“Humble Narcissist” รูปแบบของผู้นำที่มีประสิทธิภาพในมุมมองของ Adam Grant

เชื่อว่าเกือบทุกคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “ถ่อมตน (Humble)” และคำว่า “หลงตัวเอง (Narcissist)” มาบ้าง โดยจากความหมายของมันแล้วไม่น่าจะมีทางมารวมอยู่ด้วยกันได้เลยรวมถึงมันดูจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าความถ่อมตนและความหลงตัวเองมันสามารถมารวมอยู่ด้วยกันในบุคคลเดียวได้
นอกจากนั้น ในมุมมองของ Adam Grant ศาสตราจารย์จาก Wharton School of the University of Pennsylvania และนักเขียนผู้ที่มีผลงานหนังสือโดดเด่นหลายเล่มอาทิเช่น THINK AGAIN ได้ระบุว่า คนที่มีทั้งความถ่อมตนและความหลงตัวเองในคนเดียวกัน (Humble Narcissist) อาจจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าคนที่มีลักษณะถ่อมตนหรือหลงตัวเองอยู่ในตัวเองแค่แบบเดียว
โดยผู้เขียนได้ทำการสรุปคร่าว ๆ มาจากบทความ “Tapping into the power of humble narcissism” หรือการใช้ประโยชน์จากความเป็นคนถ่อมตัวและหลงตัวเอง เขียนโดย Adam Grant มาได้ดังนี้
1. Humble Narcissist คือคนที่มีความทะเยอทะยานสูงแต่ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิ่งนั้น พวกเขาจึงไม่ปฏิเสธจุดอ่อนของตัวเองและพยายามที่จะเอาชนะมันให้ได้ ความหลงตัวเองจะทำให้เชื่อว่าตัวเองมีความพิเศษเหนือคนอื่น
ในขณะที่ความถ่อมตนจะทำให้เชื่อว่าตัวเองก็สามารถล้มเหลวและมีข้อบกพร่องได้ คนที่มีทั้งสองอย่างในตัวเองจึงเป็นคนที่ทั้งมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแต่ก็ยอมรับจุดอ่อนของตัวเองและยินดีที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด
2. เราจะดูน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจมากขึ้น และคนอื่นจะมองเห็นศักยภาพในความคิดของเรามากขึ้น หากเราถ่อมตนมากพอที่จะยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูไม่น่าจะเป็นไปได้แต่ก็พบว่ามีนายจ้าง 30% ที่อยากจะรับผู้สมัครงานที่ยอมรับข้อจำกัดของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
เช่น “ฉันทำงานหนักมากเกินไป” “ฉันแคร์มากเกินไป” แต่ทั้งนี้ก็ไม่ถึงกับต้องไปไกลถึงขั้นบอกว่า “ฉันตกงานและอาศัยอยู่ในบ้านของพ่อแม่” (ในข้อนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะอยู่ในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างไปจากบริบทของประเทศไทย)
3. พนักงานที่ขอความคิดเห็นในทางลบมักจะได้รับการประเมินผลการทำงานที่ดีกว่า เพราะพวกเขาแสดงออกว่าตัวเองต้องการที่จะเรียนรู้รวมถึงวางตัวให้คนอื่นเห็นได้ชัดกว่าว่าพวกเขายินดีที่จะเรียนรู้ ซึ่งหมายความไปถึงการยอมรับว่าตัวเองขาดเป้าหมาย มีข้อผิดพลาดที่บางทีก็อาจจะเคยทำพลาดไปอย่างมากด้วย
ยกตัวอย่างกรณีของรองประธานฝ่ายการตลาดของ Facebook ที่ชื่อว่า Carolyn Everson ที่เธอตัดสินใจโพสต์ผลประเมินการทำงานที่ได้รับจากหัวหน้าลงในกลุ่ม Facebook ของที่ทำงาน ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้เพอร์เฟคและเธอกำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาตัวเอง
4. ช่วงเวลาที่คุณกำลังตื่นเต้นกับความเชี่ยวชาญใหม่ที่ได้รับเพิ่มเติมมาในชีวิตหรือมีชุดทักษะใหม่ ๆ คุณจะต้องเพิ่มความหลากหลายหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้จำกัดอยู่เพียงสิ่งเดียวอีกครั้ง ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยความถ่อมตนอย่างแท้จริง
5. ถ้าคุณทำงานกับคนหลงตัวเอง (narcissist) อย่าพยายามไปลดความมั่นใจของพวกเขาลง แค่ใช้ความถ่อมตนเป็นตัวปรับสมดุลก็พอ ไม่ต้องไปบอกว่าพวกเขาไม่เก่งแต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะเตือนสติว่าพวกเขาเองก็เป็นมนุษย์ที่แต่ละคนไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเองตามลำพัง และปัจจัยที่ช่วยพาไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการร่วมมือไปด้วยกัน
ทั้งนี้ กุญแจสำคัญของความเป็น Humble Narcissist ก็คือ การที่ทั้งเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถและทั้งเปิดใจยอมรับว่าตัวเองก็มีจุดอ่อนรวมถึงพร้อมที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองในขณะเดียวกัน โดยผู้นำที่มีความมั่นใจในวิสัยทัศน์ของตัวเองไปพร้อมกับการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างไปจากตัวเอง มักจะสามารถสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นคนในทีมได้
เนื่องจากพวกเขามีความสามารถพิเศษในการผลักดันตัวเองและคนอื่นให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่โดยการลดแสงของตนเองแต่โดยการส่องแสงในทางที่ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมองเห็นเส้นทางข้างหน้า
จากข้อมูลของบทความ “Tapping into the power of humble narcissism” ทำให้ผู้เขียนได้พบว่า Humble Narcissist ดูจะเป็นความย้อนแย้งอันลงตัวที่ทำให้เห็นว่าคนเราสามารถมีความทะเยอทะยานและมั่นใจในตัวเองแต่ก็ยังคงเป็นคนที่เข้าถึงได้และพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ในคนเดียวกัน
หากสามารถบริหารให้ความถ่อมตนและความหลงตัวเองมาอยู่ในระดับที่สมดุลกันได้ก็จะสามารถนำเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างมากมาย ส่วนวิธีการที่จะทำให้ตัวเองเป็นคนที่สามารถจัดสมดุลระหว่างความถ่อมตนและความหลงตัวเองนั้น คุณ Adam Grant ไม่ได้เล่าเอาไว้ในบทความ แต่ผู้เขียนก็พยายามที่จะสรุปด้วยตัวเองว่าวิธีการที่จะผสมผสานระหว่างความถ่อมตนและความหลงตัวเองแล้วเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้แก่
1. มีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน
2. เชื่อว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถและเอาชนะตัวเองได้
3. เปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง
4. เรียนรู้จากความผิดพลาด ข้อเสนอแนะของคนอื่น และความคิดเห็นที่แตกต่าง อย่างถ่อมตน
5. อยู่ในกระบวนการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ โดยใช้สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้จากความผิดพลาดและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จากคนอื่นมาเป็นแนวทางในการพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
แต่ทั้งหมดนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็คงไม่มีใครตอบได้ นอกจากคนที่ทดลองทำด้วยตัวเองและติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้อ่านได้นำเอาวิธีการเหล่านั้นไปทดลองทำด้วยตัวเองดูแล้วและอยากแบ่งปันประสบการณ์ว่าได้ผลลัพธ์เป็นยังไงบ้างก็สามารถทักทายมาอัพเดทกับทีมงาน ISTRONG ได้นะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Keyword: Humble Narcissist, ผู้นำ
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Tapping into the power of humble narcissism. Retrieved from https://ideas.ted.com/tapping-into-the-power-of-humble-narcissism/
[2] The best teams have this secret weapon | Adam Grant. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=hPgY45xsGsU
[3] The Enlightened Edge: Unlocking the Power of the Humble Narcissist by Dr. Cherry Quite Contrary #ceowhisperher. Retrieved from https://www.linkedin.com/pulse/enlightened-edge-unlocking-power-humble-narcissist-dr-dr-cherry-eavje/
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.