวในปัจจุบัน โดยมาตาลดาได้นำเสนอถึงครอบครัว 2 รูปแบบ คือ ครอบครัวของนางเอก มาตา หรือ มาตาลดา ของเราที่โตมากับคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เป็น LGBTQ+ ผู้แสนจะรักลูกสุดหัวใจ และครอบครัวของหมอเป็นหนึ่ง หรือหมอปุริม ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่ และคาดหวังในตัวลูกมาก คอยขีดเส้นชีวิตให้ลูก ซึ่งในละครจะถ่ายทอดผลของการเลี้ยงดูของทั้งสองบ้านผ่านความคิด ทัศนคติ และการกระทำของตัวละคร และสร้าง Impact ให้เราตระหนักว่า ครอบครัวที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวนั้นมีองค์ประกอบครบถ้วน คือ พ่อ แม่ ลูก แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังที่มาตาลดานั้น ถึงจะเติบโตมาในครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่มีเพศวิถีไม่ตรงตามขนบธรรมเนียม และไม่ได้รับการยอมรับจากปู่และย่า แต่กลับเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียวด้วยความรักทั้งหมดเท่าที่มี ใส่ใจ ดูแล อบรมสั่งสอนด้วยความเข้าใจ จนมาตาลดามีพลังบวกเต็มพิกัด มองโลกในแง่ดี สดใส และเป็นกำลังใจให้ทุกคน ในขณะที่ฝั่งของคุณหมอเป็นหนึ่ง ภายนอกจะดูเป็นคนมั่นใจ เก่ง แต่มีความรู้สึกซ่อนภายในใจเป็นหมื่นล้านคำที่ไม่สามารถบอกใครได้แม้แต่แม่ หรือพ่อของเขาเอง เพราะเขาต้องอยู่ภายใต้กรอบที่พ่อกำหนดเท่านั้น จึงทำให้เขาค่อนข้างเก็บกด ไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา
ถึงแม้ตอนที่เขียนบทความอยู่นี้ละครจะอยู่ระหว่างเดินเรื่อง ยังไปไม่ถึงตอนจบ แต่เราก็ได้รับพลังบวกมาจากมาตาลดา และได้ข้อคิดดี ๆ ของการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นจากพ่อเกรซ คุณพ่อของมาตาลดา ซึ่งดิฉันขอหยิบยกมาบอกเล่าเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลครอบครัวของพวกเรากันนะคะ
1. ถึงครอบครัวจะมีไม่ครบ แต่อย่าทำให้ลูกรู้สึกขาด
คำว่า “ครบ” และคำว่า “ขาด” ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงเงินทองแต่อย่างใดนะคะ แต่ดิฉันกำลังหมายถึงองค์ประกอบของครอบครัว ที่โดยมาตรฐานสากลต้องมี พ่อ แม่ ลูก ซึ่งในละคร ครอบครัวของหมอปุริมมีครบทั้งพ่อ แม่ และลูก แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี ไม่ได้มีความสุข แต่ครอบครัวของมาตาเสียอีก ที่แม้จะอยู่กันสองคนพ่อ ลูก แต่มีความสุขมาก อบอุ่นหัวใจสุด ๆ หรืออย่างดิฉันเองที่เติบโตมาจากครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่แม่ทำงานหนักมากเพื่อเลี้ยงลูกสองคน แต่แม่ก็ยังหาเวลามาดูแล ใส่ใจดิฉันกับน้องชาย โดยคำถามที่แม่มักถามเสมอ คือ “ที่โรงเรียนโอเคมั้ยลูก?” “ไม่สบายใจอะไรมั้ยลูก?” เท่านั้นก็รู้สึกเติมเต็มแล้วค่ะ
2. พลังทางบวกของคนในบ้านชนะทุกสิ่ง
ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ (ปี ค.ศ. 2023) สังคมไทยเราจะเปิดรับกับเพศวิถีที่หลากหลายมากขึ้น แต่กับสังคมขนาดเล็กที่สำคัญที่สุด คือ ครอบครัว กลับยังประสบปัญหาไม่เปิดใจยอมรับสมาชิกครอบครัวที่เป็น LGBTQ+ ทั้ง ๆ ที่เพศวิถีไม่ได้ลดทอนคุณค่าของเขาลงแต่อย่างใด ซึ่งพ่อเกรซของมาตา ก็ประสบปัญหาเช่นที่ว่าเมื่อพ่อเกรซตัดสินใจเปิดตัวว่ามีเพศวิถีที่แตกต่าง จนโดนปู่กับย่าไล่ออกจากบ้าน ต้องพาลูกมาอยู่ที่พัทยา และกว่าที่จะเลี้ยงดูให้มาตาเติบโตขึ้นมา พ่อเกรซก็ต้องเจอปัญหาที่หลากหลายและมากมายจากสังคมรอบข้าง แต่ก็เป็นโชคดีของพ่อเกรซที่มีเพื่อนร่วมงานที่น่ารักมาก และด้วยความที่รักและใส่ใจมาตามาอย่างดี มาตาจึงเป็นเด็กน่ารัก ที่คอยฮีลใจให้พ่อเสมอ
3. ไม่มีอะไรสำคัญเท่าคนในครอบครัว
ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้จะต้องคอยกังวลในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งฐานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ชื่อเสียงของครอบครัว การปฏิบัติตามค่านิยมในสังคม แต่ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจังและเป็นสิ่งสมมุติ ความกังวลใจที่ว่ามาข้างต้นนั้นเราล้วนเป็นคนกำหนด คนรอบข้างอาจจะไม่ได้ใส่ใจเลยว่าเราใส่เสื้อผ้าแบรนด์ไหน สะพายกระเป๋าอะไร แต่เป็นเราเองที่พยายามถีบตัวเองให้สูงเพื่อให้คนอื่นมองว่าเราดี แล้วเราก็ส่อต่อทัศนคติเช่นนี้ไปสู่ลูก จนเราไปบังคับเขา ไม่รับฟังความคิดเห็นเขา ไม่ใส่ใจความรู้สึกเขา กว่าที่เราจะรู้ตัว เราก็อาจจะเสียลูกไปแล้ว
4. ลูก ไม่ว่าโตขึ้นมาเขาจะเป็นอย่างไร เขาก็คือ “ลูก”
ในกรณีของปู่ – ย่าของมาตา และพ่อ – แม่ของหมอปุริม ต่างก็มีความคาดหวังกับลูกสูงมาก เพราะเขามองว่าลูกคืออนาคตของตระกูล ลูกคือภาพสะท้อนของเขาที่จะอยู่ต่อไปในอนาคต แต่เมื่อลูกไม่ได้เป็นอย่างที่พ่อ แม่คาดหวัง ทั้ง ๆ ที่นั้นคือตัวตนของลูก พ่อ แม่ (โดยเฉพาะพ่อ) กลับแสดงท่าทีไม่ยอมรับลูก และทำร้ายลูกรุนแรง จนลูกไม่มีที่ไป คุณคะ ตอนที่ลูกยังอยู่ในท้องความคาดหวังของเราที่มีต่อเขามีเพียง 2 อย่างคือ ขอให้ลูกมีอวัยวะครบถ้วน และคลอดออกมาแข็งแรง แต่พอลูกโตขึ้น เรากลับคาดหวังมากมายกับลูก ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ
5. เราเป็นพ่อ แม่ แบบไหน ลูกก็จะโตขึ้นมาเป็นคนแบบนั้น
ตามทฤษฎีจิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาพัฒนาการ ต้นแบบที่ดีที่สุดของลูก คือ พ่อ – แม่ เพราะเราใกล้ชิดกับลูกที่สุด อยู่กับลูกมาตั้งแต่เขาเกิด ถ้าเราอยากให้ลูกใจดี มีพลังบวก และส่งต่อพลังบวกให้คนอื่น ๆ เราก็ต้องเป็นแม่ เป็นพ่อที่ใจดี และมีพลังบวก อย่างเช่นพ่อเกรซกับมาตา หรือถ้าเราอยากให้ลูกเรามีทัศนคติเปิดกว้าง สุขุม รอบคอบ คิดถึงคนอื่น เราก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เหมือนเช่น อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับแสนดี ที่แสนดีสมชื่อ หรือถ้าเราสงสัยว่าลูกได้นิสัยแบบนี้มาจากใคร ก็ไม่ต้องไปดูคนอื่นคนไกล ดูตัวเราเองก่อนเลยค่ะ
6. อย่าเปรียบเทียบครอบครัวเรา กับครอบครัวคนอื่น
และมาถึงข้อสุดท้ายในบทความจิตวิทยานี้ แต่ไม่ใช่ข้อคิดดี ๆ ท้ายที่สุดของมาตาลดา อย่าเปรียบเทียบลูก หรือคู่ชีวิตของเรากับครอบครัวอื่น เพราะคู่ชีวิตเราหามาเองกับมือ เวลามีปัญหาก็บอกตัวเองดัง ๆ ว่า เลือกมาเอง หรือลูก ลูกก็ไม่ได้ขอเรามาเกิด เราเองที่ทำให้เขาเกิดมา เพราะฉะนั้นแล้วถ้าลูกทำอะไรไม่ถูกใจเรา ก็ขอให้สอนเขาด้วยความรัก ความเมตตา และอย่าเปรียบเทียบลูกกับคนข้างบ้าน หรือใครก็ตาม เพราะแต่ละบ้านเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน กรรมพันธุ์ก็คนละแบบ ลองคิดเล่น ๆ ดูนะคะว่า ถ้าลูกพูดกับเราว่า “อยากมีแม่เหมือนข้างบ้าน” เราจะรู้สึกอย่างไร
ในฐานะแม่คนหนึ่งที่รันวงการมา 6 ปีครึ่ง ขอการันตีว่าการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ และในครอบครัวของพ่อ หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่เป็นพ่อ – พ่อ แม่ – แม่ หรือพ่อ แม่ ที่มีเพศวิถีที่ถูกจับตามองจากสังคม ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ดิฉันหวังว่าบทความนี้จะส่งผลต่อมุมมองของคนในสังคมให้เปิดกว้าง มองเห็นคุณค่าของคนจากการกระทำ ให้เกียรติซึ่งกันและกันมากขึ้นนะคะ และขอส่งกำลังใจให้พ่อ แม่ ทุก ๆ ท่านมีพลังใจในการเลี้ยงดูลูก ๆ และเติบโตอย่างสวยงามไปพร้อมกับพวกเขานะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Commenti