6 ข้อคิดจาก “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” : ป้องกันอย่างไรไม่ให้ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากร
จากเหตุการณ์ก่อความรุนแรงโดยเยาวชนอายุ 14 ปี เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ซีรีส์เกาหลีคุณภาพดีจาก Netflix เรื่อง “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” หรือ Juvenile Justice ได้รับความนิยมจนขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ภาพยนตร์/ซีรี่ย์ยอดนิยมใน Netflix ประเทศไทย
นั่นเป็นเพราะสังคมไทยเกิดความตระหนักถึงความรุนแรงของการก่ออาชญากรรมโดยเยาวชน อีกทั้งเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายคลึงกับเนื้อเรื่องใน EP แรกของซีรี่ย์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” อย่างมาก ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เพิ่งได้รับชมซีรีส์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วซีรีส์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” เข้าฉายทาง Netflix ตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว และเป็นที่พูดถึงอย่างมากในครั้งนั้น
ซีรีส์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” เล่าถึงการทำงานของผู้พิพากษาหญิง ประจำศาลเยาวชนเขตยอนฮวา ชื่อว่า ชิม อึน-ซ็อก ผู้เย็นชา ดุดัน แต่ฉลาด และตั้งใจทำงานอย่างมาก เธอทุ่มเทกับการทำงานแทบไม่หลับไม่นอน เพียงเพราะเหตุผลเดียว คือ “เธอเกลียดอาชญากรเด็ก”
โดยถ้อยความที่ว่า “เธอเกลียดอาชญากรเด็ก” นั่นก็ถูกพูดถึงย้ำ ๆ ในเกือบทุก EP ของซีรีส์เลยทีเดียว และแน่นอนว่าซีรี่ส์ดังกล่าวอัดแน่นไปด้วยความเครียด ความกดดัน และให้ความรู้สึกหดหู่ เศร้าใจหลังดูจบ แต่ในทุก EP ของซีรี่ย์ ก็ได้สื่อสารถึงคนดูอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ต้นจนจบ
ด้วยจิตวิทยาครอบครัว ว่า “ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากร” และได้แฝงข้อคิดไว้มากมาย เพราะฉะนั้นแล้วในบทความจิตวิทยาบทความนี้จึงขอนำเสนอข้อคิดจากซีรีส์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” กันค่ะว่าเราต้องป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากร
1. ให้เงินลูกแล้ว ต้องให้เวลาและความใส่ใจลูกด้วย
มีหลาย EP ในซีรี่ส์ ที่ตัวละครยุวอาชญากรเป็นเด็กที่มีจากบ้านรวย แต่พ่อ แม่ไม่ใส่ใจ ดังเช่น ตัวละครฮันเยอึน เด็กสาวลูกคนรวยอายุ 16 ปี ที่มีส่วนพัวพันกับคดีฆาตกรรมเด็ก 8 ขวบ โดยเด็กชายอายุ 13 ปี ในทุกช่วงขณะที่ฮันเยอึนต้องขึ้นให้การในศาล หรือถูกสอบสวน จะมีแต่เพียงทนายที่พ่อกับแม่จ้างมาอยู่ด้วยเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าพ่อ แม่บินไปทำธุระที่ต่างประเทศ ไม่สามารถมาร่วมรับฟังได้ หรือแม้กระทั่งในวันที่ตัดสินโทษ ฮันเยอึนก็ต้องรับโทษอย่างโดดเดี่ยว
2. ลูกไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์
ใน EP ของซอว์ ยูรี เราจะได้เห็นว่าเด็กสาวที่มีบุคลิกไม่สนโลก การแต่งตัวดูเป็นสาวร้าย ๆ การพูดจาไม่สุภาพ ชอบตะโกนใส่ย่าอยู่เป็นประจำ แท้จริงแล้วเป็นเด็กกตัญญูที่พยายามหาเงินมาให้ย่า และคอยดูแลปู่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่มักจะโดนพ่อแท้ ๆ เมาเหล้าแล้วมาทำร้ายร่างกาย และรีดไถเงินจากเธออยู่เสมอ
มีบ่อยครั้งที่เธอต้องขายบริการเพื่อหาเงินมาให้พ่อซื้อเหล้าดื่ม จนครั้งสุดท้ายเธอโดนพ่อทำร้ายหนักมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล และได้ผู้พิพากษาชิม อึน-ซ็อก มาทำการสืบสวนและให้ความช่วยเหลือจนเธอสามารถใช้ชีวิตใหม่ได้อย่างปลอดภัย
3. อย่าตัดสินใครคนหนึ่ง เพียงเพราะเรื่องของเขาที่เราได้ยินมา
ในประเด็นนี้ ซีรีส์ได้สื่อชัดเจนใน EP ของผู้อำนวยการศูนย์พักพิงพูรึม ซึ่งมีคนโทรแจ้งทางศาลในวันที่ผู้พิพากษาชิม อึน-ซ็อก และผู้พิพากษาชา แทจู ออกตรวจศูนย์พักพิงพอดี ว่า ผู้อำนวยการยักยอกเงินหลวง และทำร้ายร่างกายเด็ก แต่เมื่อสืบสวนความจริงกลับพบว่าผู้อำนวยการนำเงินที่รัฐสนับสนุนไปเป็นค่าผ่าตัดให้กับเด็กคนหนึ่งในศูนย์พักพิงที่ถูกเพื่อนร่วมศูนย์ทำร้าย และผู้อำนวยการยังมีความห่วงใยอย่างจริงใจให้กับเด็กในศูนย์พักพิงทุกคน
4. เมื่อลูกผิดพลาด ควรสอนให้ลูกสำนึกในความผิดพลาดนั้นด้วย
เมื่อสิ้นสุดการตัดสินในทุก ๆ ครั้ง เราจะได้เห็นว่าพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองจะร้องไห้ด้วยความเสียใจ และโทษตัวเองว่า “เป็นความผิดของตนเอง” จึงทำให้ลูกทำเรื่องเลวร้าย กลายเป็นอาชญากรเด็ก แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่ผู้ปกครองสอนลูก หลานของตนว่า “สำนึกผิดในสิ่งที่ตนทำ” ซึ่งในประเด็นนี้ผู้พิพากษาชิม อึน-ซ็อก มักจะกล่าวอยู่เสมอว่า “เราต้องสอนให้เด็กเหล่านี้สำนึกว่ากฎหมายน่ากลัวแค่ไหน” เพื่อที่ให้เด็กเกรงกลัวไม่กล้าทำร้ายคนอื่นอีกนั่นเอง
5. ทุกการกระทำของลูก ล้วนมีผลจากครอบครัว และสังคม
มีคำกล่าวที่ว่า “ใช้คนทั้งหมู่บ้านเลี้ยงเด็กคนเดียว” โดยผู้พิพากษาชิม อึน-ซ็อก ให้ความหมายไว้ว่า ทุกคนในหมู่บ้าน ซึ่งหมายถึงทุกภาคส่วนในสังคมทั้งครอบครัว โรงเรียน ตำรวจ ตุลาการ ศาสนา ควรใส่ใจเด็กทุกคน ไม่ละเลยเด็ก เพราะเด็กคืออนาคตของสังคม หากเด็กเติบโตมาอย่างดี เขาก็สามารถพัฒนาสังคมได้อย่างดี แต่ถ้ามีเด็กเพียงคนเดียวที่ถูกทอดทิ้ง เขาอาจจะกลายเป็นอาชญากรเด็ก หรือเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ใจร้ายที่ทำลายสังคม
6. แสดงออกให้ลูกรู้ว่าเรา “ภูมิใจในตัวตนของลูก”
ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งของซีรี่ย์ คือ คัง วอนจุง ผู้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษา ทำงานในหน้าที่ผู้พิพากษาเยาวชนมา 22 ปี แต่กลับมีปัญหากับลูกชายคนโต จนเมื่อลูกชายไปพัวพันกับคดีใหญ่ระดับประเทศ ที่สังคมจับตา แทนที่เขาจะพยายามปรับความเข้าใจกับลูกเหมือนที่เขาปฏิบัติกับเด็ก ๆ ที่เขาดูแล เขากลับกดดันลูก ด่าทอลูก จนลูกรู้สึกผิดและทำร้ายตัวเอง และแน่นอนว่าคนที่ปวดใจก็คือพ่อ อย่างเขานั่นเอง
ซีรีส์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” เป็นซีรีส์ที่สะท้อนความจริงของสังคมออกมาได้อย่างชัดเจน แม้จะรุนแรง แต่ซื่อตรง เพื่อให้คนดูอย่างเราได้ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการดูแลเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดี นี่จึงเป็นซีรีส์ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหลายท่านแนะนำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองรับชมค่ะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments