top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Introvert ไม่ใช่โรคจิตเวชที่ต้องรักษา แถมยังอาจเป็นที่ปรึกษาที่ดีอีกด้วย



แม้คำว่า Introvert เริ่มจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีในสังคม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ถกเถียงกันว่า Introvert มีอยู่จริงหรือเป็นเพียงข้ออ้างของคนที่เข้าสังคมไม่เก่ง หรือบางคนก็เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า Introvert เป็นอาการป่วยทางจิตเวชซึ่งในความจริงแล้วบุคลิกภาพแบบ Introvert ไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในตำราการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช นั่นหมายความว่าคนที่เป็น Introvert ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่ที่ทำให้เข้าใจกันสับสนอาจเป็นเพราะคำแปลในภาษาไทยมักจะใช้คำว่า “บุคลิกภาพแบบเก็บตัว” เมื่อไปเจอกับคนที่มีพฤติกรรมเก็บตัวเพราะมีอาการทางจิตเวช เช่น โรคกลัวสังคม (Social Phobia) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดแยกตัว (Schizoid Personality Disorder) จึงเกิดประสบการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าคนที่มีพฤติกรรมเก็บตัวทุกคนเป็นผู้ป่วย ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นการมีบุคลิกภาพแบบ Introvert เพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปรักษาแก้ไข และหากสามารถดึงจุดแข็งของชาว Introvert ออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและมีความสุข ซึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณหรือคนใกล้ชิดของคุณมีบุคลิกภาพแบบ Introvert ได้แก่

  • การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมากจะทำให้รู้สึกโดนสูบพลังและเหนื่อยล้า 

  • เพลิดเพลินกับกิจกรรมที่ได้อยู่กับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ เดินชมธรรมชาติ ดูหนังคนเดียว ฯลฯ

  • ชอบอยู่กับคนแค่กลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน 

  • ถูกคนอื่นมองว่าเป็นคนที่เข้าถึงยากเพราะเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยแสดงออก ไม่ชอบพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ

  • รู้สึกถูกรบกวนสมาธิเมื่อมีสิ่งกระตุ้นมากเกินไปจึงมักไม่ชอบสถานการณ์ทางสังคมที่มีความรุมเร้าวุ่นวาย

  • เป็นที่มีการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) สูงเพราะชอบใช้เวลาว่างไปกับการคิดทบทวนเกี่ยวกับตัวเอง

  • เรียนรู้ได้ดีผ่านการสังเกตคนอื่นมากกว่าการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

  • ชอบงานที่ได้ทำตามลำพังมากกว่า เช่น นักเขียน กราฟฟิกดีไซเนอร์ โปรแกรมเมอร์ เภสัชกร ศิลปิน


ตัวอย่างของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert เช่น Audrey Hepburn, Albert Einstein, Kim Kardashian, Warren Buffett 


บุคลิกภาพแบบ Introvert ถูกค้นพบโดยจิตแพทย์ที่ชื่อว่า Carl Jung ในปี ค.ศ. 1920 ซึ่ง Carl Jung ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพแบบ Introvert และ Extrovert (บางครั้งสะกดว่า Extravert) ในแง่ของแหล่งพลังชีวิตที่ Introvert จะใช้วิธีการเข้าไปสู่โลกภายในของตัวเองเพื่อชาร์จพลัง ขณะที่ Extrovert จะใช้วิธีเข้าหาผู้คนเพื่อชาร์จพลัง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดบุคลิกภาพทั้งสองแบบนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ยืนยันออกมา แต่ก็พบว่าโครงสร้างสมองของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert และ Extrovert นั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยนักวิจัยพบว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert จะมีการไหลเวียนของเลือดในสมองส่วนหน้าที่สูงกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert และทั้งสองบุคลิกภาพก็มีการตอบสนองต่อโดปามีนที่แตกต่างกัน โดยความตื่นเต้นเร้าใจจะกระตุ้นสมองส่วนได้รับรางวัล (reward center) ของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert ตรงข้ามกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert ที่ความตื่นเต้นเร้าใจจะทำให้รู้สึกพลังงานหมดลง 


สำหรับคนที่สงสัยว่าก็เป็น Introvert เหมือนกันแต่ทำไมไม่เห็นเหมือน Introvert คนอื่นเลยก็เป็นเพราะว่าบุคลิกภาพแบบ Introvert นั้นยังถูกแบ่งย่อยลงไปอีก โดยจากข้อมูลที่ค้นคว้าพบว่า Introvert ถูกแบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

  1. Social Introverts คือคนที่ชอบเข้าสังคมกับคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่จะไม่ค่อยพูดเวลาที่อยู่กับคนกลุ่มใหญ่ ๆ

  2. Thinking Introverts คือคนที่ชอบใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับความคิดและจินตนาการของตัวเอง

  3. Anxious Introvert คือคนที่รู้สึกอึดอัดเวลาเมื่ออยู่กับผู้คนเยอะ ๆ จึงมักจะหลบไปอยู่ตามลำพังมากกว่า

  4. Restrained/inhibited introverts คือคนที่มักจะคิดเยอะ ใช้เวลามากในการคิดตัดสินใจก่อนที่จะพูดหรือจะทำอะไรต้องผ่านการคิดพิจารณาเป็นอย่างมาก 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าระดับของความเป็น Introvert และ Extrovert นั้นมีเฉดที่มากไปกว่าที่แหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้จัดหมวดหมู่เอาไว้ และในแต่ละคนก็จะมีส่วนผสมระหว่าง Introvert และ Extrovert ในระดับที่ต่างกันไป ซึ่งยุคหลังก็มีการใช้คำว่า Ambivert (ambi- หมายถึง ทั้งสองฝั่ง) ในการอธิบายคนที่มีระดับ Introvert และ Extrovert อยู่พอ ๆ กันทำให้มีลักษณะเป็นเหมือนทั้ง Introvert และ Extrovert อยู่ในคนเดียวเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย


ทั้งนี้ มีหลายคนที่รู้สึกว่าถ้าหากตัวเองเป็น Introvert จะสามารถเป็นนักให้ปรึกษาหรือเป็นนักจิตบำบัดได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert จะถูกมองว่าชอบเก็บตัวจึงน่าจะชอบทำงานในมุมของตัวเองเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วจุดเด่นของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert ก็คือ ‘การเป็นผู้ฟังที่ดี’ ซึ่งทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นถือว่าเป็น ‘number-one skill’ ของนักให้คำปรึกษารวมไปถึงนักจิตบำบัด ซึ่งในการทำงานของนักให้คำปรึกษาและนักจิตบำบัดมักจะทำงานกับคนกลุ่มเล็ก ๆ โดยอาศัยการสังเกต วิเคราะห์ และฟังจนกว่าจะสามารถเข้าใจอีกฝ่ายได้อย่างลึกซึ้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ดังนั้น จึงไม่มีข้อจำกัดว่าควรต้องมีบุคลิกภาพแบบไหนถึงจะเป็นนักให้คำปรึกษาหรือเป็นนักจิตบำบัดได้ และยิ่งไม่ต้องพยายามที่จะไปแก้ไขรักษาให้มีบุคลิกภาพที่แตกต่างไปจากที่ตัวเองเป็น เพียงแต่ต้องมองหาจุดแข็งและศักยภาพในบุคลิกภาพของตัวเองให้เจอเพื่อที่จะได้นำมันออกมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ 


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากสนับสนุนให้ทุกคนเคารพในความแตกต่างหลากหลาย แม้ว่าจะรู้สึกไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ถึงคนที่มีบุคลิกภาพแตกต่างไปจากตัวเองในบางครั้ง เพราะไม่ว่าจะเป็นคนที่ถนัดแบบไหน พลังงานชีวิตมาจากภายในหรือภายนอก ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีพื้นฐานต้องการความรักและความเข้าใจไม่แตกต่างกัน 


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] 8 Signs You Might Be an Introvert. Retrieved from https://www.verywellmind.com/signs-you-are-an-introvert-2795427

[2] Introvert Personality. Retrieved from https://www.webmd.com/balance/introvert-personality-overview

[3] Can I be a Therapist if I’m an Introvert? Retrieved from https://www.pointloma.edu/resources/counseling-psychology/can-i-be-therapist-if-im-introvert

[4] 9 Famous People You’d Never Guess Were Introverts. Retrieved from https://www.rd.com/list/famous-introverts/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page