มีคนฟังแต่เหมือนไม่มีคนฟัง การให้คำปรึกษาจึงพัง เพราะขาดการฟังเพื่อเข้าใจ
หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ในการไปปรึกษาใครสักคนเวลาที่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งหลายคนก็รู้สึกโล่งใจเบาใจขึ้นหลังจากรับการปรึกษา แต่ก็พบว่ามีหลายคนที่รู้สึกแย่มากขึ้นไปกว่าเดิมหลังจากได้รับการปรึกษาทั้งที่ได้รับการปรึกษาเหมือนกัน อะไรที่ทำให้ความรู้สึกหลังจากรับการปรึกษาถึงได้แตกต่างกัน คำตอบก็คือการให้คำปรึกษาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมี “การฟังเพื่อเข้าใจ” เป็นส่วนผสมอยู่ในรูปแบบของการให้คำปรึกษา โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาแบบ client-centered counseling การฟังเพื่อเข้าใจถือเป็นหัวใจสำคัญของการให้คำปรึกษา
สำหรับลักษณะของการฟังเพื่อเข้าใจ ผู้เขียนได้รวบรวมจากบทความบางบทความและจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสรุปเป็นภาพรวมได้ดังนี้
การฟังเพื่อเข้าใจ (ในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Active Listening บ้าง Deep Listening บ้าง หรือบางคนก็ใช้คำว่า Empathic Listening) จะเป็นการฟังที่ไม่ใช่ได้ยินแค่เสียงที่อีกฝ่ายพูดออกมา แต่จะสามารถเข้าใจไปถึงความหมายแฝงของประโยคต่าง ๆ ที่มักจะมีความรู้สึกซ่อนอยู่ในนั้น เช่น “เป็นผู้ใหญ่นี่มันยากจัง อยากกลับไปเป็นเด็ก เจ็บสุดก็แค่หกล้ม” คนที่พูดอาจจะกำลังเหนื่อยกับชีวิตปัจจุบันของตัวเอง ซึ่งถ้าใช้การฟังแบบทั่วไปก็อาจจะไม่เข้าใจว่าพูดทำไมเพราะนี่มันก็เป็นเรื่องปกติของทุกคนอยู่แล้ว แต่คนที่ฟังอย่างเข้าใจ จะสัมผัสได้ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกเหนื่อยทำให้สามารถสะท้อนความรู้สึกของคนที่พูดออกไปได้ว่า “คุณกำลังรู้สึกเหนื่อย?”
การฟังเพื่อเข้าใจจะไม่ได้จับสาระจากแค่ภาษาพูด แต่จะสังเกตภาษากายควบคู่ไปด้วยเสมอ เพราะแม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้พูดออกมา แต่น้ำเสียง สีหน้า แววตา จังหวะการพูด หรือพฤติกรรมการแสดงออกก็สามารถแปลความออกมาเป็นความรู้สึกได้ โดยบางครั้งภาษากายเชื่อถือได้มากกว่าภาษาพูดด้วยซ้ำ เช่น หากอีกฝ่ายบอกว่า “ไม่เป็นไร” หรือ “ฉันโอเค” หากไม่ได้สังเกตภาษากายร่วมด้วยก็อาจจะทำให้คิดว่าอีกฝ่ายหมายความแบบนั้นจริง ๆ แต่ถ้าสังเกตภาษากายร่วมด้วยก็อาจจะพบว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นดูไม่สอดคล้องกับท่าทีที่เขาแสดงออกมา ซึ่งการสังเกตเห็นความไม่สอดคล้องนี้จะช่วยให้ผู้ฟังสามารถค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูดได้ ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าตนเองได้รับความเข้าใจ
การฟังเพื่อเข้าใจเป็นการฟังที่มากกว่าการสนทนา แต่จะเป็นการฟังที่มีการแสดงออกถึงความเข้าใจ ซึ่งผู้ฟังที่ฟังเพื่อเข้าใจจะไม่มีท่าทีเหล่านี้ 1. การสั่งสอนให้ทำตาม 2. การตักเตือน 3. การแนะนำสั่งสอน 4. การตัดสิน 5. การกล่าวตำหนิ 6. การทำให้อับอาย 7. การวิเคราะห์ตรวจสอบ 8. การทำให้สิ่งที่เขาเล่ากลายเป็นเรื่องตลกขบขัน 9. การพูดแทรก
อย่างไรก็ตาม การที่คนทั่วไปขาดทักษะการฟังเพื่อเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดมหันต์ชนิดที่ให้อภัยไม่ได้ ซึ่งหลายคนเองก็อยากจะเป็นผู้ฟังที่สามารถเข้าใจหรือให้คำปรึกษาคนอื่นได้แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สำรวจตัวเองแล้วเริ่มตระหนักว่าตนเองขาดทักษะการฟังเพื่อเข้าใจและอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่เพื่อจะได้มีสัมพันธภาพกับคนอื่นอย่างราบรื่นมากขึ้นก็มีวิธีการที่หลากหลายให้ฝึกฝน
สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนได้หยิบยกเอาวิธีการฝึก Empathic Listening ที่มาจากหนังสือเรื่อง 7 Habits of Highly Effective People เขียนโดย Stephen Convey ซึ่งแนวคิดเรื่องการฟังจะอยู่ในอุปนิสัยที่ 5: เป็นผู้ที่เข้าใจคนอื่นก่อน (Seek First to Understand, Then to Be Understood) ขั้นตอนมี 4 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นที่ 1: เลียนแบบเนื้อหา (Mimicking content)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนพื้นที่ฐานที่ทำได้ไม่ยาก ขอเพียงตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดให้ดี เลือกจับบางประโยคในเนื้อหา จากนั้นก็พูดซ้ำบางคำออกไป ซึ่งวิธีการนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยที่สุดแต่ก็เป็นขั้นตอนเริ่มแรกก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนถัดไป
ขั้นที่ 2: ทวนเนื้อหา (Rephrase the Content)
วิธีการคือนำบางส่วนของเนื้อหาที่เขาพูดมาปรับเป็นประโยคของผู้ฟัง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการฟังที่ยังไม่ลงลึกไปถึงความรู้สึก แต่การทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้พูดรู้สึกว่ามีคนตั้งใจฟังเรื่องราวที่เล่าออกไป
ขั้นที่ 3: สะท้อนความรู้สึก (Reflect Feeling)
ขั้นตอนนี้จะเริ่มเป็นการฟังที่ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด โดยเป็นการฟังที่มากไปกว่าเนื้อหาเรื่องราว แต่จะเริ่มตีความอารมณ์ความรู้สึกจากสิ่งที่เขาเล่าออกมา
ขั้นที่ 4: ทวนเนื้อหาและสะท้อนความรู้สึก (Rephrase the Content and Reflect the Feeling)
ขั้นตอนนี้จะเป็นการผสมผสานขั้นที่ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน โดยจะเป็นการจับใจความแล้วเอามาพูดใหม่ตามความเข้าใจของผู้ฟัง พร้อมกับสะท้อนความรู้สึกที่ผู้ฟังรับรู้ได้จากประโยคนั้น ๆ
การฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่สามารถช่วยให้คนที่มีความทุกข์ใจรู้สึกดีขึ้นจากการที่มีใครสักคนรับฟังและเข้าใจ แต่ยังช่วยให้คนที่มีทักษะการฟังเพื่อเข้าใจมีอุปนิสัยของการเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงอีกด้วย เนื่องจากคนที่สามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้มักจะเข้าใจความต้องการของคนอื่นตามไปด้วย ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอีกฝ่ายได้มากกว่า
ซึ่งในแง่มุมของการปรึกษา การช่วยให้ผู้รับบริการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของตนเองมากขึ้นจะช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งหลายครั้งการช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจในตนเองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของการปรึกษา
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments