จะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกไม่อยากเป็นเหมือนเพศกำเนิด
การเป็นพ่อ เป็นแม่คนนี้นะคะ นอกจากจะไม่ง่ายแล้ว ยังต้องเป็นไปตลอดชีวิต ลาป่วย ลาพักผ่อน ลาออกก็ไม่ได้ แถมในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนไว คนเป็นพ่อเป็นแม่ยิ่งต้องเปิดใจกว้างมาก ๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กเจนแอลฟ่า (Generation Alphas) คือ เด็กที่เกิดในปี พ.ศ. 2553 – 2568 ที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะไร้ขีดจำกัดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไม่นับถือศาสนา การมีเพศทางเลือกเป็นเรื่องปกติ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ประหนึ่งคมมีดกรีดใจของคุณพ่อคุณแม่ที่ค่อนข้างเป็นนักอนุรักษ์นิยมพอสมควร และเมื่อคนที่มีช่องว่างระหว่างวัย มีช่องว่างระหว่างทัศนคติ มีความต่างในแนวคิดการใช้ชีวิต และมีการมองโลกคนละมุมดันมาเป็นพ่อ แม่ ลูกกัน ปัญหาก็จะตามมา หากพ่อ แม่ ลูก ไม่มีการปรับตัวเข้าหากัน (อ่านบทความ 5 วิธีเลี้ยงเด็กยุคอัลฟ่าเจนอย่างมีประสิทธิภาพ)
ดังเช่นที่ซีรี่ย์เรื่องวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 ได้หยิบยกมานำเสนอ ซึ่งเรื่องราวที่กระทบใจของผู้เขียน และขอนำมาแชร์กับคุณผู้อ่านในบทความนี้ ก็คือเหตุการณ์ใน episode 8 ที่คุณแม่ (ที่แสดงโดยคุณน้ำฝน สรวงสุดา ลาวัลย์ประเสริฐ ที่บอกเลยว่าแค่ยืนทำตาดุ ๆ คนดูยังกลัวเลยจ้า) ทะเลาะกับลูกสาววัยรุ่นชื่อ น้องไออุ่น (แสดงโดยน้องพลอย ศรนรินทร์ ที่ได้ฉายาว่า จินตรา 2) เรื่องมันเกิดจากว่า คุณแม่เอ๊ะใจกับพฤติกรรมบางอย่างของลูกสาว จึงแอบไปค้นห้องลูก คุณแม่ก็ไปค้นแถวตู้เสื้อผ้า จนไปเจอกล่องที่เก็บความลับของน้องไออุ่นไว้ (คำเตือน ต่อไปนี้เป็นสปอยส์) นั่นก็คือแถบรัดหน้าอก คุณแม่ที่อารมณ์คุกรุ่นและหัวร้อนในระดับเดือดปุดๆ ยืนรอลูกสาวกลับมาจากโรงเรียนเพื่อถามว่ามันเกิดอะไรกันแน่ แต่ด้วยความที่อารมณ์นำเหตุผลซะเยอะ คุณแม่จึงเผลอลงไม้ลงมือกระชากเสื้อลูกสาวจนขาด เผยให้เห็นว่าลูกรัดหน้าอกอยู่ คุณแม่จึงถามด้วยความผิดหวังปนเสียใจ ว่า “อุ่นเป็นบ้าอะไร” ด้านคุณลูกเจอแบบนั้นก็ฟิวส์ขาดเช่นกัน จึงตอบโต้กลับไปว่า “อุ่นไม่ได้เป็นบ้า อุ่นไม่รู้เหมือนกันว่าอุ่นเป็นอะไร แต่อุ่นไม่อยากเป็นผู้หญิง”
ในฉากดังกล่าว สะท้อนอะไรให้เราเห็นได้หลายอย่างค่ะ ทั้งเรื่องความผิดหวังของแม่ ที่คาดหวังตามพื้นฐานปกติ คือ ลูกต้องเป็นเพศตามกำเนิดไปตลอดชีวิต ความสับสนในตัวเองของเด็กวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในวัยค้นหาตัวตน และความห่างของช่องว่างทางความคิด ช่องว่างทางความรู้สึก ระหว่างแม่กับลูกสาวที่ไม่สามารถสื่อสารและปรับจูนให้เข้าใจกันได้ ฉากละครดังกล่าวจึงได้สะท้อนเข้ามาในใจเราว่า “หากเราที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เจอกับเหตุการณ์ในละคร เราควรทำเช่นไร?”
คำตอบของคำถามข้างต้น สามารถหาคำตอบได้จากปาถกฐาของคุณหมอ Norman Spack เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนที่กำหนดเพศสภาพ (Gender) ของโรงพยาบาลเด็กบอสตัน โดยใจความสำคัญของปาถกฐา ก็คือ “เราจะสามารถช่วยวัยรุ่นเพศทางเลือกให้กลายเป็นคนที่พวกเขาต้องการได้อย่างไร?” น่าสนใจใช่ไหมละค่ะ คุณหมอ Spack ได้กล่าวไว้ว่า ในการแสดงตัวตนทางเพศของวัยรุ่นนั้น ต้องอาศัยความกล้ามหาศาล เพราะมันเป็นการแสดงตัวเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยต่อความคาดหวังของพ่อแม่ของตัวเอง แต่หากพวกเขาไม่เปิดเผยเพศสภาพที่แท้จริงของตัวเอง ก็จะกลายเป็นศัตรูกับความรู้สึกของตัวเองอีก
การที่คนเราอยู่ในภาวะไม่พอใจต่อเพศโดยกำเนิดนั้นเป็นเรื่องทรมานใจอย่างมาก เพราะในขณะที่ร่างกายเป็นแปลงไปตามวัย ซึ่งรวมไปถึงอวัยวะที่บ่งชี้เพศก็เจริญไปตามวัยด้วย แต่จิตใจเรากลับต่อต้านอย่างรุนแรง พยายามแสดงพฤติกรรมฝืนธรรมชาติทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปตรงกับเพศสภาพในใจที่สุด แล้วเรื่องการเป็นเพศทางเลือกจะเป็นปัญหาหนักไปอีกในช่วงที่พวกเขามีความรัก มันจะกลายเป็นการคบหาที่ต้อง หลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นการมีความรักที่ถูกตราหน้าว่าผิดศีลธรรม ผิดธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่ พวกเขาแค่ “มีความรัก” นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับคนที่เป็นเพศทางเลือก ก็คือ การถูกปฏิเสธจากพ่อแม่ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยสำหรับการครองแชมป์ฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกของกลุ่มคนเพศทางเลือก
ดังนั้นแล้ว จึงนำมาสู่คำถามสำคัญ ว่า “พ่อ แม่ ควรทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเพศทางเลือก” ซึ่งคุณหมอ Spack และผู้เชี่ยวชาญทางพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ได้ให้คำแนะนำในการดูแลลูกที่เพศทางเลือก ซึ่งสรุปได้ตามนี้ค่ะ
1. เปิดใจยอมรับความเป็นจริง
โลกเปลี่ยนไปทุกวัน ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย และการที่ลูกเป็นเพศทางเลือกไม่ได้หมายความว่าโลกจะแตก ชีวิตก็ต้องเดินต่อไป เพียงแค่คุณพ่อ คุณแม่ต้องยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนแผนนิดหน่อยให้เหมาะสมกับ “ตัวตน” ของลูกเรา
2. ศึกษาเรื่องเพศทางเลือก
ศึกษาทั้งการใช้ชีวิต ศึกษาหาแนวทางก้าวข้ามอุปสรรคที่ลูกต้องเผชิญไปพร้อมกับลูก ศึกษาแนวทางสนับสนุนลูก ๆ ให้มีชีวิตที่ปกติสุขที่สุด
3. เปิดใจคุยกับลูก
ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร “ลูกก็คือลูก” และเราก็ยังเป็นพ่อ เป็นแม่ของลูกเสมอ เพราะฉะนั้นหากมีอะไรติดค้างคาใจ ขอให้เปิดอกคุยกันค่ะ
4. ดูแลลูกตามธรรมชาติของลูก
โดยไม่ต้องยึดเติดกับเพศ (Sex) โดยกำเนิดของลูก ซึ่งธรรมชาติ ณ ที่นี้ คือ บุคลิกภาพ ความชอบ รสนิยม และอื่น ๆ ที่เป็นตัวตนของลูก
อย่างที่บอกตอนต้นค่ะ การเป็นพ่อแม่ยากมาก แต่คงไม่ยากเกินกว่าที่จะยอมรับ “ตัวตนของลูก” ที่เราให้กำเนิดเขาขึ้นมา ในฐานะ “แม่คนหนึ่ง” ตอนลูกอยู่ในท้อง เราหวังแค่ว่าให้เขาออกมาสมบูรณ์ พอเขาคลอดออกมา แม่คนนี้หวังแค่ว่า ให้เขาเติบโตอย่างปลอดภัยและมีความสุข แต่ในวันที่ลูกโตพอที่จะใช้ชีวิตของลูกเอง เพราะอะไรเราถึงต้องยัดเยียดความคาดหวังให้ลูกแบก เราให้ชีวิตลูกแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตลูก เรามีความหวังต่อลูก แต่ไม่ควรไปคาดหวังอะไรกับลูก เราในฐานะพ่อ แม่ คือคนที่ลูกรักโดยบริสุทธิ์ใจ คือคนที่ลูกฝากชีวิตไว้ให้ดูแล เพราะฉะนั้น เราไม่ควรให้เรื่อง “เพศ (Gender)” ของลูกมาทำลายความรักที่เรามีให้กันเลยค่ะ
iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1. ซีรี่ย์วัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 episode 8.
2. Norman Spack. How I help transgender teens become who they want to be. [online]. https://www.ted.com/talks/norman_spack_how_i_help_transgender_teens_become_who_they_want_to_be.
3. เลี้ยงลูกนอกบ้าน. จะยัดเยียดเพศให้เด็กทำไม?. (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/takekidswithus
Comments