6 วิธีเสริมสร้างความเข้าใจ ให้คนต่างวัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ในช่วงสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดเช่นนี้ คุณผู้อ่านส่วนใหญ่คงได้ทำงานแบบ Work From Home กันอยู่ใช่ไหมคะ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันเอง และจากการสอบถามคนรู้จัก ก็ได้ข้อสรุปตรงกันข้อหนึ่งว่า ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการ Work From Home ก็คือ ความวุ่นวาย จากการอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวคนละวัย ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยได้เจอกัน หรือเจอกันแค่วันหยุด ก็ดูจะไม่ค่อยมีปัญหากันเท่าไหร่ แต่พอต้อง Work From Home ประกอบกับสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาด ทำให้แต่ละคนในบ้านต้องอยู่ร่วมกันแบบ 24/7 คือ 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ความบันเทิงจึงเกิดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ – แม่ Gen Baby Boomers ที่จู้จี้จุกจิกกับลูกที่กำลังอยู่ในวัยทำงาน Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen X ตอนต้น และคนช่วงวัย Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen X ตอนต้น ก็ต้องไปรับมือกับการโดนป่วนจากลูกหรือหลาน Gen Z หรือ Alfa Gen ไปอีก ทาง iStrong ได้เห็นถึงภาระอันใหญ่หลวงของคนวัยทำงานที่ทั้งต้อง Work From Home และต้องรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวทุกวัย ดิฉันจึงได้รับมอบหมายในการหาข้อมูล/คำแนะนำจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ในการเสนอ “6 วิธีเสริมสร้างความเข้าใจให้คนต่างวัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
1. ลดอคติที่มีต่อช่วงวัยอื่น
เป็นปกติที่คนแต่ละช่วงวัยจะมีประสบการณ์ในชีวิตและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาก็แตกต่างกันด้วย จึงไม่แปลกเลยค่ะที่เราซึ่งเป็น Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen X ตอนต้น มักจะรู้สึกขัดใจเวลาเห็นพ่อ – แม่ของเราที่อยู่ใน Gen Baby Boomers มักจะเชื่อ Fake News ที่ส่งต่อกันมาใน Line แถมเป็นคนแชร์ Fake News นั้นต่อไปอีก หรือหงุดหงิดใจกับวิธีเลี้ยงดูลูกของเราที่อยู่ใน Gen Z หรือ Alfa Gen ในช่วงที่เรา Work From Home คนละแบบกับเรา หรือความช่างซักช่างถาม หรือการเรียกร้องความสนใจตามพัฒนาการของเด็ก Gen Z หรือ Alfa Gen ที่อาจมารบกวนสมาธิของเราในช่วง Work From Home ก็เป็นปัญหากวนใจพอสมควรเลยละค่ะ ดังนั้น วิธีรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวข้อแรก ก็คือ การลดอคติที่เรามีต่อคนต่างช่วงวัย โดยพูดคุย และรับฟังเหตุผลของกันและกันมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินคนในครอบครัวของเราว่าน่าเบื่อ น่ารำคาญค่ะ ดิฉันเชื่อว่าถ้าเราพูดคุยกันมากขึ้น อคติที่เป็นกำแพงกั้นในใจเราจะสามารถลดลง และทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้นแน่นอนค่ะ
2. พูดให้น้อย ฟังให้มาก
ต้นเหตุของปัญหาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวสาเหตุหนึ่งที่งานศึกษาทางจิตวิทยาค้นพบ ก็คือ การพูดเรื่องของตัวเองมากกว่ารับฟังเรื่องของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัวเลยค่ะ พอเราอยู่ด้วยกันมาตลอดชีวิตของเรา เราก็รู้สึกว่าคนในครอบครัวเป็นของตาย ถึงไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง ก็ยังอยู่บ้านเดียวกัน ต่อให้ทะเลาะกัน ผิดใจกัน ก็ยังเป็นพ่อ – แม่ เป็นพี่ – น้อง เป็น พ่อ – แม่ – ลูกกันอยู่ และ ความเฉยชานี้เองละค่ะที่เป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว รวมถึงบั่นทอนสุขภาพจิตของคนในครอบครัวทำให้เป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด หรือเป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นซึ่งอยู่ใน Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen Z ตอนต้น ติดยาเสพติด หนีออกจากบ้าน มั่วสุมทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น ดังนั้น วิธีรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การรับฟังคนในครอบครัวให้มากขึ้น และพูดบ่น หรือใช้คำพูดทางลบต่อกันให้น้อยลงค่ะ
3. เปิดใจให้กว้าง ลองมองจากมุมของอีกฝ่าย
วิธีรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่นักจิตวิทยาแนะนำวิธีต่อไป ก็คือ การลองสมมุติว่าตัวเองเป็นอีกฝ่าย แล้วเราจะมีความรู้สึกอย่างไร จะตัดสินใจแตกต่างจากเขาหรือไม่ เช่น หากคุณกำลังรู้สึกว่าถูกรบกวนโดยคุณแม่ Gen Baby Boomers ที่มักใช้ให้เราทำนู้นทำนี้ ประหนึ่งว่าเราลาพักผ่อน ทั้งที่จริงเรากำลัง Work From Home หากมองในมุมของแม่ แม่ก็แค่อยากใช้เวลาอยู่กับเรา อยากให้เราทำกิจกรรมร่วมกับท่านก็เท่านั้นเองค่ะ หรือลูกตัวน้อย Alfa Gen ที่ตามติดชีวิตแม่ไม่ยอมห่าง นั่นไม่ใช่เพราะเขาเอาแต่ใจ แต่เป็นเพราะเขาดีใจที่แม่อยู่บ้านทุกวันค่ะ เพราะฉะนั้นแล้ว หากเราเปิดใจให้กว้าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองในมุมของอีกฝ่ายดูบ้าง เราจะเข้าใจ และรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวได้ดีขึ้นค่ะ
4. อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง
เมื่อคนเราหลาย ๆ คนมาอยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องปกติค่ะที่เราจะมีความเห็นที่แตกต่างในบางเรื่อง ขนาดคนที่เป็น Generation เดียวกัน เป็นแฝดกัน ยังคิดไม่เหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับคนในครอบครัวที่มีหลากหลาย Generation ดังนั้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเอาไว้ นักจิตวิทยาจึงได้แนะนำว่า ขอให้สงบจิตสงบใจไม่ตอบโต้อีกฝ่ายด้วยคำพูดหรือการกระทำใด ๆ ก็ตามในความคิดเห็นที่เราไม่ถูกใจ และหากเป็นไปได้ การเลือกที่จะไม่สนทนาหรือเปิดประเด็นที่เปราะบางและง่ายต่อการขัดแย้งกันจะดีมากค่ะ เช่น การเมือง ศาสนา สถาบัน เรื่องเหล่านี้อย่าได้นำมาเป็นหัวข้อชวนทะเลาะในบ้านเลยค่ะ บอกเลยว่ายาว และลงข่าหน้าหนึ่งมาก็เยอะแล้ว
5. ห่างกันสักพัก
หากการลดอคติ การรับฟังให้มากขึ้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และความอดทนไม่ทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น ตัวช่วยต่อไปที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การห่างกันสักพักค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะออกจากบ้านไม่ได้เพราะสถานการณ์ COVID-19 แต่เราก็สามารถหาพื้นที่ที่เป็น Safe Zone ของเราได้เพื่อหลบพายุอารมณ์ของคนในบ้าน หรือเพื่อทำให้ความร้อนของหัวเย็นลง ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ระเบียงบ้าน สวนหน้าบ้าน เอาเป็นว่า หากสามารถจัดพื้นที่ให้เราอยู่คนเดียวได้ก็จะดีต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของเราค่ะ แต่ถ้าหากในกรณีที่บ้านมีพื้นที่จำกัด ก็ขอแนะนำให้ใช้กิจกรรมช่วยในการแยกเรา ออกจากคนอื่นเพื่อพักใจ เช่น การดูซีรี่ย์ การเล่นเกม การอ่านหนังสือ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้เรามีพื้นที่ว่างให้ตัวเองได้ค่ะ
6. คิดถึงความสัมพันธ์ดี ๆ ที่มีให้กัน
มาถึงวิธีสุดท้ายที่จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น ก็คือ การนึกถึงวันวานยังหวานอยู่ของเรากับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นวันที่เราป่วยไข้ ที่พ่อ – แม่ มาดูแล วันที่ลูกกอด หอม บอกรักอย่างใสซื่อ วันที่พี่ – น้องให้ความช่วยเหลือเรา อยู่เคียงข้างเราในวันที่ลำบาก และวันที่สามี – ภรรยา พิสูจน์แล้วว่าเป็นคู่ชีวิตที่แท้จริง ไม่ว่าเราจะตกต่ำ หรือเติบโต เขาก็จะอยู่เคียงข้างเราเสมอ สิ่งเตือนใจเหล่านี้ ขอให้คุณระลึกถึงในวันที่เรารู้สึกไม่ดีต่อคนในครอบครัว แล้วจะช่วยให้เราใจเย็นลง มีสติมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ทุกคนก็คือครอบครัวของเราค่ะ
บทความแนะนำ “คู่มือพาคู่รักจับมือกันฝ่าวิกฤตความสัมพันธ์ช่วงกักตัว”
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Commentaires