top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 เทคนิคจิตวิทยา สร้างการยอมรับ LGBTQ ในที่ทำงาน


"Pride Month​ ไม่ใช่แค่เพียงความแตกต่างทางเพศเท่านั้น​ รวมถึง​ความแตกต่างทางความคิด​ การเมือง​ ความคิดเห็น​ เราแตกต่างกันได้แต่อย่าทะเลาะ​ อย่าเกลียดชัง​ เข้าใจซึ่งกันและกัน​ ร่วมมือ​ แล้วเราจะเดินร่วมกันได้​ อย่าลืมว่าสังคมเราไม่ได้มีแค่ 0 กับ 1 (ไบนารี) Pride หมายถึง ความภาคภูมิใจความหลากหลายของสังคมประชาธิปไตย​ เพราะฉะนั้น จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน​ตาม​หลักของประชาธิปไตย​ โดยไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง​"

คำกล่าวของผู้ว่าราชการที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้กล่าวเปิดงาน Bangkok Naruemit Pride Parade 2022 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565


จากคำกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงพลัง และทิศทางการสร้างการยอมรับของความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ที่ดูสดใส เปิดกว้าง และมีความหวัง แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้ผู้คนส่วนใหญ่จะแสดงออกว่าเปิดกว้างและมีการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้นก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ เราจะรับรู้ได้อย่างชัดเจนเลยค่ะ ว่าที่ทำงานหลายที่ยังคงปิดกั้นเรื่องการแสดงออกทางเพศตามเพศสภาพ หรือ Gender ทั้งเรื่องการแต่งกาย ที่ยังต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด การแต่งหน้า หรือแม้แต่การแสดงออก ซึ่งสร้างความเครียด ความอึดอัด ความกดดันอย่างมากต่อตัวบุคคล และจะส่งผลต่อสุขภาพจิต และความสุขในการทำงานตามมา


ด้วยความห่วงใยถึงทุกท่าน ดิฉันเองขอส่งเสียงในนามผู้ที่สนับสนุนการแสดงออกตามเพศสภาพอย่างภาคภูมิใจ และความเท่าเทียมทางเพศ ขอส่งสารถึงหน่วยงาน องค์การ และบริษัทต่าง ๆ ในการสร้างการยอมรับเรื่องเพศสภาพในที่ทำงาน ตามเทคนิคจิตวิทยา ดังนี้ค่ะ


1. หน่วยงานไม่ควรบังคับให้บุคลากรอยู่ภายใต้ “ความเป็นหญิง” หรือ “ความเป็นชาย”

โดยการไม่กำหนดเครื่องแต่งกายตามเพศกำเนิด เช่น ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น ผู้ชายต้องใส่กางเกง ใส่เชิ้ตสุภาพเท่านั้น หรือจำกัดทรงผม หรือห้ามตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับตามเพศสภาพ เป็นต้น หรือในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในการทำงาน หรือการสร้างสรรค์ผลงาน ควรทำได้อย่างเปิดกว้าง ไม่ควรจำกัดด้วยความเป็นหญิง หรือชาย เพราะโลกนี้หลากหลายเกินกว่าที่เราจะจำกัดให้อยู่แค่ 1 หรือ 2 เท่านั้นค่ะ


2. หน่วยงานต้องสร้าง “ความเท่าเทียมทางเพศ”

โดยการสนับสนุนบุคลากรในทุก ๆ ด้านอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน ด้านการพัฒนาตนเอง ด้านคุณภาพชีวิตส่วนตัว โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือสร้างข้อจำกัดว่าสามารถทำได้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เพราะในยุคสมัยนี้ที่ทุกคน “เท่าเทียมกัน” สามารถทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น ทุกวันนี้เพศหญิงก็สามารถขับเครื่องบินรบได้ เพศชายสามารถแต่งหน้า ตัดเย็บเสื้อผ้าได้อย่างสวยมาก นั่นแสดงให้เห็นว่า เพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัดที่เราจะลงมือทำในสิ่งที่เราชอบ ในสิ่งที่เรารัก ขอเพียงเปิดโอกาสให้ได้ลงมือทำองค์การ/หน่วยงานอาจได้ดาวดวงใหม่ในการเปิดสายงานที่โดดเด่นและแตกต่างก็ได้ค่ะ


3. ต้องมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบ นโยบายที่ยืดหยุ่น เหมาะสมต่อเพศสภาพที่หลากหลาย

แม้ว่าองค์การ/หน่วยงาน จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์การ/หน่วยงานให้รองรับต่อความหลากหลายทางเพศสภาพได้อย่างทันที ก็สามารถเริ่มต้นโดยการปรับเปลี่ยนกฎ ระเบียบ นโยบายที่ยืดหยุ่น เหมาะสมเพื่อให้รองรับความหลากหลายทางเพศของบุคลากรขององค์การ/หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมกำลังใจในการทำงาน ลดความเครียด ลดความกดดัน และส่งเสริมสุขภาพจิตให้แก่บุคลากร ซึ่งเป็นจิตวิทยาหนึ่งในการสร้างความพึงพอใจในการทำงาน และสร้างความภาคภูมิใจในการทำงาน และสร้างความสุขในการทำงานให้แก่บุคลากรค่ะ


4. ประเมินผลที่ “ความสามารถ” ไม่ใช่ “การแสดงออกทางเพศ”

ในการตั้งเกณฑ์การประเมินผล โดยพิจารณาที่ “ความสามารถ” เช่น ผลการปฏิบัติงานความพึงพอใจของผู้รับบริการ รางวัลที่ได้รับ มากกว่าการแสดงออกว่าเขาแต่งตัวแบบไหน แต่งหน้ามาทำงานหรือไม่ มีรอยสัก เจาะ หรือนอกเวลางานเขาไปเที่ยวที่ไหน เพราะนอกเวลางานคือเวลาส่วนตัวที่เขามีสิทธิ มีอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ ดังนั้น เมื่อองค์การ/หน่วยงานต้องการประเมินผลการทำงานของบุคคล ก็มุ่งไปที่เวลางาน และผลสัมฤทธิ์ในการทำงานอย่างชัดเจนค่ะ


5. สนับสนุนให้บุคลากรภาคภูมิใจในตนเอง

โดยการเปิดโอกาส หรือจัดกิจกรรมที่สร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่บุคลากร เช่น การประกวดผลงานสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้บุคลากรนำเสนอผลงานตามแบบฉบับของตนเอง การโหวตขวัญใจองค์การ/หน่วยงาน เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน มีความสนุกในการทำงาน และมีความภาคภูมิใจที่จะเป็นตัวของตนเอง และกล้าเปิดเผยตนเองอย่างสง่างามค่ะ


6. ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจในความแตกต่าง

นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับระหว่างบุคคลแล้ว ยังเป็นการละลายพฤติกรรม สร้างความสนิทสนมตามเทคนิคจิตวิทยา โดยไม่ต้องบังคับหรือยัดเยียด เช่น การแข่งกีฬาสีในองค์การ/หน่วยงาน การสัมมนาต่างจังหวัด การออกทริปร่วมกันของบุคลากร การลงพื้นที่ทำ CSR ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะส่งผลดีต่อบุคลากรให้รู้จักกัน สนิทสนมกันมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อองค์การ/หน่วยงาน ในการสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งอีกด้วยละค่ะ


7. เชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากร และเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความสามารถ

องค์การ/หน่วยงาน ควรมีการเปิดเวที หรือเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความสามารถของตนเอง โดยไม่จำกัดด้วยเพศ หรือข้อจำกัดใด ๆ เช่น มอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของบุคลากร ลดข้อจำกัดในการทำงาน สนับสนุนการทำงานของบุคลากรอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้บุคลากรเกิดการรับรู้ว่าองค์การ/หน่วยงานมีการยอมรับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ


เนื่องในโอกาสของ Pride Month หรือเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ ดิฉันก็ขอเป็นกำลังใจ และอวยพรให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในการเป็นตัวของตัวเองนะคะ และไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน เราทุกคน “เท่าเทียมกัน” ค่ะ หวังว่าข้อแนะนำข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านและองค์การ/หน่วยงาน ในการสร้างการยอมรับในองค์การ/หน่วยงานนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

[1] สถานการณ์อคติทางเพศ และ 5 คำแนะนำปลูกฝังความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว (https://www.istrong.co/single-post/equality)

[2] 4 วิธีปลูกฝังความเท่าเทียม หยุดการ bullying ในวัยเด็ก (https://www.istrong.co/single-post/equality-can-stop-bullying)

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page