8 สัญญาณอันตรายที่บอกว่ากำลังเป็นคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome)
ก่อนจะพูดถึงเรื่องโรคคาโรชิ ซินโดรม เรามาดูข้อมูลทางสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ 30 มิถุนายน 2566 กันก่อนนะคะ โดยพบว่า คนไทยทำงานเฉลี่ย 35 - 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 6 – 10 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นถึง 5.6 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่า เมื่อเดือนมกราคม 2566 วัยแรงงานอายุระหว่าง 20 - 59 ปี มีการขอรับบริการจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงเป็นอันดับ 1 คือ 74.77% เลยทีเดียว
ประกอบกับราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะ หรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงาน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดยได้แบ่งโรคที่เป็นผลมาจากการทำงาน ออกเป็น 4 กลุ่มโรคใหญ่ ๆ
ได้แก่ (1) โรคจากการสัมผัสสารก่อโรค หรือสภาพแวดล้อมจากการทำงาน (2) โรคจากการทำงานที่มีผลต่ออวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกายหรือจิตใจ (3) โรคมะเร็งจากการทำงาน และ (4) โรคอื่น ๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงานให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน
จากข้อมูลที่ว่ามานั้น ทำให้บทความจิตวิทยาบทความนี้ต้องชวนคุณมาพูดกันถึงโรคคาโรชิ ซินโดรม หรือ Karoshi Syndrome หรือ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อเล่น ว่า “โรคทำงานหนักจนตาย” โรคนี้เกิดมาจากการที่เราทำงานหนักมาก และทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน
จนร่างกายต้องร้องขอชีวิต คือไม่ได้พักผ่อน มีความเครียดสะสม ที่ทำให้เราปวดคอ บ่า ไหล่ และเกิด Office Syndrome ตามมา นอกจากนี้ โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ยังไปกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมน Catecholamine และฮอร์โมน Cortisol ออกมาในเลือด
ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งหนาตัวและตีบตัน และเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาองค์การได้ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ที่เข้าข่ายป่วยด้วยโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) นั้น มีอาการเด่น ๆ 8 อาการ ดังนี้
1. กังวลเรื่องงานอยู่ทุกขณะจิต แม้แต่ตอนนอนยังฝันว่าทำงาน
หากคุณเครียดเรื่องงานตลอดเวลา คิดอยู่เสมอว่าจะจัดการกับงานอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะวางแผนการทำงานอย่างไรถึงจะทำงานได้ทัน จนความคิดเรื่องงานเข้ามาแย่งพื้นที่สมองในการคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ไปเสียหมด แม้แต่ตอนนอนยังฝันว่าทำงาน หรือแก้งาน หรือโดนตามงาน หากชีวิตเหมือนฝันร้ายทั้ง ๆ ที่ยังตื่นอยู่เช่นนี้แล้ว นั่นแสดงว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคคาโรชิ ซินโดรมอยู่ค่ะ
2. ทำงานหนักและหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานาน
คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ทำงานหนักมาก คนอื่นทำงานตามเกณฑ์เวลา คือ 8 ชั่วโมงก็เลิกงาน แต่สำหรับคุณงานไม่หมดเราไม่กลับ จนอดหลับอดนอน หรือโต้รุ่งข้ามวันข้ามคืนอยู่บ่อย ๆ หากเป็นเช่นนี้ไม่ดีแน่
เพราะนักจิตวิทยาองค์การได้แสดงความห่วงใยว่า นั่นคือสัญญาณของโรคโรคคาโรชิ ซินโดรม ซึ่งไม่นานจะพัฒนาไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอาจทำให้คุณหัวใจวายคากองงานได้อย่างที่เราได้เห็นตามข่าวบ่อย ๆ นั่นเอง
3. ไปทำงานไวมาก แต่เลิกงานช้ามาก
หากคุณเป็นพนักงานดีเด่น เข้างานเช้าแบบพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นก็ถึงที่ทำงานแล้ว หรือไปถึงที่ทำงานก่อนใคร ๆ และทำงานลากยาวจนมืดค่ำ หรือเช้าอีกวัน และคุณก็รู้สึกว่าที่ทำอยู่นั้นไม่ได้มีความสุขเลย ต้องบังคับให้ตัวเองไปทำงานทุก ๆ วัน เพราะงานที่ทำมันไม่จบ และไม่เบาลงเสียที นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายของโรคคาโรชิ ซินโดรมนะคะ
4. รู้สึกผิดที่จะลา
ตามกฎหมายแรงงาน ได้กำหนดไว้ว่า ลูกจ้างที่ทำงานครบหนึ่งปี จะมีสิทธิลาพักร้อนได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อปี มีสิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี และมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังมีพนักงานที่ห่วงงานหนักมากจนแม้ตัวเองจะป่วยก็ไม่ยอมลา ยังคงแบกร่างพัง ๆ ไปทำงาน ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของดิฉันเอง ได้พบเห็นคนทำงานที่ทุ่มเทเช่นนี้มาพอสมควร และมีบางคนป่วยหนักจนเสียชีวิตก็มี และผลตอบแทนที่เขาได้จากที่ทำงาน ก็คือ พวงหรีดแสดงความอาลัยหนึ่งพวง และเงินช่วยงานศพจำนวนหนึ่งเท่านั้น
5. ทำงานภายใต้ภาวะความกดดันสูง
เมื่อครั้งที่เราสมัครงาน ในรายละเอียดงาน (Job description) ของหลาย ๆ ตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งสูง ๆ มักจะระบุว่า “สามารถทำงานภายใต้ภาวะความกดดันสูง” และไม่เกินไปกว่าที่เขาระบุเลยค่ะ เมื่อเราเข้ามาทำงานเราก็จะพบว่าเราต้องเผชิญกับความเครียด ต้องทนรับแรงกดดันสูงอยู่ทุกวัน ซึ่งความกดดันนี่เองนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคคาโรชิ ซินโดรมแล้ว ยังเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตอีกมากมาย
6. คุณภาพการนอนแย่ลงมาก
หากคุณรู้สึกว่านอนยาก นอนลำบาก ประสาทตึงเครียดและตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อนอนหลับก็หลับไม่สนิท ฝันร้าย พอตื่นมาก็รู้สึกปวดหัว รู้สึกนอนไม่พอ แล้วเราก็จะหงุดหงิด หรือรู้สึกไม่สดชื่นไปตลอดทั้งวัน พอถึงเวลานอนก็วนลูปใหม่อีกครั้ง
เป็นวงจรอุบาทว์ (vicious circle) ที่หลายคนเลือกจัดการด้วยการรับประทานยานอนหลับ แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน ซึ่งขอแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจะดีต่อใจมากกว่าค่ะ
7. เหนื่อยตลอดเวลา
การทำงานเป็นการใช้พลังงานสมองและร่างกายสูงมาก แต่ถ้าในวันหยุดพักผ่อนของคุณ คุณก็ยังรู้สึกเหนื่อย รู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย และยังมีความเครียดสุงอยู่ โดยเฉพาะในคืนวันอาทิตย์ที่คุณรู้สึกกังวลใจ และไม่อยากให้ถึงวันจันทร์เพราะไม่อยากไปทำงาน อาการเช่นนี้นอกจากจะเป็นสัญญาณของโรคคาโรชิ ซินโดรมแล้ว ยังบอกว่าเราเข้าข่าย Sunday night syndrome อีกด้วย
8. รู้สึกว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำอะไรที่ใจอยากทำ
ชีวิตคนเรามันสั้น แต่ถ้าคุณเครียดกับงาน กังวลกับงาน ชีวิตจะสั้นลงไปอีก เพราะคุณจะนำเวลาแทบทั้งหมดของชีวิตไปทุ่มเทกับการทำงาน จนลืมไปว่าความฝันของคุณคืออะไร ความปารถนา (Passion) ของคุณคืออะไร เป้าหมายชีวิตของคุณอยู่ที่ไหน และทำให้คุณมีตัวตนไม่ชัดเจน กลายเป็นหุ่นยนต์มากขึ้นทุกวัน ๆ และห่างปล่อยไปเช่นนั้นวันหนึ่งหัวใจของคุณจะไร้ความรู้สึกค่ะ
หากว่าคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มกังวลใจว่า ฉันเองก็เข้าข่ายโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ก็ขอแนะนำด้วยความห่วงใยให้รีบพาตัวเองไปพักผ่อน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วน เพราะความเครียดจากงานนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ และบ่อยครั้งก็ไม่สามารถหายได้เอง เพราะงานจะเข้ามาหาเราเรื่อย ๆ
แต่สำหรับท่านที่ยังไม่เข้าข่ายและไม่ต้องการจะเป็นโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ขอแนะนำให้ทำชีวิตให้สมดุล หรือ Work Life Balance ค่ะ เมื่อถึงเวลางานให้ทำเต็มที่ เมื่อถึงเวลาพักก็เต็มที่เช่นกัน ความก้าวหน้าและสภาพจิตใจจะได้เติบโตไปด้วยกันค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. เจาะลึกระบบสุขภาพ. (2566, 30 เมษายน). สายด่วนสุขภาพจิตเผย ม.ค.66 วัยแรงงานเครียดจัด ทำงานไร้ความสุขสูงอันดับ 1. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 จาก https://www.hfocus.org/content/2023/04/27584
2. โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา. (2566, 16 กุมภาพันธ์). สัญญาณเตือนภัย ทำงานหนักเกินไป…ระวังภาวะคาโรชิ !!!. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 จาก https://www.synphaet.co.th/karoshi-syndrome/
3. pptvhd36. (2566, 1 สิงหาคม). คนทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเกือบ 4 แสนคน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 จาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/202321
4. The Coverage. (2566, 8 กุมภาพันธ์). ‘กระทรวงแรงงาน’ เคลียร์ชัด ‘โรคที่เกิดจากการทำงาน’ มีอะไรบ้าง ? อ่านที่นี่! ประกาศฉบับอัพเดทล่าสุด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 จาก https://www.thecoverage.info/news/content/4532
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comentarios