นักจิตวิทยาเด็กแนะนำ 8 วิธีจับสังเกตเมื่อเด็กเล็กถูกทำร้าย
จากข่าวที่มีเด็กเล็กถูกทำร้ายจากผู้ประกอบอาชีพ “ครู” ของโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง แถมซ้ำร้ายยังมีเพื่อนครูทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ นอกจากจะไม่ห้ามปรามพฤติกรรมโหดร้าย ของคนที่เรียกตัวเองว่า “ครู” คนนั้นแล้ว ยังทำร้ายเด็กด้วยความรุนแรงไม่ต่างกัน จากข่าวนี้ทำให้ดิฉัน ซึ่งมีลูกสาวคนเดียวที่เข้าเรียนอนุบาล 1 ในโรงเรียนเอกชน (แต่คนละโรงเรียน คนละเครือ) ก็รู้สึก ไม่สบายใจค่ะ และเชื่อว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองเอง ก็เริ่มกังวลใจว่าโรงเรียนที่เราเลือกให้ลูก โรงเรียน ที่อุตส่าห์ทำงานหาเงินหลักหมื่นหลักแสนมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก จะดูแลลูกเราดีจริง ๆ หรือไม่
ซึ่งอันที่จริงประเด็นการทำร้ายเด็ก การกระทำรุนแรงกับเด็กในสถานศึกษาของบ้านเรา มีข่าวมาให้เราสะเทือนใจ ได้อยู่เนือง ๆ ทั้ง ๆ ที่ “โรงเรียน” หรือสถานศึกษา ควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยไม่แบ่งว่าโรงเรียนรัฐหรือเอกชน และเมื่อความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นกับเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่มาก ยังบอกเล่าอะไรได้ไม่เยอะ จึงเป็นเรื่องยากค่ะที่เราจะไปซักถามจากลูกเรา ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะรู้ว่าลูกเราถูกทำร้ายหรือไม่ ก็คือการสังเกตค่ะ ดิฉันจึงไปค้นตำราจิตวิทยาสมัยเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน มาสรุปเป็น 8 วิธีจับสังเกตเมื่อเด็กเล็กถูกทำร้าย มาฝากกันค่ะ
1. มีบาดแผล หาที่ไปที่มาไม่ได้
วิธีง่ายที่สุดที่นักจิตวิทยาแนะนำให้สังเกตว่าเด็กเล็กถูกทำร้ายหรือไม่ ก็คือ บาดแผล รอยเขียวช้ำค่ะ แล้วยิ่งถ้าอยู่ในตำแหน่งแปลก ๆ เช่น หลัง ศีรษะ ก้น ขอให้ลองถามเด็ก ๆ ดูนะคะ ถ้าตอบไม่ได้ หรืออึกอัก ไม่กล้าตอบ ขอให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจถูกทำร้าย
ส่วนจะถูกทำร้ายจากที่ไหน หรือใคร ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ลองสังเกตต่ออีกนิดว่าเด็ก ๆ มักได้รับบาดแผลจากที่ใด เช่น มีแผลทุกครั้งที่กลับจากโรงเรียน มีแผลหลังจากอยู่กับพี่เลี้ยง เป็นต้น หากเริ่มชัดเจนว่าเด็กเล็กถูกทำร้ายจากที่ใด ขอให้รวบรวมหลักฐาน หรือบอกความกังวลใจต่อผู้มีอำนาจในสถานที่แห่งนั้นได้เลยค่ะ ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองค่ะ
2. มีคำพูดแปลก ๆ
หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง เริ่มสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ มีการใช้คำพูดแปลก ๆ ที่คนในบ้านไม่พูด เช่น คำสบถ คำหยาบ หรือการออกคำสั่งที่เป็นไปในทางลบ การดุเมื่อพ่อ แม่ ผู้ปกครองทำผิด ขอให้ลองสอบถามดูนะคะว่าเด็ก ๆ ไปได้ยิน หรือจำมาจากไหน เพราะบ่อยครั้งที่เด็ก ๆ ก็จำวิธีการทำโทษด้วยวาจามาจากโรงเรียน หรือจำคำพูดมาจากเพื่อน ๆ หากเป็นเพียงการพูดคำหยาบ ก็ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง อธิบายให้น้องเข้าใจว่า มันคืออะไร มันไม่ควรพูดในบริบทใด เพราะอะไรค่ะ
แต่ถ้าเป็นคำพูดที่แสดงถึงการทำโทษที่รุนแรง และกระทบจิตใจน้อง ในกรณีเช่นนี้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง สามารถพาน้องขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านได้ค่ะ หรือโทรมาที่ iSTRONG ก็ได้เช่นกันนะคะ และควรพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนถึงความไม่สบายใจของเรา เพื่อให้ทางโรงเรียนปรับปรุงวิธีการลงโทษเด็ก ๆ ค่ะ
3. มีพฤติกรรมก้าวร้าว
การมีพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กเล็ก ๆ นอกจากจะเกิดขึ้นตามพัฒนาการของเขาแล้ว ยังอาจเกิดจากการที่เด็กเล็กถูกทำร้ายได้ด้วยค่ะ ยิ่งในกรณีที่เด็ก ๆ ของเราเป็นเด็กสุภาพ เรียบร้อยมาก่อน แล้วจู่ ๆเปลี่ยนพฤติกรรมมาก้าวร้าว ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ลองสอบถามเด็ก ๆ ดูนะคะว่าที่อยู่ ๆ เขาก็ก้าวร้าวขึ้นมานั้นเขาต้องการอะไร และเลียนแบบจากที่ไหนมา เพราะเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเหล่านี้เกิดมาจากการ ที่เด็กเล็กถูกทำร้ายด้วยพฤติกรรมเหล่านั้นมาก่อนค่ะ
4. กลัวโรงเรียน
การไม่อยากไปโรงเรียน สามารถพบได้ในเด็กปกติทั่วไปก็จริงค่ะ แต่นักจิตวิทยา ให้ข้อสังเกตว่า หากเด็กเล็กถูกทำร้ายเด็กจะมีพฤติกรรม “กลัวโรงเรียน” เช่น แค่คุณแม่พูดว่าจะพาไปโรงเรียน ลูกก็ร้องไห้งอแง หรืออาเจียน หรือเอาสิ่งของที่สื่อถึงโรงเรียนไปซ่อน หากเป็นเช่นนี้ไม่ปกติแน่นอนค่ะ เพราะอาจเกิดจากความกลัวที่โดนทำร้าย
ดังนั้น หากเด็กแสดงความกลัวโรงเรียนแบบรุนแรงออกมา ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทำให้เด็กสงบ ด้วยการหยุดเรียนซักพักหนึ่ง แล้วพอเด็กสงบค่อยสอบถามเด็ก ๆ ว่าเพราะอะไรจึงหวาดกลัวโรงเรียนอย่างรุนแรง ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสามารถขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในการสอบถามเด็ก ๆ ได้นะคะ แต่ถ้าหากเด็กไม่บอกอะไร คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ก็สามารถขอดูภาพในกล้องวงจรปิดของโรงเรียนเพื่อความสบายใจได้ค่ะ
5. ตกใจง่าย ผวาง่าย เศร้า ซึม
หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง สังเกตได้ว่าลูกของเรา หรือเด็ก ๆ ของเรา จากที่เคยร่าเริงสดใส กลับซึม เศร้า มีเสียงดังหน่อยก็ผวา หวาดกลัวง่าย ตกใจง่าย ขอให้ลองสอบถามดูนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเด็กเล็ก ที่ถูกทำร้ายโดยส่วนใหญ่มักแสดงออกด้วยอาการเศร้า ซึม หวาดกลัวง่าย โดยเฉพาะคนแปลกหน้า หรือวัตถุ สิ่งของ ที่คล้ายกับสิ่งที่เขาถูกทำร้าย และจะตกใจง่ายกับเสียงดังค่ะ หากเด็ก ๆ มีอาการเช่นนี้แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง พาเด็ก ๆ พบนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก่อน เพื่อเยียวยาจิตใจเด็ก ๆ นะคะ แล้วค่อย สืบสาวว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
6. ฝันร้าย
เด็กเล็กที่ถูกทำร้าย มักจะมีความฝังใจในจิตใต้สำนึกจนเก็บเอาไปฝัน ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง สามารถสังเกตได้จากการนอนของเด็กค่ะว่ามีอาการผวา ละเมอร้องไห้ ละเมอพูดแปลก ๆ หรือตกใจตื่น ตอนกลางคืน นอนไม่หลับ กระวนกระวายเวลานอนหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่าเด็ก ๆ มีความไม่สบายใจอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์ และสุขภาพกายของเขาไปด้วยค่ะ
7. ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
เด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไปโดยปกติแล้วจะสามารถควบคุมการขับถ่าย หรือบอกได้ว่าต้องการจะขับถ่าย ซึ่งเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนเด็ก ๆ ก็สามารถเลิกผ้าอ้อม และเข้าห้องน้ำจัดการธุระส่วนตัวของเขาได้ แต่ถ้าหากอยู่ ๆ เด็ก ๆ ก็มีการปัสสาวะราด กลั้นอุจจาระไม่อยู่ บ่อยครั้ง หรือเฉพาะช่วงเวลา เช่น ขับถ่ายราดตอนจะเข้าโรงเรียน คุณครูแจ้งว่าเด็ก ๆ มีการขับถ่ายรดเสื้อผ้าระหว่างอยู่ที่โรงเรียน นั่นอาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าเด็ก ๆ ของเราถูกทำร้าย หรือมีเรื่องหวาดกลัวที่โรงเรียนอยู่ก็ได้ค่ะ
8. ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ แม้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
เด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 3 – 6 ขวบ มักจะมีการกลัวการแยกจาก หรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Separation” เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าถึงขั้นไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้แม้ช่วงนาทีเดียว ขอให้ลองสังเกตเพิ่มเติมว่าเป็นกับทุกคนหรือไม่ หรือเป็นตลอดเวลาหรือไม่ หากเป็นกับทุกคนและทุกเวลา นั่นอาจเป็นสัญญาว่าลูกถูกทำร้าย ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง สังเกตสิ่งอื่น ๆ ตามข้อ 1 – 7 เพิ่มเติมนะคะ เพื่อหาสาเหตุ และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
ช่วงเวลาที่ลูกอยู่โรงเรียนถือว่าเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเขาในวัยเด็ก และเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของเขา เพราะประสบการณ์ในโรงเรียนจะส่งผลต่อการเลือกอาชีพ ความชอบ ความมุ่งมั่น อุปนิสัย ทัศนคติ และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น หากเด็กเล็กถูกทำร้ายในโรงเรียนจะส่งผลไปทั้งชีวิตของเขาเลย จึงขอฝาก 8 วิธีจับสังเกตเมื่อเด็กเล็กถูกทำร้าย ข้างต้นไว้ด้วยนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2559. คู่มือหลักสูตรการพัฒนานักจิตวิทยาโรงเรียน. กรุงเทพฯ : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์. หน้า 72 – 80.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments