นักจิตวิทยาแนะนำ 8 แนวทางในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร
ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid – 19 เป็นต้นมา การรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร เป็นโจทย์ที่ท้าทายของนักจิตวิทยาองค์กรอย่างมาก เนื่องจากสถิติการลาออกจากงาน (Turn Over Rate) ของบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ ของประเทศไทยสูงขึ้นมาก และสูงเป็นพิเศษในตำแหน่งระดับผู้บริหาร จึงทำให้การรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร เป็นเรื่องที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ โดยบริษัท จัดหางาน ไมเคิล เพจ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (Michael Page Thailand) ได้จัดทำรายงานเชิงจิตวิทยาองค์กร เรื่อง Talent Trends 2022 ในหัวข้อ The Great X โดยพบว่า คนไทย 69% ยอมไม่ขึ้นเงินเดือน ไม่เลื่อนตำแหน่ง เพื่อแลกกับสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี หรือ Work Life Balance และ 81% ให้คำตอบว่า มีแผนจะเปลี่ยนงาน ทั้งนี้ ผู้ที่วางแผนจะเปลี่ยนงานยังได้ให้เหตุผลในการออกจากงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่ไว้ 5 เหตุผลด้วยกัน คือ (1) เปลี่ยนสายงาน/สายธุรกิจ (2) ได้ตำแหน่ง/เงินเดือนที่สูงกว่าเดิม (3) ไม่พอใจเงินเดือน (4) ไม่พอใจนโยบายขององค์กร และ (5) ไม่มีความสุขกับองค์กร
เมื่อเราไปดูข้อมูลของช่วงวัยที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงาน/ลาออกจากงานมากที่สุดนั้น ยิ่งน่าสนใจค่ะ เพราะ ช่วงวัย Baby Boomer หรือผู้ที่มาอายุ 58 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลาออกก่อนเกษียณสูงถึง 89% รองลงมาเป็น Gen X หรือผู้ที่มีอายุ 43 – 57 ปี 82% ตามมาด้วย Gen Y หรือผู้ที่มีอายุ 25 – 42 ปี 79% และ Gen Z หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 24 ปี 73%
ทั้งนี้ งานศึกษาเชิงจิตวิทยาองค์กรยังบอกอีกว่า บุคลากรที่มีแนวโน้มจะบอกลาจากองค์กรนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ คนที่มีความรู้สึกว่าการอยู่ในองค์กรไม่คุ้มค่า คนที่นิยมความท้าทาย คนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง คนที่ต้องการเดินตามความฝัน และคนที่ต้องการความก้าวหน้า ซึ่งคุณลักษณะข้างต้นที่ว่ามานั้นมักจะไปอยู่ในตัวของบุคคลากรหลักในการขับเคลื่อนองค์กรเสียด้วยสิ ด้วยเหตุนี้ นักจิตวิทยาองค์กรจึงได้แนะนำแนวทางรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรไว้ทั้งหมด 8 แนวทาง ดังนี้ค่ะ
1. พิจารณาอัตราค่าจ้างให้เหมาะสม
มีความนิยมอย่างหนึ่งในบรรดาบุคลากรที่เก่งและมีความสามารถ คือ การมองหางานใหม่ที่มีตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น ในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น หรือมีความมั่นคงมากขึ้น ทุก ๆ 1 ปี หรือบางคนทุก ๆ 6 เดือนเลยก็มีค่ะ ดังนั้นการจัดสรรอัตราค่าจ้างให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความสามารถ รวมถึงการจัดสรรตำแหน่งที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรค่ะ
2. พัฒนาศักยภาพในตัวพนักงานอยู่เสมอ
อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่า คุณลักษณะหนึ่งของผู้ที่มีแนวโน้มลาออกจากองค์กร ก็คือ คนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง ดังนั้นหากองค์กรมีการส่งเสริมทักษะ ความสามารถ พัฒนาศักยภาพของบุคลากรอยู่เสมอ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ใหม่ที่ทันสมัย หรือจัดงานสัมมนาที่สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากร รวมถึงการจัด KM หรือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ภายในองค์กร บุคลากรก็จะมีความพึงพอใจ และองค์กรเองก็จะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
3. ประเมินผลให้ยุติธรรม และตามศักยภาพ ความสามารถที่แท้จริง
ประเด็นความคลางแคลงใจ หรือข้องใจในผลการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนนั้น เป็นประเด็นที่เปราะบางอย่างมากในทุกองค์กรไม่ว่าจะภาครัฐ หรือเอกชน ยิ่งถ้ามีการเปิดเผยผลการประเมินด้วยแล้ว องค์กรแทบลุกเป็นไฟเลยค่ะ ดังนั้นนักจิตวิทยาองค์กรจึงได้แนะนำว่า ให้มีแนวทางการประเมินที่ชัดเจน เป็นรูปประธรรม เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และทุกคนในองค์กรยอมรับแนวทางนั้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกคนในองค์กร
4. เห็นคุณค่าและให้โอกาส
บุคลากรทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ เพิ่งมาใหม่หรือใกล้เกษียณ ต่างก็เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร หากองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับระดับล่าง ระดับบนก็บริหารงานไม่ได้ ดังเช่นที่ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ผู้แข็งแกร่งของเรา เคยกล่าวไว้ว่า “ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลประชาชน ต้องดูแลพนักงานทั้งในส่วนของสวัสดิการต่าง ๆ ความมั่นคงในชีวิต พวกเขาคือโซ่ที่เชื่อมระหว่าง กทม. กับประชาชน ถ้าโซ่ที่เชื่อมนี้อ่อนแอ สุดท้ายเราก็ไม่สามารถดีกว่าโซ่ข้อนี้ไปได้ หัวหน้าฝ่ายต้องให้ความเมตตากับลูกน้องและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน”
5. สร้างความประทับใจระหว่างกัน
“คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” คำกล่าวนี้เป็นจริงและเห็นผลชัดเจนเสมอ โดยเฉพาะในองค์กรที่อยู่กันแบบกาสะลอง – ซ้องปีบ หรือเลือดข้นคนจาง ที่ไม่มีใครไว้ใจใครได้ ต่อหน้าดีกัน ลับหลังพร้อมถือมีดทิ่มแทงกันตลอด บุคลากรก็ไม่มีความสุขที่จะอยู่ในองค์กร มีความเครียดสูง และก็จะลาออกไปอยู่ที่อื่นในที่สุด เพราะฉะนั้นการให้ความสำคัญกับการสร้างความผูกพันทางความรู้สึกระหว่างกันของคนในองค์กรก็เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้าม โดยอาจจัดทริป Outing ประจำปี หรือจัดเลี้ยงข้าวกลางวันในวันพิเศษขององค์กร
6. จัดสรรงานให้เหมาะสม
งานหนักไม่เคยฆ่าใครค่ะ แต่มันจะทรมานเราด้วยสารพัดโรค ไม่ว่าจะ Office Syndrome ไมเกรน โรคกระเพาะ รวมไปถึงการรบกวนเวลาชีวิตเพราะ Work ไร้ Balance ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของบุคลากรในองค์กร ทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรย่ำแย่ ไม่มีความสุข เสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต จนวนกลับมากระทบประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นองค์กรจึงต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลมโดยการจัดสรรงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลอย่างยุติธรรม และควรมีการจัดประชุมทุกเดือนเพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรคของบุคลากร และนำมาปรับปรุงการขับเคลื่อนองค์กรให้เหมาะสมยิ่ง ๆ ขึ้นไป
7. จัดคนให้เหมาะสมกับงาน
ย้อนกลับไปสมัยเราเรียนประถมศึกษา – มัธยมศึกษา ที่เรามักจะได้เรียนกับคุณครูที่จบมาไม่ตรงสาย เช่น ครูจบพลศึกษา แต่สอนวิชาภาษาไทย ครูจบภาษาฝรั่งเศส แต่สอนเคมี เช่นนี้เป็นต้น ซึ่งคุณครูหลาย ๆ ท่านสอนดีมากค่ะ แต่อีกจำนวนหนึ่งก็อย่างที่เราทราบกันดี การจัดคนไม่เหมาะสมกับงานนั้น นอกจากจะส่งผลทางลบต่อประสิทธิผลของงานแล้ว ยังกระทบถึงความสุขในการทำงานด้วย เพราะคนที่ทำงานไม่ตรงสาย หรือไม่ตรงกับความถนัดจะมีความเครียดสูงมาก และมีความวิตกกังวลขณะปฏิบัติงาน ดังนั้นนักจิตวิทยาองค์กรจึงแนะนำว่าแนวทางหนึ่งในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร ก็คือ “Put The Right Man To The Right Job” นั่นเองค่ะ
8. ดูแลเรื่องสวัสดิการ
เหตุผลหลักที่คนไทยส่วนใหญ่สนใจสอบบรรจุข้าราชการ เพราะ “สวัสดิการ” ค่ะ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงพ่อ แม่ คู่สมรส และลูก การส่งลูกเรียนฟรีในสถาบันการศึกษาของรัฐ และการมีบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งการใช้สวัสดิการในการจูงใจบุคลากรใหม่เข้าองค์กร และการรักษาบุคลากรเดิมอยู่กับองค์กรนั้น มีการนำมาใช้อย่างมากทั้งในประเทศไทยเองและองค์กรระดับโลก เช่น Airbnb ที่มีสวัสดิการเข้าพักฟรีในลิสต์ที่พักของ Airbnb หรือ LINE Company (Thailand) ที่มีสวัสดิการโทรปรึกษาจิตแพทย์ฟรี (LINE Care) และอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรีทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้สวัสดิการที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรค่ะ
ในบรรดาทรัพยากรทั้งหมดขององค์กร ทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรที่สร้างขึ้นมายากที่สุด เพราะต้องคัดสรรคนที่มีความรู้ มาบ่มเพาะประสบการณ์ ดังนั้นหากองค์กรเจอบุคลากรทรงคุณค่าแล้ว ก็ควรต้องรักษาไว้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้ตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการได้ในอนาคตนั่นเองค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Jobthai. (19 มกราคม 2022). รักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ด้วย 6 วิธีง่าย ๆ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/DlsKw
[2] HRNOTE. (28 มีนาคม 2019). มาตรการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2565 จาก https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190327-employee-keeping-retention/
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน
Comentarios