จิตวิทยาความสิ้นหวัง
“ชีวิตที่ถูกสอนว่า .. หมดหนทาง”
ทางจิตวิทยามักจับสัตว์มาทดลองซึ่งแวนก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการทดลองเหล่านั้น เช่นในปี 1967 Martin Seligman เจ้าพ่อวงการจิตวิทยาเชิงบวก และคณะได้ค้นพบ ความสิ้นหวังอันเกิดจากประสบการณ์ชีวิต หรือ Learned Helplessness โดยบังเอิญค่ะ พวกเขานำสุนัขมาแยกเป็นสามกลุ่ม แล้วนำทุกกลุ่มไปขังเพื่อทดลอง กลุ่มแรก ถูกขังได้ระยะหนึ่งแล้วจึงปล่อยออกมา กลุ่มที่สอง ในกรงขังมีไฟฟ้าช็อต แต่พวกมันสามารถหยุดไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองโดยการกดคาน กลุ่มที่สาม ในกรงขังมีไฟฟ้าช็อต แต่การกดคาน ไม่ช่วยให้หยุดไฟฟ้าที่ช็อตได้
สุนัขกลุ่มที่สามซึ่งไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองหรือหลบหนีออกไปจากกรง เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง พวกมันจะยอมจำนน และไม่คิดจะต่อสู้ใดๆ อีก ทำได้เพียงแค่ยอมให้ถูกไฟฟ้าช็อตต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงต่อมา แม้พวกมันจะถูกปล่อยออกมาแล้วก็ตาม คือ พวกมันเกิดอาการซึมเศร้าถาวร ความสิ้นหวังปรากฏออกมาที่การทดลองชุดที่สอง พวกมันถูกจับใส่กล่องที่มีกระแสไฟฟ้าช็อตเช่นเคย แต่ทางหนีมีง่ายมากค่ะ เพียงแค่พวกมันกระโดดข้ามรั้วเตี้ยๆ ไปอีกฝั่งของกล่อง ซึ่งสุนัขในกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองสามารถเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา กระโดดหนีเอาตัวรอดออกไปได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่สุนัขกลุ่มที่สามกลับอยู่นิ่งและไม่คิดจะหาทางหนีตามสัญชาตญาณ หรือคิดแก้ปัญหาใดๆ เลย การทดลองนี้ฉายภาพให้เห็นว่าแม้แต่มนุษย์เอง .. การไร้ความหวัง มุมมองที่เชื่อว่าไม่มีทางออกและการไม่คิดช่วยเหลือตัวเองมักเกิดจากประสบการณ์ในอดีต สำหรับบางคน ชีวิตเจอมาหนักจริงๆ ค่ะ อดีตอันเจ็บปวดที่ตัวเองตกเป็นเหยื่อ ตกเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไร้หนทางหนี สร้างให้คนบางคน เรียนรู้ว่าชีวิตนี้ไม่มีทางออก เป็นเหตุให้หลายๆ คน เอาแต่ก้มหน้าก้มตา บ่นว่าโชคชะตา โอดครวญชีวิตบัดซบ ไม่คิดจะช่วยเหลือตัวเอง ไม่ยอมปรับปรุงตัว ไม่พัฒนาผลงาน ไปจนถึงการเป็นโรคซึมเศร้า โดยพวกเขาหารู้ไม่ว่า ตัวเองถูกหลอกโดยอดีตของพวกเขาเอง เมื่อเปลี่ยนเหตุปัจจัยในปัจจุบันก็จะส่งผลต่ออนาคตค่ะ ตรรกะที่ใครๆ ก็รู้ เริ่มที่เปลี่ยนมุมมองก่อนเลย “หมดทางสู้” หรือ “หมดทางถอย” คุณเลือกได้เองค่ะ
นักจิตวิทยาผู้ใช้ Positive Psychology
พัฒนาความสตรองให้กับผู้คน
Comments