top of page

คุณกำลังทำให้ลูกกลายเป็น ‘Imposter Syndrome‘ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง อยู่หรือเปล่า?

Updated: Feb 19



Imposter Syndrome เป็นอาการที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานของยุคนี้ ที่หลายคนอาจจะกำลังคิดว่าตัวเองกำลังประสบกับอาการ Imposter Syndrome นี้อยู่ [หากคุณยังไม่รู้จักว่า Imposter Syndrome คืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.istrong.co/single-post/imposter-syndrome] โดยคำในภาษาไทยที่ใช้ระบุคำว่า Imposter Syndrome ก็คือ “โรคคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ” ซึ่งแม้ว่าในคำภาษาไทยจะใช้คำว่า “โรค” แต่คำว่าโรคในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอาการป่วย แต่หมายถึงอาการแสดงของพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาในลักษณะของการคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ซึ่งถ้าหากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “syndrome” ไม่ใช่ “disease” ซึ่งสิ่งที่จะพ่วงตามมาในขบวนของ Imposter Syndrome ก็คือ การมีระดับความภาคภูมิใจในตัวเองที่น้อย (Low Self-esteem) และความสงสัยในตนเอง (Self-doubt)


ก่อนที่จะไปดูสิ่งที่น่าจะเป็นแนวโน้มของการเป็น Imposter Syndrome คุณเชื่อหรือไม่ว่าแม้แต่ดาราดังของ Hollywood หลายคนก็ประสบกับ Imposter Syndrome อยู่ด้วยเหมือนกัน อย่าง Judie Foster เคยกล่าวไว้ในปีที่เธอได้รับรางวัล Oscar ว่าเธอมีความคิดว่าเธอได้รางวัลมาเพราะความฟลุค Imposter Syndrome จึงเป็นอาการที่สามารถเกิดกับใครก็ได้ที่เคยเผชิญกับประสบการณ์บางอย่างจนทำให้กลายเป็นคนที่มีอาการของ Imposter Syndrome ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัยมักพบว่าเพศหญิงจะมีโอกาสประสบกับ Imposter Syndrome มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้หญิงเก่งที่ต้องทำงานอยู่ในสายงานที่สังคมมองว่าเป็นสายงานที่เหมาะกับเพศชาย


ทำไม Imposter Syndrome จึงเกิดขึ้น?


1. การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ไม่ชมลูกเลย

สิ่งที่คนเราถูกพร่ำสอนหรือบอกซ้ำ ๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้น โดยเฉพาะจากพ่อแม่ จะกลายมาเป็นเสียงที่คอยหลอกหลอนอยู่ในหัวสมองซ้ำ ๆ เหมือนเพลงที่ถูกกดปุ่ม repeat แม้เสียงของพ่อแม่จะหยุดลงไปแล้ว แต่ประโยคเหล่านั้นก็จะยังคงดังอยู่ดี โดยเปลี่ยนเป็นเสียงของเราแทน


ยกตัวอย่างเช่น

“เอ้า!! ทำไมทำจานแตกล่ะ ไม่ได้เรื่องเลย ของแค่นี้ก็ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรกิน”

“โอ้โห!! โง่จริงจริ๊ง เรื่องแค่นี้ใคร ๆ เค้าก็รู้ แกไม่รู้จริง ๆ เหรอ”

“พี่เอลูกป้าหนึ่งเค้าสอบติดหมอ แกล่ะอ่านหนังสือหนังหาหรือยัง วัน ๆ เห็นแต่ดูซีรีส์เกาหลี”


ซึ่งประโยคที่ลูกได้ยินซ้ำ ๆ จากพ่อแม่ มักจะกลายมาเป็นความเชื่อของตัวเขาเองว่าเขาเป็นแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่ชมลูกเลยเวลาลูกทำสิ่งที่ดี หรือชอบนำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ลูกก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหนก็ไม่มีวันที่จะดีพอ ไม่ว่าจะเก่งยังไงก็จะเป็นคนไม่เคยถูกมองเห็นอยู่ดี แต่จะเป็นคนที่ไม่ดีไปเลยก็ไม่ได้ เพราะจะเกิดความรู้สึกว่า “ขนาดฉันเป็นคนที่ดีพ่อแม่ยังมองไม่เห็นฉันเลย แล้วถ้าไม่ทำตัวไม่ดีล่ะ ฉันจะโดนหนักขนาดไหน”


2. การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ชมลูกมากเกินไป

การชมย่อมดีกว่าการด่า โดยเฉพาะการชมเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจ แต่บางคนการชมกลับทำให้เขารู้สึกอึดอัดกดดันมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะคนที่ถูกชมมากเกินไป เพราะมันเป็นงานที่หนักที่ต้องคอยรักษาคุณลักษณะที่ดีเอาไว้เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง


ยกตัวอย่างเช่น

“ลูกของแม่เก่งที่สุดเลย ได้เกรด 4 ทุกวิชาเลย แม่ภูมิใจในตัวลูกที่สุดในโลกเลย”

ซึ่งมันจะยิ่งแย่ลงถ้าหากวันหนึ่งลูกไม่ได้เกรด 4 ทุกวิชาแล้วคุณเผลอทำสีหน้าผิดหวังออกไปแม้เพียงเสี้ยววินาที แต่ถ้าหากลูกของคุณสังเกตเห็นสีหน้านั้น เขาจะมองว่าตัวเองกำลังทำให้พ่อแม่ผิดหวัง และอาจเลยเถิดไปถึงการมีความคิดว่าตัวเองเป็นลูกที่แย่ก็ได้ เพราะสำหรับบางคนการเป็นแชมป์อาจไม่ยากเท่ากับการรักษาตำแหน่งแชมป์


3. สิ่งที่ครอบครัวถือเป็นคุณค่าหรือค่านิยม

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเป็นหน่วยย่อยของสังคม ดังนั้น เหนือครอบครัวขึ้นไปย่อมมีสังคมที่ส่งอิทธิพลลงมา ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่น


ยกตัวอย่างเช่น

“มีลูกผู้หญิงเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน”

“ลูกคนแรกควรเป็นลูกชาย เพราะลูกชายสืบสกุลได้”

“หัวหน้าครอบครัวคือพ่อ ดังนั้น ผู้ชายจึงเป็นช้างเท้าหน้า”

“ลูกผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ ห้ามร้องไห้ออกมาโดยเด็ดขาด”

“ลูกผู้ชายต้องดูแลปกป้องลูกผู้หญิง พี่ชายต้องปกป้องน้องสาว น้อยชายต้องปกป้องพี่สาว”


ซึ่งการที่ครอบครัวมีค่านิยมเช่นนี้ อาจส่งผลต่อมุมมองที่ลูกมีต่อตัวเขาเอง โดยคนที่เติบโตขึ้นไปแล้วมีอาการของ Imposter Syndrome มีแนวโน้มว่าจะมีมุมมองต่อตนเองในเชิงลบ ไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการใส่ใจจากคนอื่น ต้องเป็นผู้เสียสละอยู่เสมอ เพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่เสียสละหรือทำตัวต่อต้านขึ้นมา พ่อแม่จะจะแสดงทีท่าว่าจะไม่รักขึ้นมาทันที ทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะต้อง “วิ่งไขว่คว้าความดี” และ “สวมใส่หน้ากากเทวดานางฟ้า” อยู่เสมอ ส่งผลให้ลึก ๆ ข้างในรู้สึกว่างเปล่า ยิ่งนานวันยิ่งรู้สึกว่าตัวเองปลอมเปลือกจนรู้สึกแย่กับตัวเองเป็นอย่างมาก


4. พ่อแม่เองก็เป็น Imposter Syndrome เหมือนกัน

กล่าวกันว่า “ลูกคือภาพสะท้อนของพ่อแม่” โดยมากแล้วลูก ๆ จะมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่หนีไปจากสิ่งที่พ่อแม่เป็นสักเท่าไหร่ ซึ่งในบทความนี้ยังไม่ได้ศึกษาลึกลงไปถึงระดับ DNA จึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่าการที่ลูกมีอาการของ Imposter Syndrome มาจากการได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม แต่มองในเชิงการเรียนรู้ทางสังคมมากว่า กล่าวคือ พ่อแม่ก็คือสังคมแรกของลูกที่ลูกจะซึมซับเรียนรู้วิธีคิด วิธีพูด วิธีการแสดงออก ซึ่งหากพ่อแม่เองก็เป็น Imposter Syndrome ก็มีแนวโน้มว่าลักษณะของวิธีคิด วิธีการมองโลกมองตัวเอง จะถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ผ่านการเรียนรู้ทางสังคมของลูก


ทำอย่างไรถึงจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ทำให้ลูกมีอาการของ Imposter Syndrome

1. เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังลูกเวลาที่ลูกมีปัญหาและต้องการปรึกษาคุณ


2. ฝึกฝนให้ตนเองเป็นพ่อแม่ที่ตระหนักรู้ เช่น รู้ว่าเป้าหมายชีวิตของตนเองคืออะไร


3. เดินทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่ปล่อยเกินไป ไม่เข้มงวดจนเกินไป และไม่ตามใจจนเกินไป


และสำหรับพ่อแม่ที่มีอาการของ Imposter Syndrome ก็อาจจะลองไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการบำบัดเยียวยาสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของตนเอง เพื่อลดโอกาสในการที่ถ่ายทอดความเป็น Imposter Syndrome ให้กับลูกผ่านการเรียนรู้ทางสังคมของลูก รวมไปถึง การพบกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณทราบเทคนิคในการจัดการกับ Imposter Syndrome ซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้เองที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นคนที่มีอาการของ Imposter Syndrome ได้

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Managing the Imposter Syndrome in Academia: How to Overcome Self-Doubt by Moira Killoran, PhD

[2] Imposter Syndrome by by Adrienne Isaac

[3] ทำไมฉันไม่เคยเก่งพอ Imposter Syndrome / Have a nice day EP.75 by นิ้วกลม


บทความแนะนำ



 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG

iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page