4 สัญญาณทางใจ บอกว่าคุณเป็นเดอะแบก (Hyper-Independence) มากไปแล้ว
ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ที่วัยทำงานและคนมีครอบครัวส่วนใหญ่ รู้สึกว่าตัวเองเป็น “เดอะแบก” คือ นอกจากจะถือสุภาษิตทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” หรือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แล้ว ยังต้องดูแลครอบครัว ต้องรับผิดชอบในหน้าที่การงาน และยังต้องเป็นคนดีของสังคมอีก คุณพระ!
ซึ่งภาวะการเป็นเดอะแบกทุกเรื่องราวนี้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Hyper – Independence” หมายถึง ผู้ที่ทำทุกอย่างด้วยตนเอง โดยพึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุด อีกทั้งในหลาย ๆ ครั้งยังรับปัญหาของคนอื่นมาไว้เป็นของตนเอง แต่เมื่อตัวเองมีปัญหากลับไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใคร ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร พยายามแก้ปัญหาและรับผิดชอบสิ่งที่คิดว่าเป็นภาระของตนเองด้วยตัวเอง จนเดอะแบกเหล่านี้มักจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตและสุขภาพกายในอนาคต เพราะความเครียด และความเหนื่อยล้าของร่างกายนั่นเอง
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ที่มีภาวะ “Hyper – Independence” ไว้ 4 ข้อ ดังนี้
1. พยายามพึ่งพาตนเอง โดยขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นน้อยมาก
ผู้ที่มีภาวะ Hyper – Independence โดยส่วนใหญ่ มักจะรู้สึกละอายใจที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากการที่เคยขอความช่วยเหลือแล้วแต่ถูกปฏิเสธกลับมา จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า “พึ่งพาตนเองดีที่สุด” และกลายเป็นเดอะแบกนับแต่นั้นมา
2. ค่อนข้างยึดติดกับความสัมพันธ์เดิม ไม่เปิดรับความสัมพันธ์ใหม่
คนที่เป็นเดอะแบก หรือมีภาวะ Hyper – Independence โดยมากมักจะมีลักษณะเป็นคนเก็บตัว (Introvert) คือ ชอบอยู่คนเดียว อาจจะมีคนรู้จักเยอะ แต่มีเพื่อนสนิทน้อยมาก ๆ และมีแนวโน้มสูงที่จะไม่เปิดรับความสัมพันธ์ใหม่ เพราะไม่อยากรับผิดชอบในความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น
3. เป็นคนสมบูรณ์แบบ (Perfectionism)
ผู้ที่เป็นเดอะแบก มักจะเป็นผู้ที่ทีแนวโน้มที่จะมุ่งหวังความสำเร็จ ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เข้าขั้นนิยมความสมบูรณ์แบบ หรือในทางจิตสิทยาเรียกว่า Perfectionism นั่นก็เพราะผู้ที่เป็นเดอะแบกรู้สึกว่าเขาต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องการการยอมรับว่าเขารับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองได้
4. เกิดความเครียดได้ง่าย
ผู้ที่มีภาวะ Hyper – Independence มักจะได้รับความกดดันสูง เพราะต้องพึ่งพาตนเอง รู้สึกว่าพึ่งพาใครไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา เขาต้องพุ่งชนด้วยตัวเองทั้งหมด จึงเกิดความเครียดได้ง่าย และเกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายได้ง่ายเช่นกัน
ด้วยความที่ลักษณะโดดเด่นของเดอะแบก หรือผู้ที่มีภาวะ Hyper – Independence ส่งผลโดยตรงให้เกิดความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้กล่าวว่า ผู้ที่เป็นเดอะแบก หรือมีภาวะ Hyper – Independence เป็นเวลานานนั้น มักเกิดความรู้สึกทางลบ ดังนี้
1. ไม่ไว้ใจใคร
ด้วยความที่แบกทุกอย่างจนเคยชิน ผู้ที่เป็นเดอะแบกจึงมักจะไม่ไว้ใจให้ใครมาช่วยแบ่งเบาภาระ เขาจะรู้สึกดีมากกว่าหากลงมือทำงานเองตั้งแต่ต้นจนจบ หากมีใครเข้ามาช่วย เขาก็จะเข้าไปรื้องานมาทำใหม่อยู่ดี เพราะไม่มั่นใจว่าสิ่งที่คนอื่นทำจะดีตามมาตรฐาน(สูงลิ่ว)ของตัวเอง
2. รู้สึกโกรธทุกอย่างในโลก
ถึงแม้ว่าจะไม่ไว้ใจใครให้มาช่วยงาน แต่ในใจแล้วก็ต้องการความช่วยเหลือ ด้วยความที่เคยขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมาก่อนแต่ถูกปฏิเสธ หรือเคยมีความหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น แต่ก็ผิดหวัง ผู้ที่มีภาวะ Hyper – Independence จึงมักโกรธโลกที่ไม่เคยใจดีกับเขา และโกรธผู้คนที่ไม่ช่วยเหลือในยามยาก
3. หมดไฟในการใช้ชีวิต
การที่เดอะแบกต้องรับภาระมากมายในชีวิต จึงมีความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เดอะแบกเป็นท้อกับการใช้ชีวิต และกลายเป็นคนหมดไฟ หมดกำลังใจในการชีวิตในที่สุด
ดังนั้น หากเราเป็นเดอะแบกนานไปคงไม่ดีแน่ iSTRONG จึงได้รวบรวมแนวทางการดูแลสุขภาพใจในสภาวะที่เราต้องเป็นเดอะแบกมาฝากกัน ดังนี้ค่ะ
1. หยุดพักเพื่อให้กำลังใจตัวเองบ้าง
หากสิ่งที่ทำอยู่เหนื่อยนักก็พักเสียก่อน ก่อนที่ร่างกายและจิตใจจะเหนื่อยล้าเกินทานทนจนกลายเป็นคนหมดไฟ ดังนั้นหากท่านใดรู้ตัวว่าอยู่ในภาวะ Hyper – Independence ลองกำหนดวันพักผ่อน หรือ Free day อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อหยุดทุกอย่าง และพักผ่อนอย่างแท้จริง
2. ขอความช่วยเหลือบ้างก็ไม่เสียหาย
ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นเดอะแบกจนเชี่ยวชาญและชำนาญพร้อมในทุกด้าน แต่ถ้างานหรือภาระรุมเร้าหลายด้านจนเกินไป การขอความช่วยเหลือจากคนที่สามารถช่วยเราได้ในบางครั้ง ก็สามารถลดความเครียด ความวิตกดังวลได้บ้าง
3. พยายามหาแง่มุมที่ดีในการใช้ชีวิต
แม้ชีวิตจะโหดร้าย แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องมองหาแง่มุมดีงามในชีวิต เพื่อสร้างกำลังใจในการเดินหน้าต่อสู้ปัญหา และลุยทุกภารกิจในชีวิต เพราะหากเราปล่อยให้จิตใจขุ่นมัว สายตาที่เรามองโลกก็จะมืดมน จนสุดท้ายแสงสว่างก็จะส่องมาไม่ถึงจิตใจของเรา
4. ปล่อยวางบ้าง
สิ่งใดหนักก็ปล่อย สิ่งใดตึงก็หย่อนลงบ้าง ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นตัวตึง และตัวแตกในที่สุด เมื่อสติเราขาด หรือความอดทนเราสิ้นสุดแล้ว เราอาจจะทำในสิ่งที่เราต้องเสียใจในภายหลังก็ได้
5. หาสถานที่พักใจ
ข้อแนะนำสุดท้ายของนักจิตวิทยา ก็คือ หา Safe Zone ให้เป็นที่พักพิงจิตใจ ทั้งในรูปแบบตัวบุคคลก็ตาม สถานที่ที่เราสบายใจก็ตาม หรือกิจกรรมที่ทำให้เราผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันเราจากโลกที่โหดร้าย ให้มีพื้นที่ส่วนตัวในการผ่อนคลายจิตใจ
การเป็นเดอะแบก หรืออยู่ในภาวะ Hyper – Independence นั้น หนักหนากับร่างกายและจิตใจอย่างมาก เพราะฉะนั้นอย่าลืมหยุดพักสังเกตตัวเองว่าเข้าขั้น Hyper – Independence แล้วหรือไม่ และอย่าลืมดูแลจิตใจตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่ได้นำเสนอไปข้างต้น เพื่อการใช้ชีวิตที่ปกติสุขของทุกท่านค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : Thanyarat Khotwanta. (2566, 6 สิงหาคม). ปัญหาหนักเต็มบ่า แต่ไม่กล้าพึ่งพาใคร รู้จัก Hyper-independence พึ่งพาตัวเองมากไปจนเจ็บปวด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2566 จาก https://thematter.co/lifestyle/hyper-independence/210010
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments