เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติด้วยแนวคิด “I’m OK, You’re OK”
หากคุณคือคนหนึ่งที่เคยเป็น “คนนั้น” ในสายตาของคนอื่น และอาจจะมี “คนนั้น” ในสายตาของตัวเองด้วยเหมือนกัน ผู้เขียนอยากบอกว่าปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในสภาพแวดล้อมที่ toxic เพราะเบื้องหลังของสภาพแวดล้อมที่ toxic มักเกิดจากแนวคิดที่ไม่เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติและมันยังเป็นแนวคิดที่ทำให้สุขภาพจิตของทุกคนถูกบั่นทอนลงไปอีกด้วย ตัวอย่างการของแนวคิดที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ “I’m OK, You’re not OK” “I’m not OK, You’re OK” และ “I’m not OK, You’re not OK” ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากหยิบยกแนวคิดที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติคือ “I’m OK, You’re OK”
ทำความรู้จักกับแนวคิด “I’m OK, You’re OK” แบบคร่าว ๆ
“I’m OK, You’re OK” เป็นวลีจากหนังสือของ Dr. Thomas A. Harris ที่มีชื่อว่า “I’m OK – You’re OK” ซึ่งมีเนื้อหาที่อ้างอิงมาจากทฤษฎีวิเคราะห์การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Transactional Analysis: TA) ของ Dr. Eric Berne โดยพัฒนาจากแนวคิดเรื่องสภาวะบุคลิกภาพ (ego states) ซึ่งเป็นที่มาของรูปแบบการสื่อสารระหว่างบุคคลโดยมีด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบพ่อแม่ (parent) แบบผู้ใหญ่ (adult) และแบบเด็ก (child) รวมถึงแนวคิดเรื่อง “Games People Play” ซึ่งว่าด้วยวิธีที่แต่ละคนใช้สื่อสารปฏิสัมพันธ์ต่อกัน แม้ว่าหนังสือของ Dr. Thomas A. Harris จะเป็นหนังสือประเภท Self-help ที่ขายดีในยุค 60s จนถึง 70s แต่เนื้อหาในหลายมิติก็ไม่ได้ล้าสมัยและยังคงถูกหยิบยกนำมาใช้อธิบายในคลาสจิตวิทยารวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพจนถึงปัจจุบัน
คุณมีจุดยืนแห่งชีวิตแบบไหน?
จุดยืนแห่งชีวิต (Life Positions) หมายถึงทัศนคติที่มีต่อผู้คนที่ได้ประสบพบเจอหรือเผชิญหน้า โดยมีด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่
1. I’m OK, You’re OK
เป็นทัศนคติที่มองตนเองและผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้มองว่าตัวเองเหนือกว่าหรือด้อยกว่าคนอื่น ทำให้สามารถยอมรับความแตกต่างของคนอื่นได้แม้ในบางครั้งตัวเองไม่ได้รู้สึกเห็นด้วย ทัศนคติเช่นนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกมีความสุขและส่งเสริมทักษะการกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม (assertive) เป็นจุดยืนแห่งชีวิตที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากที่สุด
2. I’m OK, You’re not OK
มองว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ทัศนคติแบบนี้มักนำไปสู่อารมณ์โกรธและก้าวร้าวเพราะมองว่าคนอื่นไม่สมบูรณ์แบบเท่าตัวเอง การต้องอยู่กับคนแบบนี้นาน ๆ อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ใช่ซี้..ไม่มีใครดีไปกว่าพี่และแม่ของพี่แล้วค่ะ” การมีจุดยืนแห่งชีวิตแบบนี้จึงมักนำไปสู่บรรยากาศการอยู่ร่วมกันแบบ toxic
3. I’m not OK, You’re OK
มองว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ทัศนคติแบบนี้มักนำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ (helpless) และเฉื่อยชา (passive) คนที่มีจุดยืนแห่งชีวิตแบบนี้ลึกลงไปแล้วอาจมีความภาคภูมิใจในตนเองน้อย (Low Self-esteem) มีลักษณะยอมตามคนอื่นไปหมด (People Pleaser) ผลคืออาจจะกลายเป็นคนที่อมทุกข์หรือมักจะซ่อนความขุ่นเคืองเอาไว้ในใจ รวมถึงอาจจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเพราะมักจะกลัวหรือหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
4. I’m not OK, You’re not OK
เป็นจุดยืนแห่งชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพจิตน้อยที่สุด ทัศนคติแบบนี้มักนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวัง (hopeless) และมีพฤติกรรมแบบ “Passive-Aggressive” เช่น ดื้อเงียบ ร้ายลึก ไม่พอใจก็จะไม่บอกตรง ๆ แต่จะใช้ท่าทีแบบอ้อม ๆ เช่น ประชดประชัน พูดเสียดสีแดกดัน ปิดประตูเสียงดัง และคนที่มีจุดยืนแห่งชีวิตแบบนี้อาจจะชอบพูดว่า “ไม่มีหวังแล้ว” “เราทำมันไม่ได้หรอก” “มันจบ(เห่)แล้ว”
การส่งเสริมให้เด็กมีจุดยืนแห่งชีวิตแบบ I’m OK, You’re OK
Gordon Neufeld นักจิตวิทยาชาวแคนาเดียนได้กล่าวถึงวิธีการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเอง “มากไป” (ควบคุมไม่ได้ เจ้าอารมณ์) หรือ “น้อยไป” (ไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของพ่อแม่ได้)
โดยวิธีการส่งเสริมให้เด็กมีจุดยืนแห่งชีวิตแบบ I’m OK, You’re OK ยกตัวอย่างเช่น
พ่อแม่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ทำความเข้าใจความต้องการของลูกโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องตอบสนองความต้องการของลูกทุกอย่าง ให้ความเมตตาต่อลูก รับฟังสิ่งที่ลูกพูดโดยคิดว่าเด็ก ๆ มีสิทธิ์ที่จะพูดออกมาแม้ว่าเขาจะพูดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม
เป็นพ่อแม่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ลูกไม่ได้ต้องการพ่อแม่ที่เพอร์เฟคแต่ลูกต้องการพ่อแม่ที่สงบและแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องที่แก้ไขได้
รับรู้ความต้องการของตัวเองและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เช่น เศร้า อารมณ์ขึ้น วิตกกังวล เครียด เพื่อจะได้ไม่เอาอารมณ์ของตัวเองไปลงกับลูก
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองเห็นว่าจุดยืนแห่งชีวิตแต่ละแบบอาจมีมิติที่สัมพันธ์กับประวัติในวัยเด็ก ซึ่งในบางคนก็อาจจะสามารถฝึกฝนพัฒนาให้ตัวเองมีทัศนคติแบบ I’m OK, You’re OK ขึ้นในตอนโตได้โดยอาจจะใช้การหมั่นสำรวจทำความเข้าใจตนเองเข้ามาช่วย แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถควบคุมจัดการกับอารมณ์พฤติกรรมได้เลย นำไปสู่ความรู้สึกไม่ชอบตัวเอง เห็นใครก็ขวางหูขวางตาไม่สบอารมณ์ มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ค่ะ
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
1. I'm OK, You're OK. Retrieved from
2. Transactional Analysis. Retrieved from
3. I’m OK, You’re OK, We’re OK. Retrieved
4. I’m OK – You’re OK by Thomas A. Harris. Retrieved
ผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)
มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Comments