บทเรียนจาก Mask Girl ‘ถ้าคุณหน้าตาดี โลกก็จะใจดีกับคุณ’ ...จริงหรือ?
“Mask Girl” เป็นซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าตาไม่ได้เป็นแบบพิมพ์นิยม ทำให้ถูกคนรอบข้าง bully หน้าตา แม้กระทั่งแม่แท้ ๆ ก็มักจะพูดเสมอว่าเธอหน้าตาขี้เหร่ หรือเพื่อนร่วมงานชายส่วนใหญ่ก็จะมองข้ามเธอไป ในขณะที่พนักงานสาวหน้าตาน่ารักเวลาทำอะไรเพื่อนร่วมงานชายก็ดูจะเห็นดีเห็นงามไปหมด และแม้ว่าเธอจะถูกลวนลามบนรถไฟฟ้า แต่เมื่อเธอโวยวายขึ้นมาก็ไม่มีใครเชื่อเลยว่าเธอถูกลวนลามจริง ๆ
เนื้อหาเรื่องราวของ Mask Girl ชักชวนให้คนดูรับรู้ได้ถึง “อภิสิทธิจากความงาม (Beauty Privilege)” อารมณ์แบบ “ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย” หรือ “ถ้าคุณหน้าตาดี โลกก็จะใจดีกับคุณ” แต่โลกแห่งเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากจะหยิบยกเอาแนวคิดทางจิตวิทยาอันหนึ่งขึ้นมาแบ่งปัน และชวนให้ผู้อ่านทุกคนค่อย ๆ คิดวิเคราะห์ตามไปว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้วมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้างค่ะ
Halo Effect: ‘ถ้าคุณหน้าตาดี โลกก็จะใจดีกับคุณ’
Halo Effect เป็นรูปแบบของอคติทางความคิด (Cognitive Bias) ประเภทหนึ่ง โดย Halo Effect เป็นอคติในทางบวก เช่น เกิดความรู้สึกประทับใจเมื่อแรกเห็น มองจากรูปร่างหน้าตาแล้วรู้สึกว่าคนนี้น่าเชื่อถือ ซึ่งโดยมากความรู้สึกทางบวกมักเกิดขึ้นจากความประทับใจต่อรูปร่างหน้าตาที่มองแล้วชวนให้เกิดอคติว่าบุคคลนั้นน่าจะเป็นคนดี คนฉลาด หรือหากเป็นการรับสมัครก็มีโอกาสที่ HR อยากจะเลือกคนที่มีรูปร่างหน้าตาถูกใจตัวเองมากกว่าคนที่เห็นแล้วรู้สึกเฉย ๆ ไม่ดึงดูด
อย่างไรก็ตาม Halo Effect มีจุดกำเนิดมาจากแนวคิดของ Edward Thorndike ในปี ค.ศ. 1920 ซึ่งค้นพบพฤติกรรมที่แสดงถึงการมีอคติทางบวกที่บุคคลที่มีภาพลักษณ์ดึงดูด Thorndike ได้เขียนบทความชื่อว่า “The Constant Error in Psychological Ratings.” โดยในบทความได้กล่าวถึงการทดลองที่ให้ทหารยศผู้บังคับบัญชาทำการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาว่าใครมีคุณลักษณะเป็นผู้นำ ลักษณะทางกายภาพ ความฉลาด ความซื่อสัตย์ภักดี และความน่าเชื่อถือ Thorndike พบว่าผลประเมินที่สูงมีความสัมพันธ์กับคาแรคเตอร์บางอย่าง ส่วนผลประเมินที่ต่ำก็สัมพันธ์กับคาแรคเตอร์บางอย่างที่แตกต่างไป
Halo Effect ในโลกของการทำงาน
Parrett (2015) ได้ทำการทดสอบกับพนักงานของร้านอาหารในรัฐเวอร์จิเนีย Parrett พบว่าพนักงานที่มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจหรือดูเป็นคนเจ้าเสน่ห์มากกว่าจะได้ทิปจากลูกค้าประมาณ 1,261 ดอลลาร์ต่อปีซึ่งสูงกว่าเพื่อนพนักงานคนอื่น ๆ ที่รูปลักษณ์ธรรมดา
ในแง่ของการสมัครงาน เวลาที่นายจ้างดูโปรไฟล์ของผู้สมัครแล้วรู้สึกว่าคนไหนดูมีความน่าดึงดูดใจ ดูมีเสน่ห์ ก็มักจะเกิดความรู้สึกตามมาว่าคนนี้น่าจะเป็นคนที่ฉลาด มีความสามารถ และมีคุณสมบัติน่าน่าเลือกเข้ามาทำงาน
The Reverse Halo Effect (Horn Effect): ‘ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย’
ในฝั่งกลับด้านของ Halo Effect ก็คือ The Reverse Halo Effect หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Horn Effect หมายถึง การมีอคติทางลบกับคนที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจ ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ (ของสังคมนั้น ๆ) มักจะถูกตัดสินว่าโง่ ไม่ได้เรื่อง และมักจะถูกปฏิบัติไม่ดีจากคนอื่น ซึ่งมันก็คือขั้วตรงข้ามของ Halo Effect นั่นเอง
อย่าปล่อยให้ความคิดมาหลอกเราได้
แม้ว่า Halo Effect และ The Reverse Halo Effect (Horn Effect) จะเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับคนเราอย่างเป็นอัตโนมัติ แต่ต้องอย่าลืมว่าในความจริงแล้วมันก็คือ ‘อคติทางความคิด (Cognitive Bias)’ ที่อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ หากเราเชื่อความรู้สึกของตัวเองโดยไม่ได้กลั่นกรองหรือตรวจสอบความเป็นจริงให้ดี เราก็อาจจะถูกความคิดของตัวเองหลอกเอาได้ เพราะคนที่ดูดีมีเสน่ห์นั้นมีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งคนดีมีความสามารถหรืออาจจะไม่ได้เป็นคนดีคนเก่งอะไรเลยก็ได้ เช่นเดียวกับคนที่รูปร่างหน้าตาไม่ได้เป็นแบบพิมพ์นิยมก็มีโอกาสที่เป็นคนดีคนไม่ดีได้เหมือนกัน สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือการมองคนแบบเหมารวม (Stereotype) ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ เช่น “เขาหล่อขนาดนี้ ไม่มีทางจะไปข่มขืนใครแน่นอน” หรือ “คนสวยทุกคนเอาแต่ใจตัวเอง” เหล่านี้ล้วนเป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถนำไปสู่ความจริงได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนล้วนแตกต่างหลากหลายและไม่เหมือนกันตั้งแต่พันธุกรรม การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน จึงไม่สามารถสรุปแบบเหมา ๆ ได้ว่าคนไหนเป็นคนดีมีความสามารถคนไหนไม่ได้เรื่อง
ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจกับข้อเท็จจริงให้มาก เอาความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินคนอื่นให้น้อย ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ไปด้วยในตัว เพราะหากลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดู ก็จะรู้ว่าการถูกตัดสินไปก่อนทั้งที่ยังไม่รู้จักกันอย่างลึกซึ้งทุกแง่มุมมันสร้างความเจ็บปวดมากแค่ไหน เหมือนกับที่คิมโมมิก่อนที่จะศัลยกรรม เธอถูกผู้คนมากมายตัดสินไปในทางลบ ถูกล้อเลียน ถูกมองผ่าน แม้กระทั่งจากแม่แท้ ๆ ของเธอ ซึ่งเราก็ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า คนที่ถูกปฏิบัติแย่ ๆ บ่อย ๆ จะคิดอะไรอยู่ในใจ และจะทำอะไรในเวลาต่อมา
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] What Is the Halo Effect? https://www.verywellmind.com/what-is-the-halo-effect-2795906
[2] Halo Effect In Psychology: Definition And Examples https://www.simplypsychology.org/halo-effect.html
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG
Comments