top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg
iStrong team

ภัยของความโดดเดี่ยว (Loneliness) ต่อสุขภาพจิตของคุณ

My Loneliness is killing me. นี่คือท่อนหนึ่งของเพลงจากยุค 90 ฟังดูเหมือนจะเป็นแค่คำบ่น แต่เอาเข้าจริงๆ Loneliness หรือความโดดเดี่ยวกลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของคุณจริง ๆ



Loneliness หรือ ความโดดเดี่ยวเป็นประสบการณ์ทั่วไปและเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่มักจะพบในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ในขณะเดียวกันความโดดเดี่ยวก็มีด้านมืดที่ทุกคนควรพึงระวังด้วยเช่นกัน โดยความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นจะส่งผลเสียอย่างมากต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของเรา


จากการศึกษาวิจัยพบว่าความโดดเดี่ยวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น เช่น โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Health Psychology พบว่าผู้ที่รายงานว่ารู้สึกโดดเดี่ยวมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 26% ที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 32% ที่จะเป็นโรควิตกกังวล นอกจากนี้ความโดดเดี่ยวยังมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพร่างกาย รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงอายุขัยที่สั้นลง การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Heart พบว่าผู้ที่รายงานว่ารู้สึกโดดเดี่ยวมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 29% ในการเกิดโรคหัวใจ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 32% ที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม


จะเห็นได้ว่าผลกระทบด้านลบของความโดดเดี่ยวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลสนับสนุนข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อาจมีความเปราะบางต่อการถูกแยกตัวทางสังคมเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสูญเสียคนรักหรือบุคคลสำคัญในชีวิต รวมถึงมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Aging and Mental Health พบว่าผู้สูงอายุที่รายงานว่าตนเองรู้สึกโดดเดี่ยวมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 59% ที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รายงานว่ารู้สึกโดดเดี่ยว


โดยรวมแล้วสิ่งสำคัญคือการตระหนักถึงผลกระทบของความโดดเดี่ยวและหาทางเพื่อจัดการกับความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากสังคมหรือคนรอบข้าง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม หรือการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเมื่อความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเรา


ถึงแม้ว่าความโดดเดี่ยวจะเป็นประสบการณ์ที่คนส่วนมากพบได้บ่อยและถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือควรหาทางเพื่อป้องกันหรือรับมือกับความโดดเดี่ยวที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังหรือน่ากังวลมากขั้น โดยวิธีที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับความโดดเดี่ยวมีดังนี้

1. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ

การอยู่ท่ามกลางเพื่อน ๆ หรือสมาชิกในครอบครัวที่ให้กำลังใจเรา สามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ สิ่งสำคัญคือต้องพยายามรักษาและกระชับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ไว้ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ จากการทำกิจกรรมที่สนใจหรือกลุ่มที่มีความสนใจเหมือนกันกับตนเอง


2. มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม

การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การเป็นอาสาสมัคร การเข้าร่วมชมรม หรือการเข้าชั้นเรียน สามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ อย่างน้อยหากคุณไม่ได้ออกไปไหน ลองเข้าร่วมกิจกรรมทางออนไลน์บ้างก็ช่วยบรรเทาได้เช่นกัน แม้จะไม่เท่าการออกไปพบหน้าคนอื่น ๆ ก็ตาม


3. ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง

การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจสามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้โดยการเพิ่มความรู้สึกการเป็นอยู่ที่ดีและเพิ่มความรู้สึกการมีคุณค่าในตนเอง ซึ่งสามารถทำได้โดยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหาเวลาส่วนตัวเพื่อผ่อนคลายหรือคลายเครียด


4. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

หากความรู้สึกโดดเดี่ยวยังคงอยู่หรือก่อให้เกิดความไม่สบายใจมากเกินไป การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษา จะสามารถช่วยให้เราพบสาเหตุที่แท้จริงของความรู้สึกโดดเดี่ยวและหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นได้


หากคุณต้องการความช่วยเหลือและพูดคุยในเรื่องนี้ นัดหมายเพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้ >> ที่นี่


สิ่งสำคัญที่สุดคือการตระหนักเมื่อความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็นปัญหาต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของเรา จึงควรหาทางเพื่อป้องกันหรือรับมืออย่างเหมาะสม โดยอาจขอการสนับสนุนทางสังคม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม ฝึกฝนการดูแลตนเอง และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหากจำเป็น จะทำให้สามารถจัดการกับความรู้สึกโดดเดี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับปรุงสุขภาวะของเราให้ดียิ่งขึ้น


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 


 สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8 


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

แปลและเรียบเรียงโดย

บัวบูชา นาคลักษณ์ (นกยูง) นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page