ทำความเข้าใจว่าทำไมคนเราถึงมีความต้องการต่างกันผ่าน Maslow’s hierarchy of needs
จากประโยคในภาพยนตร์เรื่อง Hunger คนหิวเกมกระหาย ที่มีตัวละครหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “พอไม่มีปัญหาปากท้องความหิวก็เปลี่ยนไป หิวการยอมรับ ความพิเศษ หิวประสบการณ์ที่เหนือกว่าคนอื่น” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจซึ่งเป็นทฤษฎีเก่าแต่ยังคงถูกนำมาใช้ตีความปรากฏการณ์ทางสังคมอยู่บ่อยครั้งก็คือ ทฤษฎีลำดับขั้นแรงจูงใจของมาลโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ที่ว่าด้วยความต้องการของมนุษย์ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับขั้นเหมือนกับพีระมิดที่มีตั้งแต่ฐานไปจนถึงยอด
ทฤษฎีลำดับขั้นแรงจูงใจของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) คิดค้นขึ้นโดย Abraham Maslow (ค.ศ. 1908 – 1970) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันซึ่งทำการศึกษาความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์โดยพิจารณาจากมูลเหตุจูงใจที่มาจากกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายและจากปัจจัยด้านจิตวิทยา
ซึ่งพบว่าความต้องการของมนุษย์จะถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับขั้นตามความจำเป็นต่อการได้รับการตอบสนอง (level of priority) และความต้องการในลำดับขั้นขั้นที่ต่ำกว่าจะต้องได้รับการตอบสนองก่อนจึงจะสามารถไปสู่ความต้องการในลำดับขั้นถัดไปได้ โดย Maslow ได้จัดหมวดหมู่และลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ออกเป็นดังนี้
ขั้นที่ 1 ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs)
ขั้นที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย (safety needs)
ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (love and belonging needs)
ขั้นที่ 4 ความต้องการมีเกียรติและศักดิ์ศรี (esteem needs)
ขั้นที่ 5 ความต้องการบรรลุศักยภาพแห่งตน (self-actualization)
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไป สภาพสังคมและผู้คนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้มีการอธิบายในเรื่องของแรงจูงใจเพิ่มเติมไปจากทฤษฎีลำดับขั้นแรงจูงใจของมาสโลว์ อย่างเช่นคำอธิบายของนักจิตวิทยามนุษยนิยมและผู้ที่สนใจศึกษาการบรรลุถึงศักยภาพแห่งตน
ได้เพิ่มความต้องการของมนุษย์ที่ต่อยอดขึ้นไปจากขั้นที่ 5 (ความต้องการบรรลุศักยภาพแห่งตน) ซึ่งก็คือความต้องการที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบทางจิตวิญญาณ เรียกว่าขั้นความต้องการด้านโลกุตระ (transcendence needs)
ผู้ที่เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ได้รับการตอบสนองความต้องการครบถ้วนตั้งแต่ขั้นที่ 1 ไปจนถึงขั้นสูงสุดก็คือเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระโคตมพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งหากใครได้มีโอกาสอ่านประวัติก็จะทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกเป็นทารกก็ต้องการได้รับสารอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ และที่อยู่อาศัย
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาก็มีความต้องการในด้านความปลอดภัย ความรัก การได้รับความยอมรับนับถือจากผู้อื่น การมีสถานะทางสังคม การบรรลุศักยภาพแห่งตน และสุดท้ายก็ไปสู่การอยู่เหนือความต้องการในขั้นที่เคยได้รับการตอบสนองมาแล้ว จึงทำให้เกิดความต้องการที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าขอบเขตของตัวตน
ก็คือการนำเอาทักษะและประสบการณ์ที่ค้นพบระหว่างทางมาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง โดยไม่สนใจที่จะตอบสนองความต้องการในลำดับขั้นที่ต่ำกว่าอีกต่อไป เช่น ไม่ต้องการชีวิตที่หรูหรา ไม่ต้องการมีความรักความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคนรัก ไม่ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ในทางโลกอีกต่อไป
ทั้งนี้ แม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีความต้องการเป็นลำดับขั้นเหมือนกัน แต่ขอบเขตของความต้องการในแต่ละขั้นของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันไป เช่น บางคนต้องการกินอาหารจำนวนมากใน 1 มื้อ แต่บางคนกินแค่พอหายหิว บางคนต้องการเป็น influencer ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่บางคนต้องการแค่การยอมรับจากครอบครัวเพื่อนฝูง
นอกจากนั้น คนเรายังมีแรงจูงใจย่อย ๆ ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย เช่น แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แรงจูงใจใฝ่อำนาจ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่ละคนแสดงพฤติกรรมออกมาต่างกัน นอกจากนั้น ยังมีข้อถกเถียงว่ามนุษย์บางคนอาจมีความต้องการที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นดังที่ได้เสนอไว้ เช่น นักปราชญ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณ
How to อยู่เหนือความทุกข์ใจแม้ความต้องการยังไม่ได้รับการสนองจนครบทุกขั้น
1. เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริง
จริงอยู่ที่สังคมไม่ควร romanticize ความยากจน แต่หากบังเอิญคุณต้องตกอยู่ในสถานะที่ขาดแคลน การจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกขาดแคลนนั้นมีแต่จะบั่นทอนสุขภาพจิตของคุณ ในขณะที่การนิ่งเฉยต่อสภาวะขาดแคลนของตนเองก็มีแต่จะทำให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม สิ่งที่คุณควรทำก็คือยอมรับความจริงเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตนเองโดยไม่นิ่งเฉย
และพยายามมองหาหนทางที่จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการหลุดพ้นจากความยากจน เช่น หาทุนการศึกษา ใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น แบ่งเวลาโดยให้ความสำคัญกับการหารายได้เสริมหรือศึกษาหาความรู้แทนที่จะเล่นเกมหรือดูหนังฟังเพลง
ซึ่งเป็นความจริงที่คุณจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าคนที่มีฐานะการเงินดีกว่าคุณ แต่มันจะเป็นความลำบากในช่วงต้นที่ให้ผลดีในระยะยาว
2. เลิกนิสัยชอบเปรียบเทียบและตัดพ้อ
การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นโดยเฉพาะคนที่มีต้นทุนมากกว่าหรือเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จไปแล้วมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย มีแต่จะทำให้รู้สึกท้อแท้หดหู่สูญเสียพลังใจไปเปล่า ๆ ส่วนการตัดพ้อนั้นมักเกิดขึ้นมาจากการที่คุณโฟกัสกับเรื่องทางลบมากเกินไป ซึ่งหากคุณโฟกัสกับเรื่องทางลบจนติดเป็นนิสัยและมันจะทำให้คุณจมปรักอยู่กับความทุกข์ใจจนไม่สามารถมีความสุขได้เลย
3. เข้าหาความช่วยเหลือทางจิตใจ
เพราะจิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้มีพลังอึด ฮึด สู้ ซึ่งจะช่วยให้คุณฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตได้ดียิ่งขึ้น หากคุณไม่สามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้ การเข้าหาความช่วยเหลือทางจิตใจตามอัตภาพของตนเองก็เป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย อย่างน้อยคุณก็จะได้มีโอกาสระบายความรู้สึกเป็นทุกข์ออกมาบ้าง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] จิตวิทยาทั่วไป ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[2] ปณิธานปีใหม่ แรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน. Retrieved from https://smarterlifebypsychology.com/2017/01/06/%E0%B8%9B%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88/
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments