top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำไมถึง “เบื่อ”? ชวนคุณทำความเข้าใจเรื่องความเบื่อเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน



ความเบื่อ (Boredom) เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็น่าจะเคยเกิดความเบื่อขึ้นมาอย่างน้อยก็ต้องสักครั้งหนึ่งในชีวิตจนอาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาสามัญของชีวิตคนเรา ในอีกแง่..ความเบื่อก็เป็นตัวชี้วัดได้เหมือนกันว่าชีวิตในเวลานี้มันไม่มีอะไรที่ชวนให้อยากเข้าไปมีส่วนร่วมหรือทำแล้วช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตมันมีคุณค่าความหมายซึ่งหลาย ๆ ครั้งมันก็เป็นสัญญาณที่เข้ามาเตือนว่า “ชีวิตควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว” 


ความเบื่อในมุมมองของนักจิตบำบัดเกิดขึ้นมาจากอะไรได้บ้าง?

หากมองแบบผิวเผินก็คงบอกสาเหตุของความเบื่อได้ไม่ยาก เช่น เบื่อเพราะต้องเจอแต่อะไรที่ซ้ำซากทุกวัน เบื่อเพราะไม่มีอะไรให้ทำ แต่ในบางครั้งความเบื่อมันก็เกิดขึ้นมาอย่างที่พยายามคิดหาสาเหตุยังไงก็คิดไม่ออก  มีความเบื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง (Chronic Boredom) ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่หายเบื่อได้สักที ซึ่งความเบื่อเรื้อรังเช่นนี้ได้มีนักจิตบำบัดบางท่านที่กล่าวว่าความเบื่อมันมีเบื้องหลังที่ลึกลงไปและเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจของบุคคล ดังนี้


1. ความเบื่อที่มาจากการทำงานของจิตใจเพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดจากเหตุการณ์ในชีวิต

ในบางครั้งความเบื่อก็เป็นผลทางอ้อมจากการทำงานของจิตใจเพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดจากเหตุการณ์ในชีวิต บาดแผลทางใจที่เกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Childhood traumatic and adverse experiences) เช่น ตอนเด็ก ๆ เคยอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยหรือมีการใช้ความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัว บรรยากาศเช่นนี้จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกิดอารมณ์ที่ท่วมท้นไปหมดโดยเฉพาะความโกรธและความกลัว เด็กที่ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือก็จะมีการป้องกันตัวเองจากอารมณ์ที่เจ็บปวดซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตใจโดยผลก็คือเด็กจะปิดรับทุกอารมณ์ไม่ว่าจะทางลบหรือทางบวก ผลจากการปิดกั้นทุกอารมณ์เช่นนี้มักทำให้เกิดความเบื่อขึ้นตามมาเพราะการปิดกั้นทางอารมณ์จะทำให้ไม่รู้สึกอะไรต่อสิ่งที่ทำไม่ว่าจะเศร้า โกรธ กลัว ขยะแขยง สนุกสนาน ตื่นเต้น หรือแม้แต่ความรู้สึกทางเพศ ซึ่งวิธีการแก้ไขก็คือค่อย ๆ หาทางเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองโดยเริ่มต้นจากการเชื่องโยงกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย


2. ความเบื่อที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าบุคคลกำลังได้รับแรงกระตุ้นน้อยเกินไป

บางครั้งความเบื่อก็เป็นสิ่งที่เข้ามาบอกกับคนเราว่าควรที่จะหาอะไรที่น่าสนใจหรือแปลกใหม่ให้กับชีวิตบ้างได้แล้ว วิธีการแก้ไขก็คือลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ตัวเองได้รู้สึกท้าทายกับมัน


3. ความเบื่อที่เกิดจากการตัดความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับความต้องการของตัวเอง

เวลาที่คนเราเชื่อมโยงตัวเองกับความต้องการที่มีโดยเฉพาะความต้องการที่รู้แก่ใจดีว่าตัวเองไม่สามารถได้มันมาตามที่ใจต้องการมักจะทำให้รู้สึกเจ็บปวด 


4. ในบางคนความเบื่ออาจจะมาจากทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นรวมกัน

บางทีความทุกข์ก็เกิดขึ้นจากการที่อยากจะดิ่งเดี่ยวจดจ่อกับอะไรบางอย่างแต่ว่าทำไม่ได้ ในความเบื่อจึงมีความกังวลผสมอยู่ด้วยโดยที่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และไม่สามารถที่จะไปเข้าร่วมทำกิจกรรมอะไรได้เพราะจิตใจไม่สามารถที่จะจดจ่อกับอะไรได้เลย 


อย่างไรก็ตาม ข้อดีของความเบื่อก็คือมันมักจะเป็นตัวที่พาให้ชีวิตไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยเมื่อคนเราเบื่อก็จะเริ่มหาไอเดียใหม่ ๆ หันมาสะท้อนทบทวนตัวเอง และเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะในจุดหนึ่งที่คนเราเริ่มจะทนกับความเบื่อไม่ไหวอีกต่อไปแล้วก็จะเริ่มพยายามหาอะไรแปลกใหม่ให้กับตัวเอง ส่วนวิธีการที่จะทำให้ความเบื่อมันหายไปนั้นก็มีวิธีอยู่มากมายหลากหลาย เช่น

- บรรเทาความเบื่อผ่านการตระหนักรู้ (Awareness) แทนที่จะปล่อยตัวเองให้จมไปกับความเบื่อ หรือใช้วิธีการแก้เบื่ออย่างไม่เหมาะสม เช่น ใช้สารเสพติดเป็นตัวช่วยในการหนีปัญหาที่มีแต่จะทำให้ตัวเองแย่ลง (self-destructive) ก็หันมาทบทวนผ่านการคุยกับตัวเองเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่มันมีประสิทธิภาพและดีกับตัวเอง

- ในสถานการณ์ที่คุณควบคุมอะไรไม่ได้ การทำสมาธิ (Meditation) จะช่วยให้คุณมีความเบื่อน้อยลง 

- หากคุณมีความเบื่อเกิดขึ้นกับเรื่องงาน การตั้งเป้าหมายที่ยากขึ้นและต้องใช้ความสามารถมากขึ้นในการทำงานก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกท้าทายและลดความเบื่อที่เกิดขึ้นจากงานได้ 


นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการแก้ความเบื่ออยู่อีกมากมายซึ่งโดยมากแล้วก็จะเป็นการหาอะไรที่แปลกใหม่และท้าทายให้กับตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากคุณได้ลองทำมาหลายวิธีแล้วแต่ก็ยังเกิดความเบื่ออยู่ โดยความเบื่อเริ่มจะพัฒนาไปเป็นความรู้สึกหดหู่ ไม่ยินดียินร้าย ไม่อยากแม้แต่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป มันก็อาจจะเป็นความเบื่อที่มาจากปัญหาสุขภาพจิตซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ โดยเฉพาะเมื่อคุณเบื่อจนอยากจะจบชีวิตลงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยด่วน

  

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Dead Inside : มีวิธีฟื้นฟูอย่างไรจากภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก. https://www.istrong.co/single-post/dead-inside


อ้างอิง:

[1] Boredom as a Symptom. Retrieved from https://www.nami.org/recovery/boredom-as-a-symptom/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page