5 เหตุผลที่ไม่ควรมีแฟนในวันที่ยังรักตัวเองไม่เป็น !
การรักตัวเอง ในภาษาอังกฤษมีอยู่หลายคำ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “Self-love” “Self-compassion” หรือคำอื่น ๆ แต่ใจความสำคัญก็คือ คนที่รักตัวเองก็คือคนที่มีความรู้สึกดีต่อตัวเอง มีความปรารถนาดีต่อตัวเอง ซึ่งคนที่รักและปรารถนาดีต่อตัวเอง ย่อมเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเองมากกว่าที่จะปล่อยให้ตัวเองมีชีวิตไปตามยถากรรม แต่การรักตัวเองก็จะแตกต่างจากการเห็นแก่ตัว (Selfish) เพราะการเห็นแก่ตัวจะมีการยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงมีการเอาเปรียบคนอื่นหรือมีความเชื่อว่าคนอื่นด้อยกว่าตัวเองเกิดขึ้น ส่วนคนที่รักตัวเองมักจะมีความอิ่มเต็มอยู่ภายใน จึงไม่จำเป็นต้องโหยหาหรือแย่งชิงกับคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้สิ่งที่ต้องการ เพราะสามารถเติมเต็มตัวเองได้อยู่แล้ว และรับรู้ด้วยว่าตัวเองมีทรัพยากรอะไรบ้าง จึงไม่ต้องคอยพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนคนที่ไม่รู้สึกหิวโหย ก็จะไม่จำเป็นที่ต้องไปแย่งชิงหรือร้องขอเศษอาหารจากใคร ต่างจากคนที่หิวโหยที่ไม่ว่าใครหยิบยื่นอะไรมาให้ก็รับมากินเพราะอยู่ในจุดที่เชื่อว่าตัวเองไม่สามารถเลือกอะไรได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าเพราะอะไรจึงไม่ควรมีแฟนในวันที่ยังไม่รักตัวเอง ซึ่งหากคุณยังรู้สึกงง ๆ อยู่ ก็จะขยายความให้ดังนี้ค่ะ
เพราะอะไรจึงไม่ควรมีแฟนในวันที่ยังรักตัวเองไม่เป็น
1. แฟนของคุณจะปฏิบัติกับคุณ ในแบบที่คุณปฏิบัติกับตัวเอง
คนที่ไม่รักตัวเองมักจะทำกับตัวเองเหมือนคนไร้ค่า ซึ่งมักจะแสดงออกมาผ่านพฤติกรรมคอยตามติดเป็นเงา ไม่มั่นคง และขี้หึงเกินเบอร์ แต่คนที่รักตัวเองจะมีความมั่นใจ มั่นคง อยู่ภายใน ทำให้ไม่มีพฤติกรรมเหล่านั้น และจะปฏิบัติกับตัวเองอย่างให้เกียรติ เป็นมิตร ไม่พาตัวเองให้อยู่ในสภาพตกต่ำ มีความเข้าใจและมีเมตตากับตัวเอง ทำให้สามารถอยู่กับตัวเองได้โดยไม่ต้องคอยเรียกร้องให้แฟนต้องมาเอาใจพะเน้าพะนอตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คนที่รักตัวเองสามารถสื่อสารกับแฟนได้ว่าตัวเองต้องการอะไร มีความรู้สึกนึกคิดยังไง และมันจะเป็นสิ่งที่แสดงให้แฟนเห็นว่าเขาควรจะปฏิบัติกับคนรักอย่างไร
2. คนที่รักตัวเองจะดึงดูดความสัมพันธ์ดี ๆ และคนดี ๆ เข้ามา
เมื่อคุณรักตัวเองอย่างแท้จริง มันจะทำให้พลังงานชีวิตของคุณเปลี่ยนไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ทำให้คุณดึงดูดผู้คนที่มีพลังงานระดับเดียวกันเข้ามามากขึ้น ทำให้คุณมีโอกาสได้พบเจอกับคนดี ๆ มากขึ้น และนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ดี ๆ กับคน ๆ นั้น นอกจากนั้น คนที่รักตัวเองมักจะมีทัศนคติเชิงบวก ซึ่งโดยปกติแล้ว คนแบบเดียวกันมักจะดึงดูดกันและเข้ากันได้ดี ดังนั้น หากมีทัศนคติเชิงบวก คุณก็จะดึงดูดคนที่มีทัศนคติแบบเดียวกันเข้ามา เพราะจะรู้สึกว่าคุณกับเขาคุยกันรู้เรื่องและเข้ากันได้ดี
3. ความสัมพันธ์ที่ดีควรมีลักษณะแบบ “ภาวะฝ่ายต่างสนับสนุน” ไม่ใช่ “ภาวะพึ่งพิง”
คนที่รักตัวเองจะสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องโหยหาจากคนอื่น ต่างจากคนที่ไม่รักตัวเองหรือไม่รับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองซึ่งจะตั้งเงื่อนไขเอาไว้มากมาย เช่น “ถ้าเธอรักฉัน เธอต้องตามใจฉัน” หรือมีความเชื่ออย่างฝังแน่นว่า “แฟนคือคนที่ต้องตัวติดกันตลอดเวลา” ซึ่งคนที่รักตัวเองจะไม่เป็นแบบนั้น ความรักของคนที่รักตัวเองก็คือการที่ได้รัก ไม่ใช่การแสวงหาใครอีกคนมาช่วยเติมเต็ม ทำให้เวลาที่มีความสัมพันธ์ก็จะเป็นคนรักแบบสนับสนุน ทำให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้แบบราบรื่นมากกว่าคนที่มีลักษณะเรียกร้องยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
4. ความจริงของชีวิตคือ ‘ไม่มีใครเกิดมาเพื่อรับผิดชอบสุขทุกข์ของคนอื่น’
คนที่รักตัวเองจะรู้วิธีการสร้างความสุขให้กับตัวเอง จึงไม่จำเป็นต้องรอคอยให้คนอื่นมาทำให้ตัวเองมีความสุข ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกว่าถูกกดดันหรือถูกคาดหวังว่าจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้เพื่อให้แฟนพึงพอใจ คนที่รักตัวเองจึงมีลักษณะยืดหยุ่นมากกว่าเพราะไม่ค่อยคาดหวังให้คนอื่นต้องมาทำให้ตัวเองมีสุข เมื่อมีความทุกข์ก็สามารถดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ ดังนั้น คนที่รักตัวเองจึงมักไม่สร้างความกดดันให้กับแฟน ทำให้อยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย ไม่ต้องคอยพะวงว่าจะทำอะไรให้ไม่ถูกใจหรือเปล่า
5. ต้องเข้าใจและยอมรับว่าคุณไม่สามารถหวังให้คนอื่นมาคอยทำให้คุณรู้สึกเป็นคนที่ถูกรัก
คนที่รักตัวเองมักจะไม่ได้ตั้งเป้าหมายของการมีความสัมพันธ์ว่า “อยากมีแฟนเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนที่ถูกรัก” เพราะการตั้งเป้าหมายแบบนั้นมักจะนำมาซึ่งความคาดหวัง และการสร้างเงื่อนไขให้กับตัวเอง เช่น “ถ้าแฟนจัดงานวันเกิดให้ ก็คือแฟนรักฉัน” เพราะความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้มีลักษณะแบบ “ทาสรัก” ที่อีกฝ่ายจะต้องคอยทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อยืนยันว่ารัก คนที่รักตัวเองมักจะเติมเต็มตัวเองได้ ในขณะที่ก็รับรู้ได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง และไม่คาดหวังให้แฟนต้องคอยทำแบบนั้นแบบนี้เพื่อยืนยันว่ารักกัน เพราะสามารถเข้าใจ “ภาษารัก” ของอีกฝ่าย และสามารถสื่อสารภาษารักของตัวเองออกไปได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้อาจจะสรุปได้ว่า คนที่รักตัวเองมักจะกลายเป็นคนรักที่ดีโดยปริยาย ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นมั่นคงมากกว่าการมีแฟนโดยที่ยังรักตัวเองไม่เป็น เพราะถ้าหากแม้แต่ตัวเราเองยังไม่สามารถให้ความรักตัวเองได้ แล้วจะหวังให้ใครมารักเราได้อีก
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนที่ประสบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ และไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถจะรักตัวเองได้ มันก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณมีบางอย่างเป็นโจทย์ในใจที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการมีความสัมพันธ์ หากเป็นเช่นนี้ การไปพบนักจิตวิทยาหรือนักบำบัด ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีในการเคลียร์โจทย์ในใจ การฝึกรักตัวเอง เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบกับคนดี ๆ ความสัมพันธ์ดี ๆ ในอนาคต
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
[1] Self-Love Is the New #RelationshipGoals. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/couples-thrive/201906/self-love-is-the-new-relationshipgoals
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments