top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Hunger คนหิวเกมกระหาย กับ 7 เทคนิคจิตวิทยา ในการอยู่ร่วมกับ Perfectionist



จากการดู Hunger คนหิวเกมกระหาย ภาพยนตร์ของ Netflix ก็พบว่าความรู้สึกขณะดูมันช่างเหมือนกับตอนดู Whiplash ภาพยนตร์เจ้าของรางวัลหลายเวทีเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่ว่าด้วยมือกลองหนุ่มที่อยากยิ่งใหญ่ โดยการเอาชนะใจมือกลองระดับปรมาจารย์ขาโหดท่านหนึ่ง ซึ่งใน Hunger คนหิวเกมกระหาย เนื้อเรื่องและความกดดันก็จะคล้าย ๆ กัน คือเนื้อเรื่องว่าด้วยแม่ครัวร้านอาหารบ้าน ๆ คนหนึ่ง อยากโดดเด่นและแตกต่างด้วยการเข้ามาเป็นสมาชิกทีมเชฟของเชฟ No.1 เมืองไทย (ในเนื้อเรื่อง) และถูกทดสอบ ถูกกดดันสารพัด เอาเป็นว่าถ้าท่านไหนคาดหวังว่าจะได้เห็นเมนูอาหารน่ารับประทานแล้วละก็ ดิฉันขอแนะนำ Steak (R)evolution ภาพยนตร์สารคดีสเต๊กแทน เพราะ Hunger คนหิวเกมกระหาย จะเต็มไปด้วยการเสียดสี เย้ยหยัน และสะท้อนสังคม คล้ายกับเรื่อง The Menu ซึ่งสิ่งที่เห็นว่าโดดเด่นอย่างมากใน Hunger คนหิวเกมกระหาย ก็คือการแสดงเล่นน้อย ได้มาก ของคุณปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม ที่แสดงออกมาได้สมกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Perfectionist ซึ่งเราจะมาพูดถึงกันในบทความจิตวิทยานี้ค่ะ


Perfectionist คืออะไร?

Perfectionist คือหนึ่งในบุคลิกภาพผิดปกติตามตำราจิตวิทยา โดยมีลักษณะโดดเด่น คือคลั่งความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผน ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องออกมาตามแบบที่คิด และกลัวความผิดพลาด กลัวความผิดหวังอย่างมาก ซึ่งเป็นบุคลิกภาพผิดปกติที่เป็นผลมาจากความกดดันทางสังคม โดยเฉพาะในครอบครัวที่รุนแรงอย่างมาก


ทั้งนี้นักจิตวิทยาได้แบ่งลักษณะของ Perfectionist เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Self - Oriented Perfectionism คือ ผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้ตัวเอง เช่น ฉันต้องได้เกียรตินิยม ฉันต้องสวยเลิศ ฉันต้องเพียบพร้อม ฉันจึงจะประสบความสำเร็จ

  2. Other - Oriented Perfectionism คือ ผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้คนรอบข้าง เช่น เธอต้องรวยฉันถึงจะคบเป็นเพื่อน ลูกต้องเรียนให้เก่งที่สุดแม่ถึงจะยอมรับ เพื่อร่วมงาน/ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำงานให้ได้ตามที่ต้องการ ถึงจะเป็นเพื่อนร่วมงาน/ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี

  3. Socially - Prescribed Perfectionism คือ ผู้ที่เชื่อว่าหากตัวเองเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบตามความคาดหวังจะทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

นั่นจึงทำให้ผู้ที่บุคลิกภาพแบบ Perfectionist มักทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ หลีกหนีทุกทางที่มีโอกาสล้มเหลว มักคาดหวังและกดดันคนรอบข้าง หรือทำตัวเครียด เข้าถึงยาก จนกลายเป็น Toxic People ต่อคนรอบข้าง


7 เทคนิคจิตวิทยา ในการอยู่ร่วมกับ Perfectionist


เมื่อคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Perfectionist ทำพิษต่อจิตใจของเรา แน่นอนว่าคำแนะนำเบื้องต้น คือ “อยู่ให้ห่าง” แต่ถ้าต้องทำงานร่วมกันละ เรายังมีเจ้านายแบบ Perfectionist หรือหนักกว่าคือ พ่อ แม่ หรือลูกเราเป็น Perfectionist เราควรต้องรับมืออย่างไร ในบทความนี้จิตวิทยามีคำตอบค่ะ จากหนังสือขายดีไปทั่วโลกอย่าง “The No Asshole Rule : Building a Civilized Workplace and Surviving One” หรือชื่อไทยว่า “ที่นี่ไม่ต้อนรับคนเฮงซวย” โดย Robert I. Sutton และแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณวิกันดา จันทร์ทองสุข ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ


1. ปรับความคิดเป็น Growth Mindset

คือ ปรับความคิดให้เชื่อว่าเราพัฒนาได้ คนทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ สถานการณ์ร้ายได้ก็แก้ให้กลับมาดีได้แม้ต้องใช้เวลา ซึ่งเมื่อเราปรับความคิดเป็น Growth Mindset ได้เราจะมีความกดดันจาก Perfectionist น้อยลง และมีภูมิต้านทานทางใจแข็งแกร่งมากขึ้น


2. มีความยืดหยุ่นสูง

ข้อดีของความยืดหยุ่น คือ เราจะสามารถลื่นไหลได้ตามสถานการณ์ และมักจะมีทักษะในการมองหาทางออกของสถานการณ์คับขันได้เสมอ เพราะเมื่อเราต้องอยู่กับ Perfectionist เราจะหลีกเลี่ยงการถูกบีบบังคับได้ยาก และมักต้องตกอยู่ในสถานการณ์กดดัน ขับคัน หากเรามีความยืดหยุ่นสูงเราจะสามารถรอดตายได้ทุกสถานการณ์ค่ะ



3. ช่างมันบ้าง

ถ้าสิ่งใด ๆ ก็ตามที่ Perfectionist ทำให้เราหนักใจ เช่น การกำหนด Deadline แบบเอาตาย สั่งเช้าจะเอาเย็น สั่งแล้วอีก 15 นาทีมารับ ซึ่งถ้าเราวิ่งตามใจเขา เราก็ตายเองเพราะทำไม่ทัน แล้วพอเราเจอสถานการณ์การทำงานที่ไม่ปกติเช่นนี้บ่อยเข้า เราจะเสียสุขภาพจิตและเป็นโรคทางจิตเวชตามมา


4. พยายามต่อรองให้เราไม่เสียเปรียบ

บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบ Perfectionist ถึงแม้ว่าจะสุดโต่งแต่การรับรู้เหตุผล การเข้าใจความรู้สึกยังอยู่ในระดับปกติ จึงสามารถพูดคุยต่อรองกันได้ตามความเหมาะสม เช่น ขอต่อรองเวลาส่งงาน ขอผ่อนผันภาระงาน เป็นต้น


5. ถ้าเห็นว่าจะเจ็บตัว เจ็บใจ อย่าไปงัดกับเขา

แต่ถ้าเห็นว่า Perfectionist กำลังอารมณ์ขึ้น อย่าพาตัวเองไปปะทะเด็ดขาด เพราะจะมีแต่เจ็บตัว เจ็บใจ และไม่ได้อะไรกลับมาเลย อีกทั้งยังจะเสียความรู้สึก เสียเพื่อน เสียญาติกันไป หากเห็นว่าพวกเขากำลังใช้อารมณ์ หรือควบคุมตัวเองไม่อยู่แล้วละก็ ให้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีค่ะ


6. ต้องมี Safe Zone ใกล้ตัว

การทำงาน หรือการอยู่ร่วมกับ Perfectionist เป็นการใช้พลังใจสูงมาก เพราะเราจะถูกกดดัน และทำร้ายจิตใจตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาสุขภาพจิตของเราเอาไว้ โปรดจงมองหา Safe Zone ใกล้ตัว เช่น ห้องส่วนตัวที่เราสามารถสงบสติอารมณ์ได้ มุมสงบที่เราสามารถ Break Down อารมณ์ได้ หรือใช้ความโกรธไปลงกับกิจกรรมที่ใช้พลัง เช่น กีฬา ตู้เกม เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ทางลบออกมา


7. ใช้ความเป็นตัวเราเข้าสู้

ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้ Perfectionist เป็นพิษกับคนรอบข้าง คือ คาดหวังสูงมาก ถ้าเขาเพียงคาดหวังกับตัวเองสูง คนรอบข้างอย่างมากก็เป็นกังวลเพราะเป็นห่วงเขา แต่เขาดันมาคาดหวังกับเราสูง และผลักดันบ้าง กดดันบ้างให้เราเป็นอย่างที่เขาหวัง ดังนั้นเราต้องสู้ด้วยการเป็นตัวของตัวเองค่ะ จงเชื่อว่าเรามีดี และเป็นตัวเราเองดีต่อใจที่สุดแล้ว


ตามทฤษฎีจิตวิทยา “ลำดับขั้นความต้องการของ Maslow” หรือ Maslow's hierarchy of needs ได้กล่าวว่า ลำดับขั้นความต้องการที่มนุษย์บรรลุยากที่สุด คือ ความสมบูรณ์ของชีวิต (self – actualization) เพราะความต้องการของคนเรามีอยู่อย่างไม่จำกัด เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นั่นจึงหมายความว่า ไม่มีใครหรืออะไรในโลกนี้สมบูรณ์แบบ แต่เราก็สามารถใช้ชีวิตให้ดีที่สุด และมีความสุขที่สุดได้ และหวังว่าทุกท่านจะนำเทคนิคจิตวิทยาที่ได้แนะนำข้างต้นไปปรับใช้ เพื่ออยู่ร่วมกับคนหลากหลายรูปแบบให้มีความสุขนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

อ้างอิง :

[1] พบแพทย์. (2563).Perfectionist เมื่อชีวิตนิยมความสมบูรณ์แบบ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2566 จาก

[2] Robert I. Sutton แปลโดย วิกันดา จันทร์ทองสุข. (2023, มีนาคม). ที่นี่ไม่ต้อนรับคนเฮงซวย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์ How To.


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page