top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นอนน้อยไม่เท่ากับโปรดักทีฟ เพราะการอดนอนอาจบั่นทอนสุขภาพจิตของคนเราได้



หลายสังคมมีความเชื่อว่าการทำงานหรืออ่านหนังสืออย่าง “ไม่หลับไม่นอน” เป็นภาพสะท้อนของความมีประสิทธิผล (productive) และเชื่อว่าการนอนหลับนั้นทำให้เสียเวลา จึงมักจะเห็นปรากฏการณ์ “โต้รุ่ง” เพื่อปั่นงานหรืออ่านหนังสือสอบ แม้ว่าหลายคนจะรู้ดีว่าการนอนหลับไม่เพียงพอนั้นทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแต่ก็อดรู้สึกผิดไม่ได้เมื่อเลือกที่จะใช้เวลาไปกับการนอนหลับ แต่ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งเสียงที่จะบอกกับคุณว่า “อย่ารู้สึกผิดที่จะนอนหลับให้เพียงพอ” เพราะการอดนอนมันสามารถส่งผลเสียได้ ดังนี้


  • เกิดอาการสมองล้า (Brain Fog) 

สมองมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของสมอง การอดนอนบ่อย ๆ อาจจะทำให้เกิดอาการสมองล้า เช่น จดจ่อโฟกัสได้ยากลำบาก คิดอะไรไม่ออก ลืมว่าจะพูดอะไร ความจำแย่ลง ซึ่งจากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นก็พบว่าการทำงานของสมองขณะนอนหลับนั้นมีผลต่อสภาพอารมณ์และจิตใจของคนเรา 

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง

การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถทำให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์ได้ เช่น หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หดหู่ ซึ่งการนอนหลับและสุขภาพจิตนั้นมีความสัมพันธ์กันทั้งในแง่ที่ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ 

  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมและอารมณ์นั้นมีความสัมพันธ์กัน อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงสามารถทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้ เช่น กลายเป็นคนหุนหันพลันแล่น อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ต้องยุกยิกไปมา (ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น) ปรี๊ดแตกง่าย ระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น หรือเดินหนีไปเลยดื้อ ๆ เมื่อมีคนพูดจาไม่ถูกหู     

  • เครียด

การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้คุณรู้สึกเครียดแม้แต่กับเรื่องเล็กน้อย เรื่องหยุมหยิมในชีวิตประจำวันก็อาจจะดูเป็นเรื่องคอขาดบาดตายไปได้เมื่อนอนน้อย และหลายคนก็อาจเกิดสภาวะที่ผู้เขียนขอเรียกมันว่า “เครียดเป็นวงกลม” คือมีเรื่องเครียดที่ทำให้นอนไม่หลับและพอเห็นตัวเองนอนไม่หลับก็เครียดที่ตัวเองนอนไม่หลับทำให้ ‘นอนไม่หลับ-เครียด-นอนไม่หลับ’ วน ๆ ไป 

  • เกิดอาการทางจิต (Psychotic Symptoms) 

เคยมีการทดลองที่ให้กลุ่มตัวอย่างตื่นอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างมีอาการประสาทหลอนเกิดขึ้น และในกลุ่มตัวอย่างที่อดนอนเกิน 60 ชั่วโมงนั้นมีอาการทั้งประสาทหลอนและหลงผิดเกิดขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ การทดลองทำให้ทราบว่าการอดนอนติดต่อกันอย่างรุนแรง (Severe sleep deprivation) มีผลทำให้เกิดอาการทางจิตแบบชั่วคราวได้


ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการนอนหลับไม่เพียงพอนั้นบั่นทอนสุขภาพจิต ในขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตก็บั่นทอนคุณภาพของการนอนหลับด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากคุณต้องการที่จะให้ตัวเองมีการนอนหลับที่มีคุณภาพก็ควรใส่ใจดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานก็คือเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย ซึ่งมันจะช่วยส่งเสริมให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดีและมีการนอนหลับที่ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ American Counseling Association ได้แนะนำ ดังนี้

  • จัดตารางในการนอนหลับ การเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันจะช่วยให้มีการนอนหลับที่ดีขึ้น ในขณะที่การเข้านอนไม่เป็นเวลาหรือไม่หลับไม่นอนนั้นจะส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพ (natural circadian cycle) ซึ่งจะนำไปสู่ผลเสียดังที่กล่าวไปในข้างต้นของบทความนี้

  • ยกให้การนอนหลับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ แม้ว่าบางกิจกรรมจะดูน่าทำมากกว่านอนหลับ เช่น ปั่นงาน ติดตามข่าวสารในโลกโซเชียล ดูซีรีส์เรื่อย ๆ เพราะอยากรู้ตอนต่อไป แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการนอนหลับนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมเหล่านั้นเลย หากคุณยกให้การนอนหลับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญหรือมีคุณค่าต่อชีวิตมันก็จะง่ายขึ้นในตอนที่คุณจะต้องเลือกว่าจะนอนหรือไม่นอน (ในส่วนนี้ผู้เขียนขอเสริมว่าการวางแผนจะช่วยลดปัญหาการปั่นงานหรืออ่านหนังสือโต้รุ่งได้ ตรงกันข้าม หากคุณเป็นคนที่มีสไตล์ชอบทำอะไรแบบไฟลนก้น ถ้าไม่ใกล้ deadline ก็จะไม่เริ่มลงมือ คุณก็อาจจะต้องอดหลับอดนอนบ่อยหน่อย)

  • งีบหลับได้แต่หมั่นสังเกตตัวเองด้วย การงีบหลับระหว่างวันจะช่วยคืนความสดชื่นให้ได้โดยเฉพาะในวันที่เหนื่อยหรือง่วงมาก ๆ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองงีบหลับนานเกินไปเพราะอาจจะส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนคืน 


อย่างไรก็ตาม หากคุณพบว่าตนเองมีปัญหานอนไม่หลับที่น่าจะเกิดจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีความเครียดสูง มีความรู้สึกวิตกกังวลเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้ติดนิสัยรู้สึกผิดที่จะพักผ่อน ก็ควรที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อสาเหตุที่แท้จริงและดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป เพราะหากละเลยหรือปล่อยเอาไว้โดยไม่ดูแลตัวเอง ปัญหาสุขภาพจิตก็อาจจะพัฒนากลายเป็นโรคทางจิตเวชได้


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[2] Sleep Matters: The Impact Of Sleep On Health And Wellbeing. Retrieved from https://www.mentalhealth.org.uk/explore-mental-health/publications/sleep-matters-impact-sleep-health-and-wellbeing

[3] Effects of Lack of Sleep on Mental Health. Retrieved from https://www.verywellmind.com/how-sleep-affects-mental-health-4783067

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page