top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 สิ่งที่ควรเลี่ยง เพื่อให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น





ไม่ว่าใครก็ต้องการความสุข แต่นิยามความสุขที่แต่ละคนสร้างขึ้นมานั้นก็มีความแตกต่างกันไป ซึ่งนิยามความสุขที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับความสุขมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละคนด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปแบบไม่รู้ตัว บุคคลก็อาจจะเผลอทำสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเองไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ในบทความนี้จะมาชวนคุณหลีกเลี่ยงการทำ 7 สิ่งที่อาจทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ดังนี้


1. เครียดสะสม

ในแต่ละวันทุกคนย่อมต้องเจอทั้งความสุขและความทุกข์ปะปนกันไป ซึ่งหากช่วงเวลาไหนมีอุปสรรคหรือสถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกหม่นหมอง แม้เรื่องบางเรื่องจะดูเหมือนเรื่องเล็ก ๆ เช่น ตอนเช้าตื่นมาสดชื่นมาก แต่พอขับรถออกไปแล้วเจอรถติดก็รู้สึกเครียดขึ้นมา หากในแต่ละวันคุณปล่อยให้ความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ สะสมอยู่ในชีวิตของคุณไปเรื่อย ๆ ในวันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นความเครียดสะสมที่กัดกินความสุขของคุณอยู่ลึก ๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่จนกระทั่งมันสะท้อนออกมาทางอ้อม เช่น เซลล์และภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลายจากผลกระทบของกลไกความเครียดจึงป่วยง่าย อ้วนลงพุง ปวดหัวบ่อย ปวดเมื่อยอ่อนเพลียทั้งที่ไม่ได้ใช้แรงงาน


2. นอนไม่พอ

การนอนหลับมีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เช่น เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อนซ่อมแซมตัวเอง ตรงข้าม การนอนไม่พอจะส่งผลต่ออารมณ์ สติ และสมาธิของคนที่นอนไม่พอ บางคนเกิดอารมณ์หงุดหงิด มีอาการหลงลืมบ่อยอีกด้วย


3. กินอาหารที่ไม่เหมาะสม

อาหารที่ไม่เหมาะสมเป็นไปได้ทั้งในเรื่องของชนิดอาหารรวมไปถึงปริมาณ อาหารบางชนิดรับประทานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปต่างก็ส่งผลเสียต่อร่างกายและอารมณ์ได้ไม่ต่างกัน เช่น น้ำตาล การบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่น้อยเกินไปจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้สมาธิและอารมณ์แย่ลงตามไปด้วย และหากบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดได้ในบางคน


4. การไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

การที่ร่างกายของตนเองมีการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลต่ออารมณ์และความสุขของบุคคลได้ เช่น ผู้หญิงในช่วงที่ประจำเดือนมาก็อาจมีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย หากไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของร่างกายก็อาจทำให้เกิดความเครียดเพราะไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงมีอารมณ์แบบนั้น หรือเกิดความสงสัยว่าความสุขของตนเองหายไปไหน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ยังปกติดีอยู่


5. มี mindset เชิงลบ

คงมีคนกล่าวว่า “โลกที่เห็นมักจะเป็นอย่างที่เราคิด” mindset คือปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดระดับความสุขของแต่ละคนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่มี mindset เชิงลบมักจะมองอุปสรรคหรือเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นว่ามันคือความโชคร้ายของตัวเอง จาก bad day หนึ่งวันก็ขยายเป็น bad life นำไปสู่ความรู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยว สิ้นหวังกับชีวิต มองเห็นอุปสรรคว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลวมากกว่าความท้าทาย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วชีวิตของเขาก็ไม่ได้แย่ทุกวันเสียหน่อย


6. มองตัวเองในแง่ร้าย

คนที่ขาดความสุขมักเป็นคนที่มองตัวเองในแง่ร้าย ไม่ค่อยให้กำลังใจตัวเอง ซึ่งมักจะสะท้อนผ่านพฤติกรรมการตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ไม่ยอมรับตัวเองโดยเฉพาะในด้านไม่ดี เช่น โกรธ โมโห มีข้อบกพร่อง


7. ใช้ชีวิตเหมือนเครื่องจักร

หลายคนก็หลงลืมไปว่าตนเองไม่ใช่เครื่องจักร จึงทำงานหรือ productive อยู่ตลอดเวลาจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลย จริงอยู่ถ้าหากการทำงานหรือความ productive คือบันไดสู่ความสุขความสำเร็จ แต่หากทำงานหนักมากจนเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้ และเมื่อมีความเครียดไปนาน ๆ ก็จะวนลูปเข้าสู่วงจรความเครียดสะสมจนสุขภาพเสียได้เหมือนกัน


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น ก็ไม่ต้องโทษตัวเองหรือรู้สึกผิดที่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะไม่ว่าจะเมื่อไหร่คุณก็สามารถเริ่มต้นใหม่กับตัวเองได้เสมอ โดยอันดับแรกขอให้เริ่มหันมาดูแลสุขภาพร่างกายซึ่งเป็นสิ่งที่จัดการได้ง่ายกว่าก่อน เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะถั่วต่าง ๆ กล้วย อะโวคาโด ดาร์กช็อกโกแลต ชาเขียวร้อน ข้าวกล้องงอก ใบกะเพรา ผักใบเขียว ซึ่งเป็นอาหารต้านเครียด นอกจากนั้น คุณควรงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงหลัง 4 โมงเย็นหรือหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟเพื่อให้การนอนหลับของคุณดีขึ้น เริ่มต้นออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณเอง


สำหรับในแง่ทางจิตใจนั้น มันอาจเป็นการยากสำหรับหลาย ๆ คนที่อยากจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยมีประสบการณ์ชีวิตที่ส่งผลให้มี mindset เชิงลบ เครียดเรื้อรัง วิตกกังวลง่าย ทำให้กลายเป็นคนที่มีความสุขยาก หากคุณพบว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและอารมณ์ของตนเองได้ ก็สามารถเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดได้ ซึ่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดก็จะมีบทบาทในการเอื้ออำนวยให้คุณเข้าใจที่มาที่ไปของอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น และสามารถจัดการกับปัญหาที่ส่วนมามีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในการไปพบจิตแพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนอาการปรากฎชัดเจน เช่น ซึมเศร้าหดหู่อย่างรุนแรง เพราะหากการใช้ชีวิตประจำวันของคุณได้รับผลกระทบ เช่น ไม่อยากไปทำงานทั้งที่เคยเป็นคนขยันทำงานมาก ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ไม่อยากพบปะพูดจากับใคร คุณก็ควรได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์แล้วค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] ทำไมบางวันรู้สึกดี แต่บางวันรู้สึกแย่ - ดร.เอ๋ กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก. Retrieved from. https://www.youtube.com/watch?v=849MOIrOcsQ

[2] อาหารที่คุณกินส่งผลต่อสมองคุณอย่างไร - Mia Nacamulli. Retrieved from. https://www.youtube.com/watch?v=YQADtDWjCA0

[3] อาหารต้านเครียด : รู้สู้โรค. Retrieved from. https://www.youtube.com/watch?v=5Y1e6FJvCYY


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page