top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำไมสุขภาพจิตของหัวหน้าจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าความสามารถในการเป็นผู้นำ


แน่นอนว่าคนที่จะมาทำงานในตำแหน่งหัวหน้าย่อมถูกคาดหวังให้มีความสามารถมากกว่าพนักงานตำแหน่งทั่วไป หากคนที่เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้ามีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงและมีทักษะสูงก็มักจะไม่ค่อยก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในองค์กร แต่ในทางตรงข้ามก็พบว่ามีพนักงานหลายคนที่ประสบปัญหาการทำงานอันเกิดขึ้นจากหัวหน้า ซึ่งปัญหาที่ผู้เขียนได้รับฟังมาบ้างจากคนที่เป็นลูกน้องก็คือหัวหน้างานมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์จนทำให้การทำงานในแต่ละวันเหมือนเดินอยู่ในป่าที่มีกับระเบิดและสุขภาพจิตของลูกน้องก็แย่จนอยากลาออก  อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีมุมมองว่าหัวหน้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มี “ภูเขาน้ำแข็ง” เป็นของตัวเองและมันส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น มีความเครียดกดดันที่ไม่กล้าบอกใคร มีปัญหาส่วนตัวสะสมและยังแก้ไขไม่ได้ หรือมีสภาวะทางจิตเวชที่ไม่ได้ตระหนักรู้จึงทำให้กลายเป็นคน toxic โดยไม่รู้ตัว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวลี “Happy wife, happy life.” ซึ่งอาจจะเอาประยุกต์ได้กับในกรณีการทำงานก็คือ “Happy leader, happy life.” เพราะสุขภาพจิตของหัวหน้ามีอิทธิพลต่อบรรยากาศการทำงาน


หัวหน้าที่มีสุขภาพจิตดีสำคัญอย่างไร?

1. เพื่อแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) คนที่ชีวิตตัวเองกำลังตกอยู่ในปัญหาที่ทำให้มีความเครียด กลัว หรือกังวล มักจะแสดงความเข้าอกเข้าใจออกมาได้ยากเพราะกำลังหมกมุ่นอยู่กับการแก้ไขปัญหาของตัวเองจนไม่สามารถโฟกัสหรือให้ความเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ แต่ความเข้าอกเข้าใจนั้นเป็นคุณลักษณะสำคัญและส่งเสริมการเป็นหัวหน้าที่ดี ซึ่งหัวหน้าที่มีความเข้าอกเข้าใจ

2. เพื่อให้เกิดไหวพริบ การมีไหวพริบต้องอาศัยการสังเกต หัวหน้าที่ไหวพริบดีจะสังเกตเห็นทั้งภาษากายและทัศนคติของคนอื่นทำให้สามารถตอบสนองและปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ แต่คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมักจะหมกมุ่นอยู่กับความคิดและปัญหาของตัวเองทำให้ละเลยไม่ใส่ใจคนอื่นเพราะมองว่ามันไม่สำคัญ

3. เพื่อมาอยู่เคียงข้างลูกน้อง เวลาที่คนเราติดขัดกับปัญหาทางใจ เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ก็มักจะอยากอยู่กับตัวเองจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่ได้มาอยู่เคียงข้างหรือซัพพอร์ตลูกน้องหรือที่แย่ไปกว่านั้นคือหัวหน้ามาทำงานด้วยอารมณ์ที่ไม่ดีตลอดทั้งวัน 


เมื่อไหร่ที่หัวหน้าควรเริ่มหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพจิตของตนเองให้มากขึ้น?

- เริ่มแยกตัวออกจากผู้คน

- ขาดความสนใจแม้แต่กับสิ่งที่เคยชอบหรือเคยเพลิดเพลินกับมัน

- ประสิทธิภาพในการทำงาน แรงจูงใจ และสมาธิลดลง

- มีปัญหาในการตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหา

- มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของอารมณ์ พลังงาน และพฤติกรรมการกินอาหาร

- เริ่มใช้สารเสพติด (รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากขึ้นจากเดิม)


แนวทางในการดูแลใส่ใจสุขภาพจิตของตนเอง

1. อย่าเผชิญปัญหาตามลำพัง หากคุณรู้สึกโดดเดี่ยวตัวคนเดียวแม้จะมีผู้คนรายล้อมอยู่รอบตัวมันจะทำให้คุณยิ่งรู้สึกเปราะบาง ลองหาเวลาและพยายามสร้างความสัมพันธ์กับคนในทีมของคุณ ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนขอเสริมว่าหากคุณยังไม่พร้อมที่จะทำเช่นนั้นก็อาจจะใช้การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตแทนไปก่อน

2. มีเวลาสำหรับตัวเองในแต่ละวัน หาเวลาให้ตัวเองได้ห่างออกจากโต๊ะทำงานบ้าง เช่น เดินออกไปสูดอากาศ ใช้เวลา 2-3 นาทีให้ตัวเองได้รู้สึกปลดปล่อย หากคุณรู้สึกว่างานเยอะเกินไปจนไม่มีเวลาจะทำแบบนั้นก็ให้ลองถามตัวเองว่า “ฉันจะสามารถทำงานแบบนี้ไปได้เรื่อย ๆ จริงเหรอ?” 

3. ทำให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกายมีผลดีต่อสุขภาพจิตมาก หากคุณไม่สามารถเลือกวิธีออกกำลังที่เป็นกิจลักษณะได้ก็อาจจะปรับวิถีในการทำงานให้กลายเป็นการออกกำลังกาย เช่น เดินมากขึ้น 

4. พัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ไม่รู้สึกกลัวการต้องออกจากงาน โดยแนวทางในการพัฒนาตัวเองเพื่อไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ เรียนรู้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ให้ทันยุคสมัย ถามตัวเองว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะกับตำแหน่งหัวหน้าหรือยังถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้ดีอยู่ในตอนนี้แล้วก็ตาม และรักษาเครือข่ายทางสังคมให้เหนียวแน่นซึ่งหากคุณจำเป็นต้องหางานใหม่พวกเขาก็จะเป็นคนที่ช่วยเหลือคุณได้ 

5. อย่าแกล้งทำเป็นว่าทุกอย่างมันโอเค การพยายามซ่อนปัญหาเอาไว้เรื่อย ๆ มันจะส่งผลเสียในระยะยาว แม้ว่าความสามารถในการปรับตัวต่อปัญหาจะเป็นสิ่งที่ดีแต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องพยายามอดทนต่อสู้กับปัญหาด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ และในบางครั้งความสามารถในการปรับตัวต่อปัญหามันก็รวมถึงการรู้ตัวว่าเมื่อไหร่ที่ไม่ไหวแล้ว 


สรุปสุดท้าย แม้ว่าทักษะการทำงานและการเป็นผู้นำจะสำคัญมากต่อการเป็นหน้า แต่หากหัวหน้าเป็นคนทำงานเก่งมากที่สุขภาพจิตไม่ดี อารมณ์แปรปรวน หรือมีพฤติกรรมที่ toxic คนอื่นมากเกินไปก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของลูกน้องตามไปด้วย ดังนั้น แม้จะเป็นหัวหน้าที่มีภาระความรับผิดชอบหนักหนาขนาดไหนก็อย่าลืมตระหนักและใส่ใจสุขภาพจิตของตนเองด้วยนะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] Why Good Mental Health is a Leader’s Best Friend. Retrieved from https://www.thoughtfulleader.com/why-good-mental-health-is-a-leaders-best-friend/

[2] Mental health awareness is a leadership skill. Retrieved from https://intheknow.insead.edu/article/mental-health-awareness-leadership-skill


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 

Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page