9 วิธีเด็ดจัดการความเครียดให้อยู่หมัด ตามแบบฉบับนักจิตวิทยา
โดยปกติแล้ว ต่อให้ไม่มีข่าวการแพร่ระบาดของ Covid – 19 ในประเทศรอบ 2 เราก็มีเรื่องให้เครียดกันอยู่แล้วนะคะ ทั้งเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องไม่มีครอบครัว และอีกสารพัด ที่สามารถทำให้เครียดได้ และเมื่อเครียดมาก ๆ สุดท้ายก็ทำให้เราเป็นเพื่อนสนิทกับนักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาไปโดยปริยาย เพราะต้องขอคำปรึกษา หรือขอรับการบำบัดจากความเครียดนั่นเอง อย่ากระนั้นเลยค่ะ เพื่อไม่ให้เราก้าวไปถึงจุดที่ต้อง Check in ที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง (โรงพยาบาลจิตเวช) บทความจิตวิทยาบทความนี้ขอเสนอ “9 วิธีเด็ดพิชิตความเครียดให้อยู่หมัด ตามแบบฉบับนักจิตวิทยา” เพื่อเป็นแนวทางในการลดความเครียด แต่ละข้อมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
1. สังเกตตนเอง
ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เรามีความเครียด เรามักจะปล่อยให้ตัวเองเครียดอยู่อย่างนั้น จนไม่ได้แก้ไขและกลายเป็นโรคเครียดเรื้อรังในที่สุด ดังนั้นแล้ว ในการพิชิตความเครียดตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา จึงแนะนำว่า เราควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่า กำลังหัวร้อนกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่หรือไม่ หัวใจเต้นเร็ว อารมณ์เหวี่ยงวีนมากผิดปกติ รับประทานข้าวได้น้อยลง ขับถ่ายยาก นอนไม่หลับ ฯลฯ อยู่หรือไม่ เพราะอาการที่ร่างกายแสดงออกเหล่านี้ เป็นสัญญาณบอกเราว่า เรากำลัง “มีความเครียด” ค่ะ เมื่อเราจับสังเกตได้เร็ว เราก็สามารถผ่อนคลายความเครียดได้เร็วเช่นกันค่ะ
2. ผ่อนคลายจิตใจ
การผ่อนคลายจิตใจตามแบบฉบับของนักจิตวิทยาเพื่อลดความเครียด สามารถทำได้ หลายรูปแบบค่ะ โดยวิธียอดนิยม คือ ควบคุมลมหายใจ “ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดอกไม้บาน” เช่นเดียวกับจิตใจเราค่ะ ถ้าเราหายใจช้าลง แต่ลึกขึ้น ร่างกายของเราก็จะได้รับออกซิเจนแบบมีคุณภาพ ทำให้ใจเย็นลง สมองปลอดโปร่ง มีสติในการคิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น และความเครียดก็จะสามารถลดลงได้ตามลำดับค่ะ
3. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย
เราจะสังเกตได้ง่าย ๆ เลยค่ะว่า ตามร้านกาแฟ ตามคาเฟ่ต่าง ๆ มักจะจัดบรรยากาศ ที่น่าหนีงานไปนั่งมาก มีทั้งเพลงเพราะ ๆ เครื่องดื่มละมุนลิ้น อาหารรสเลิศ และการจัดแต่งร้านด้วยสี ออกแนวอบอุ่น หรือพาสเทล ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย แต่ในเมื่อ 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน เราต้องนั่งทำงาน ในออฟฟิต หนีไปนั่งคาเฟ่ หรือร้านกาแฟไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราก็ลองจัดโต๊ะ หรือมุมส่วนตัวน้อย ๆ ของเราให้เป็นโซนผ่อนคลายสำหรับเราดูนะคะ ลองนำต้นไม้เล็ก ๆ มาแต่งโต๊ะดู เปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ ขณะทำงาน แต่งโต๊ะด้วยโทนเขียวพาสเทล เพื่อสร้างความเย็นตา เย็นใจ และผ่อนคลายความเครียด จากกองงาน
4. ทำกิจกรรมที่ชอบ
หลังเลิกงาน ก่อนกลับบ้านอย่างอ่อนเพลีย ลองพาตัวเองไปทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่นกันดูค่ะ เช่น ไปช็อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง นั่งชิว ๆ ในคาเฟ่ ออกกำลังกาย ทานอาหารในร้านที่บรรยากาศดี ๆ หรือก่อนนอนลองเล่นเกมคลายเครียด อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลาย การหาเวลาให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่ชอบเหล่านี้ นักจิตวิทยายืนยันว่าสามารถช่วยลดความเครียดได้ดีค่ะ
5. หาสาเหตุเพื่อแก้ไข
ดังคำพระท่านว่า “ทุกข์ดับได้จากเหตุ” นั่นก็คือ การจะหาทางออกจากความทุกข์ได้ เราต้องหาให้เจอก่อนว่า ประตูทางเข้าที่ทำให้เรามาอยู่ในวังวนความทุกข์คืออะไร หากความทุกข์ หรือความเครียด ของเรามาจากงาน ทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ภาระงาน ลองปรึกษาหารือกับผู้บริหารองค์กร ในการปรับเปลี่ยน หรือโยกย้ายก็ช่วยผ่อนคลายความเครียด และเติมไปในการทำงานได้เป็นอย่างดีนะคะ หรือความเครียดเกิดจากครอบครัว ก็อาจลองจับมือกันไปหานักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางการบำบัดครอบครัว ในการหาทางออกร่วมกัน หรือความเครียดเกิดจากเรื่องเงิน ก็สามารถขอรับการปรึกษา จากผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน หรือลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อวางแผนชีวิตก็สามารถช่วยได้ค่ะ แต่หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.istrong.co/service
6. พัฒนาตัวเอง
การพัฒนาตนเอง นอกจากจะเป็นการทำให้เราเติบโตทางสติปัญญาแล้ว ยังสามารถทำให้เรา พักรบจากศึกต่าง ๆ ที่ทำให้เราเครียด เช่น งาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และยังสามารถทำให้เรา ได้ผ่อนคลายด้วยการเปลี่ยนบรรยากาศ เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการรับมือกับปัญหาที่เข้ามา มีแนวทาง การวางแผนชีวิตที่สร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถช่วยให้เราผ่อนคลายความเครียดลงไปได้มากเลยค่ะ
7. มองโลกบวก
ต่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกร้ายกับเรา แต่เราก็ไม่ควรซ้ำเติมด้วยการใจร้ายกับตัวเองนะคะ ซึ่งนักจิตวิทยาแนะนำว่า การมองโลกบวก หรือการหามุมที่ดีของเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นการแสดงความใจดีกับตัวเองรูปแบบหนึ่ง เพราะทำให้เรายังสามารถรู้สึกดี มีความหวัง ถึงแม้ว่าจะเกิดเรื่องร้ายกับเราขึ้น และการมองโลกบวกยังช่วยให้เรามีกำลังใจ และมีแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาในชีวิต ซึ่งสามารถ ทำให้ความเครียดที่มีทุเลาไปได้มากค่ะ
8. อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง
ปัญหาที่หนักอก สามารถเบาลงได้เพียงแค่เราเปิดใจเล่าให้คนที่สนิทใจฟังค่ะ ถึงแม้ว่า ผู้ที่รับฟังไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ในขณะนั้น แต่การแบ่งปันเรื่องราวให้คนที่ไว้ใจฟัง และมีคนรับฟังอย่างตั้งใจ ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มีคนที่เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเรา แต่ในกรณีที่มีความทุกข์ใจแต่ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ก็สามารถเล่าให้นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตฟังได้นะคะ
9. ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา
ในกรณีที่ความเครียดหนักหนา และนำพาโรคต่าง ๆ มาหาเรา ทั้งโรคทางกายก็ดี หรือโรคทางใจก็ดี วิธีแก้ไขที่ดี คือ การรักษาค่ะ ทั้งรักษาโรคทางกายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และรักษาความทุกข์ทางใจจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ที่พร้อมจะใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีในการผ่อนคลายความเครียด และพาคุณออกจากความทุกข์ได้ค่ะ ซึ่ง iSTRONG ของเราก็มีผู้เชี่ยวชาญ ทางจิตวิทยาที่พร้อมให้บริการอยู่เสมอนะคะ
บทความแนะนำ “9 สัญญาณเตือน ควรพบจิตแพทย์ด่วน”
ความเครียด หากมีในระดับที่พอดีก็สามารถเป็นแรงผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ถ้ามี มากเกินไป หรือเครียดเรื้อรัง แรงผลักดันนั้นก็อาจทำให้เราตกเหวของความทุกข์ได้ หวังว่าบทความจิตวิทยา “9 วิธีเด็ดพิชิตความเครียดให้อยู่หมัด ตามแบบฉบับนักจิตวิทยา” จะสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดให้ทุกคนได้นะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. 2561. พ่อสอนให้...ให้ การให้คือ การปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้. นนทบุรี : กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 42.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.
และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี
เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี
ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments