top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เปิด 5 เหตุผลทางจิตวิทยา ที่สามีทำร้ายภรรยา หรือคนรักทำร้ายกันรุนแรง



จากข่าวสะเทือนขวัญ สะเทือนอารมณ์ ทำร้ายจิตใจคนมีครอบครัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สามีทำร้ายภรรยาจนถึงแก่ชีวิต แล้วเผาอำพรางศพอย่างไร้เยื่อใย โดยสิ่งที่สะเทือนใจดิฉันมากที่สุด คือ ตลอดการทำร้ายภรรยา จนถึงอำพรางศพ มีลูกของทั้งสองคนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเสมอ! ซึ่งข่าวเช่นนี้ไม่ใช่ข่าวใหม่ เราจะพบเห็นข่าวสามีทำร้ายภรรยา ภรรยาทำร้ายสามี คนรักทำร้ายกันอยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่ในชุมชนของเราเองก็มี จากรายงานของ BBC News ไทย พบว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2016 – 2022 ประเทศไทยมีเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว 2,223 ราย และ 87.4% ของเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากใครเลย นั่นจึงทำให้น่าสงสัยว่าเพราะอะไรเหตุการณ์สามีทำร้ายภรรยา หรือคนรักทำร้ายกันมันถึงไม่หายไปจากสังคม อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้ง ๆ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ร่วมรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวอย่างแข็งขัน กฎหมายเองก็เข้มงวด และโลกก็เปิดกว้างส่งผลให้ทุกเพศสภาพเท่าเทียมกันแล้ว โดยในบทความจิตวิทยานี้มีคำตอบค่ะ 


  1. การเลี้ยงดู

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราทุกคนเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไรในทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน ต้องโตมายากจน เด็กบ้านรวยต้องมีชีวิตดีเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับการให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ การอบรมสั่งสอนในโดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงวัยของเด็กที่จดจำ เรียนรู้ และอาจเลียนแบบพฤติกรรมทำร้ายกันในครอบครัว อยู่ที่อายุ 6 – 12 ปี เพราะเป็นวัยที่มีการพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ สามารถเข้าใจหลักเหตุผล ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยทางจิตวิทยาของประเทศออสเตรเลีย ที่พบว่า เด็ก 40% ที่พบเห็นพฤติกรรมทำร้ายร่างกายกันในครอบครัวบ่อย ๆ จะกลายเป็นปลูกฝังในระยะยาว และเมื่อเด็กโตมามีครอบครัว ก็จะส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่นต่อ ๆ ไป  


2. การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช

เมื่อมีข่าวสามีทำร้ายภรรยา หรือคนรักทำร้ายกัน จำเลยหลักที่ชาวเน็ต หรือคนในสังคมยกให้เป็น No.1 ก็คือ โรคทางจิตเวช ซึ่งจากผลการศึกษาทางจิตวิทยา ก็พบว่ามีโรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ และเกิดพฤติกรรมรุนแรงอยู่จริงค่ะ โดยโรคจิตเวชยอดนิยมที่พบในกลุ่มคนที่ทำร้ายคนรัก ก็คือ 

2.1  โรคจิตเภท ( Schizophrenia ) โดยผู้ป่วยจะมีความยากลำบากในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิดคิดว่าจะมีคนมาทำร้าย ไม่ไว้ใจคนรัก และอาจทำร้ายคนรัก หรือคนในครอบครัวถึงชีวิตได้

2.2 Othello Syndrome หรือภาวะที่บุคคลมีจินตนาการว่าคนรักของตนเองกำลังนอกใจ โดยเชื่อเป็นจริงเป็นจังเลยว่าคนรักมีคนอื่น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมหึงหวงรุนแรง คุกคามชีวิต จนสามารถทำร้ายคนที่รักได้เลยทีเดียว

2.3 Everyday Sadism ซึ่งเป็นคนละแบบกับ Sexual Sadism Disorder โดยจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป Everyday Sadism มีความหมายตรงตัวเลยคือ ผู้มีภาวะซาดิสม์ในชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยมักมีความสุขที่เห็นคนอื่นเป็นทุกข์ และมักจะสร้างความทุกข์ให้คนรอบข้างเอง เพื่อให้ตนเกิดความรู้สึกเป็นสุข เช่น กลั่นแกล้ง ดุด่า ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ 

2.4 Sexual Sadism Disorder โรคพฤติกรรมนิยมความรุนแรงทางเพศ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกมีอารมณ์ทางเพศเมื่อคนรัก หรือคู่นอนถูกทำร้ายร่างกาย หรือทำร้ายจิตใจ นั่นจึงทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศคนรัก ทำร้ายร่างกายคนรักก่อนร่วมเพศ ซึ่งก็จะมีผู้ป่วยอีกกลุ่มที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่กันกับผู้ป่วย Sexual Sadism Disorder ก็คือ Masochist คือ ผู้ชื่นชอบให้คนรักทำร้ายตนเองก่อนมีเพศสัมพันธ์


3. การได้รับบาดเจ็บทางสมอง

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ได้รับการผ่าตัดทางสมอง มีพยาธิสภาพทางสมอง หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ผู้นั้นมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และควบคุมพฤติกรรมรุนแรงของเขาไม่ได้ ส่งผลให้คนที่ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด เช่น คู่ชีวิต พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิท ต่างก็ต้องกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ และรองรับความรุนแรงทางร่างกายด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง 


4. สภาวะอารมณ์ผิดปกติ

โรคทางอารมณ์ที่มีผลต่อความรุนแรงยอดนิยม ก็คือ Bipolar Disorder หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางด้านการควบคุมอารมณ์ โดยผู้ป่วยจะมีการสลับกันไปมาระหว่างอารมณ์สองขั้ว คือ อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง (Mania, or Hypomania) และอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (Depressed) โดยแต่ละขั้วจะคงอยู่ยาวนานร่วมเดือน ร่วมครึ่งปี จึงทำให้คนรัก ครอบครัว บุคคลรอบข้างต่างก็ได้รับผลกระทบทางอารมณ์ไปด้วย


5. สารเสพติด

สารเสพติด คือ สารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีผลต่อจิตประสาท ทำให้เราเคลิบเคลิ้ม ขาดสติ บางตัวยาก็ทำให้คึกคัก จนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะสารไหนหากขึ้นชื่อว่าสารเสพติดแล้ว จะเปลี่ยนสภาพผู้เสพกลายเป็นซอมบี้ที่ไม่มีสติ ไม่มีความรู้คิดที่จะควบคุมตัวเอง จนสามารถทำร้ายคนรัก ทำร้ายคนในครอบครัวได้ 


แต่ถ้าหากมีคำถามว่า โดนคนรักทำร้ายร่างกายและจิตใจขนาดนั้นแล้ว เพราะอะไรถึงไม่พาตัวเองออกจากความสัมพันธ์นั้นเสีย งานวิจัยทางจิตวิทยาภายในประเทศ ก็ให้คำตอบไว้ดังนี้ค่ะ

  1. กิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self – esteem) จากผลการวิจัย พบว่า เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่ถูกคนรักทำร้าย มักจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self – esteem) คิดว่าตนเองอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเขา ถูกทำให้เชื่อว่าต้องพึ่งพาเขาในทุกเรื่อง และถูกคนรักทำให้เชื่อว่าตนเองไม่เก่งอะไรสักเรื่อง จึงต้องทนอยู่เป็นกระสอบทราย เป็นที่รองรับอารมณ์ต่อไป

  2. ู้สึกหมดทางเลือก (Hopelessness) เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวทุกคน เมื่อถูกทำร้ายมักจะหนีเพื่อเอาตัวรอด และผู้ทำร้ายก็มักจะมีวิธีคล้าย ๆ กัน คือ ขู่ทำร้ายคนที่เหยื่อรัก เช่น ขู่ทำร้ายลูก ขู่ทำร้ายครอบครัวเหยื่อ ขู่จะแชร์คลิปลับ ขู่แฉเรื่องลับ (Blackmail) เป็นต้น ทำให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว ต้องกลับมาด้วยความหวาดระแวง  

  3. ชื่อว่าที่ถูกคนรักทำร้ายเพราะเป็นความผิดตนเอง (Self - blaming) สำหรับกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่ถูกคนรัก Gaslighting ด้วยการถูกทำให้เป็นคนผิด (Blame - shifting) จึงมีความเชื่อว่าตนเองเป็นคนผิด และสมควรที่จะถูกทำร้ายร่างกาย และคนกลุ่มนี้น่าสงสารมาก เพราะเขาจะยินดี ยินยอมให้คนรักทำร้ายตนเอง ให้สาสมกับความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น


ถึงแม้ว่าคนที่ทำร้ายคนอื่นมาก่อนส่วนใหญ่จะเคยเป็นเหยื่อมาก่อน แต่นั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เราต้องเห็นใจ เข้าใจ ในสิ่งที่เขาทำกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่รักเขา เพราะดิฉันมีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่า ในโลกนี้ทุกคน ทุกชีวิต มีค่าเท่าเทียมกัน ไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่รักกัน 


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง :

1. BBC News ไทย. (2023, 25 สิงหาคม). “เราอยากกลับบ้านมา เจอแม่ไม่มีชีวิตอยู่ไหม” คุยกับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เมื่อฝันร้ายวัยเด็กตามมาทำร้ายถึงในวันที่เป็นผู้ใหญ่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก  https://www.bbc.com/thai/articles/c84kylpg2xeo

2. กานต์ จำรูญโรจน์. (2018, 4 กรกฎาคม). พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก  https://www.rama.mahidol.ac.th

3. ไทยรัฐออนไลน์. (2566, 22 มีนาคม). ไขปมคดีสะเทือนขวัญสูง พ่อแม่ผลักลูกสู่อาชญากร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก  https://www.thairath.co.th/news/local/2659456

4. พบแพทย์. (มปป.). Sadist ซาดิสม์ พฤติกรรมเสพสุขจากความทุกข์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.pobpad.com

5. ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร. (มปป.). ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคอารมณ์สองขั้ว สาเหตุ อาการ การรักษา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/bipolar-disorder

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page