top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น ผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ (Satir’s Model)



คนหลายคนมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้โลก คนหลายคนปรารถนาที่จะเรียนรู้คนอื่น แต่สิ่งสำคัญที่สุดในทางจิตวิทยา ก็คือ คนเราทุกคนควรที่จะเรียนรู้ตัวเองเพื่อให้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นค่ะ โดยทฤษฎีจิตวิทยาที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในการรู้จักตัวเองในขณะนี้ ก็คือ ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ หรือ Satir’s Model ค่ะ ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ (Satir’s Model) เพื่อให้ทุกท่านรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

Satir’s Model เป็นที่รู้จักในประเทศไทยในหมู่นักจิตบำบัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนได้รับความนิยมมากขึ้นในปี พ.ศ. 2543 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้มีการก่อตั้ง “สมาคมพัฒนาศักยภาพมนุษย์และจิตบำบัดแนวซาเทียร์” ขึ้น เพื่อฝึกอบรมนักจิตวิทยา นักจิตบำบัดให้มีความสามารถในการใช้ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ และประยุกต์ใช้ Satir’s Model ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


โดย Satir’s Model มีความเชื่อพื้นฐาน คือ (1) คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน สามารถพัฒนาตนเองได้ (2) หัวใจของการเติบโตของทุกคนอยู่ที่การปรับตัว และปัญหาส่วนใหญ่ของคนเราก็มาจากการปรับตัวนั่นละ และ (3) ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเปลี่ยนแปลงยาก แต่จิตใจคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ แม้เราจะเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตที่เราอยากให้เป็นได้


ทั้งนี้ Satir’s Model มีทฤษฎีที่เป็นที่นิยมและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรู้จักตัวเองได้ผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ ซึ่งได้เปรียบเทียบว่าเราทุกคนเปรียบเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ซึ่งมี 7 ระดับ ดังนี้ค่ะ


1. พฤติกรรมที่เราแสดงออก (Behavior)

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักยอดบนสุดของภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ ที่เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ พฤติกรรมที่เราแสดงออกนั่นเองค่ะ เช่น การเดิน คำพูด สีหน้า ท่าทางต่าง ๆ ล้วนบ่งบอกถึงความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ ที่จะนำเราไปสู่ชั้นนำแข็งในระดับต่อ ๆ ไป


2. อารมณ์ ความรู้สึก (Feeling)

ในน้ำแข็งขั้นต่อมา ซึ่งลึกเข้าไปอีกหน่อย แต่ก็ยังพอมองเห็น หรือรับรู้ได้ ก็คือ อารมณ์ และความรู้สึกค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะสุข เศร้า สนุก ตื่นเต้น ล้วนสะท้อนว่าเรามีทัศนคติต่อสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร ซึ่งจะนำเราไปรู้จักกับชั้นน้ำแข็งที่อยู่ถัดไปได้


3. ความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึก (Feeling about feeling)

ในชั้นที่สามนี้จะมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าชั้นอื่น ๆ เสียหน่อย เพราะชั้นนี้ คือ “ความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึก” พูดง่าย ๆ ก็คือ ในชั้นที่สาม จะเป็นการสำรวจว่าเรามีความรู้สึกอย่างไรต่ออารมณ์ ความรู้สึก (Feeling) ที่สะท้อนตอบต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ฉันมีความสุขที่ฉันสนุกไปกับสถานการณ์ หรือฉันรู้สึกผิดที่ฉันดันรู้สึกดีเมื่อต้องเลิกกับคนรัก เป็นต้น


4. การรับรู้ (Perception)

ในชั้นต่อมาเราจะมาทำความรู้จักตัวเองผ่านความคิด ทัศนคติ และการรับรู้ที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ เพราะความคิด ทัศนคติ และการแปลความหมาย การรับรู้ การตีความต่าง ๆ ล้วนจะพาเราไปค้นพบ “ตัวตนที่แท้จริง” ของเราต่อไป


5. ความต้องการต่อตนเอง คนอื่น และสิ่งรอบข้าง (Expectations)

ในชั้นที่ห้า เราจะมาสำรวจความคาดหวังที่เรามีต่อคนอื่น ผ่านความต้องการที่เรามีต่อคนอื่น หรือสิ่งรอบข้าง เช่น เราต้องการให้คนรักใส่ใจเรามากกว่านี้ = เรามีความคาดหวังให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนรักแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือ เราต้องการให้เพื่อนร่วมงานใจดีกับเรา = เราคาดหวังการยอมรับในที่ทำงาน เป็นต้น


6. ความปรารถนา (Yearning)

ความปรารถนา คือ ความต้องการสูงสุดในจิตใจ เช่น ปรารถนาความรัก ปรารถนาความสำเร็จ ปรารถนาความร่ำรวย ปรารถนาความสุขสบาย ความปรารถนาเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เราเห็นถึง “ตัวตน” ที่แท้จริงของเรา ซึ่งจะพาเราเข้าสู่ภูเขาน้ำแข็งซาเทียร์ในชั้นสุดท้ายนั่นเองค่ะ


7. ตัวตน (Self)   

และเราก็ได้เดินทางมาถึงชั้นที่ลึกที่สุดของภูเขาน้ำแข็ง นั่นก็คือ “ตัวตน” ของเรา คำง่าย ๆ ที่อธิบายยากที่สุด เมื่อเราทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็งมาถึงชั้นนี้เราจะเข้าใจว่า “แก่น” ของเราคืออะไร เรามีชีวิตเพื่ออะไร พลังชีวิตของเราอยู่ที่ไหน


เมื่อเรารู้จักภูเขาน้ำแข็งของเราทั้ง 7 ระดับแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการรู้จักตนเองผ่านภูเขาน้ำแข็ง โดยมีวิธีการ ดังต่อไปนี้ค่ะ


1. ทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็งของเราเอง

โดยการสังเกตภูเขาน้ำแข็งของเราทีละชั้นว่าเรามีการแสดงออกอย่างไร (Behavior) มีความรู้สึกอย่างไร (Feeling) เราเกิดความรู้สึกต่อความรู้สึกอย่างไร (Feeling about feeling) เรามีการรับรู้อย่างไร (Perception) มีความคาดหวังต่อคนอื่นอย่างไร (Expectations) มีความปรารถนาต่อชีวิตอย่างไร (Yearning) และมีตัวตนอย่างไร (Self)          


2. สร้างความเชื่อมโยงภูเขาน้ำแข็งแต่ละชั้น

เมื่อเราทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็งในแต่ละชั้นแล้ว เราก็มาเชื่อมโยงว่าในแต่ละชั้นนำไปสู่ “ตัวตน” ของเราอย่างไร โดยการเชื่อมโยงจากพฤติกรรม ความรู้สึก ความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึก การรับรู้ ความคาดหวังต่อคนอื่น ความปรารถนาในชีวิต       ตัวตน


3. สำรวจภูเขาน้ำแข็งทีละชั้น

เมื่อทำความเข้าใจ และมีการเชื่อมโยงภูเขาน้ำแข็งในแต่ละชั้นแล้ว เราก็มาสำรวจดูว่า ในชั้นไหนที่ทำให้ชีวิตเรามีปัญหา หรือชั้นไหนที่เราควรเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนา เพื่อให้เกิดการเติบโต และมีคุณภาพ เช่น หากเป็นคนขี้หงุดหงิด หัวร้อนง่าย แสดงว่า เราอาจมีปัญหาที่ขั้นความคาดหวังต่อคนอื่น และความปรารถนาในชีวิต 


4. ตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลง/พัฒนา

เมื่อเราทำการสำรวจภูเขาน้ำแข็ง และเห็นว่าภูเขาน้ำแข็งในส่วนไหนมีปัญหา เราก็สามารถมุ่งเป้าไปเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาในส่วนนั้น จากตัวอย่างเดิม คือ เป็นคนขี้หงุดหงิด หัวร้อนง่าย แสดงว่า เราอาจมีปัญหาที่ขั้นความคาดหวังต่อคนอื่น และความปรารถนาในชีวิต ดังนั้นเราต้องปรับจูนความคิด ปรับทัศนคติที่มีต่อตัวเราเอง คนอื่น และที่มีต่อโลก เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึก เปลี่ยนความรู้สึก และเปลี่ยนพฤติกรรม


5. ลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง/พัฒนา

เมื่อเราตั้งเป้าไว้แล้วว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองไว้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ลงมือทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นจริง หรือลงมือปรับปรุงตัวเองเพื่อให้เกิดการพัฒนา


6. ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลง/พัฒนาในภูเขาน้ำแข็ง

และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราควรทำในขั้นสุดท้าย ก็คือ ชี้ให้ตัวเองเห็นผลของการเปลี่ยนแปลง เช่น เราใจเย็นลงมากเลยนะ คนรอบข้างโอเคกับเรามากขึ้นนะ มีเพื่อนเพิ่มขึ้น ไม่หัวร้อนง่ายแล้ว เป็นต้น เพื่อเสริมกำลังใจ เสริมแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 


มีคำคมในสามก๊ก กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ดังนั้นแล้วหากเราต้องการเอาชนะโชคชะตา ต้องการเอาชนะอุปสรรคในชีวิต เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง และพัฒนาเพื่อเติบโตอย่างสวยงามต่อไปค่ะ


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 1. นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีจัดการความทุกข์เมื่อรู้จักเข้าใจตนเอง(https://www.istrong.co/single-post/coping-stance)

2. การเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) ช่วยป้องกันเราจากโรคซึมเศร้าได้(https://www.istrong.co/single-post/self-esteem-prevent-us-from-depression)

อ้างอิง : นงพะงา ลิ้มสุวรรณ, นวนันท์ ปิยะวัฒน์กุล และสุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล. (2007). Satir Model. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 52(1); 1 – 6. 

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page