top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 วิธีเยียวยาจิตใจเบื้องต้นตามหลักจิตวิทยา เมื่อลูกถูกทำร้าย


เมื่อคนเป็นพ่อ แม่ รู้ว่าลูกถูกทำร้ายไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึง เป็นสิ่งแรกก็คือ “จะเยียวยาจิตใจลูกอย่างไรดี?” ถึงแม้ว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายลูกเรา จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็สามารถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายดำเนินการแทนได้ แต่การเยียวยาจิตใจลูก คนแรกที่ควรเข้ามาเยียวยา ก็คือ พ่อ แม่ ซึ่งเป็นคนที่ลูกรัก และไว้ใจ เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยแล้วคุณพ่อ คุณแม่ จึงสามารถส่งต่อลูกไปสู่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาดูแลต่อไปได้ค่ะ



สำหรับการเยียวยาจิตใจลูกในเบื้องต้น เมื่อลูกถูกทำร้ายต้องทำอย่างไรนั้น ดิฉันได้สรุปคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเกี่ยวกับวิธีการเยียวยาจิตใจเด็กเมื่อเด็กถูกทำร้าย 5 วิธี ดังนี้ค่ะ


1. ให้ลูกอยู่ใน Safe Zone


Safe Zone ในที่นี้ ก็คือ บ้านที่ปลอดภัยสำหรับลูก ไม่ว่าลูกถูกทำร้ายจากที่ไหน แต่บ้านจะคอยดูแล และเป็นที่คุ้มครองลูกได้เสมอ โดยคุณพ่อ คุณแม่ ควรให้ลูกหยุดไปในสถานที่ที่ลูกถูกทำร้าย หรืออยู่ห่างจากคนที่ทำร้ายลูก ซึ่งอาจจะจัดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่บ้านของเราเอง หรือพาลูกและสมาชิกครอบครัวทุกคนไปพักผ่อน หรือไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดสักพักก่อน เมื่อลูกดีขึ้น เข้มแข็งมากขึ้นแล้ว จึงค่อยวางแผนในการหาที่อยู่ใหม่ ที่เรียนใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมใหม่ให้ลูกรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นค่ะ


2. ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น


เมื่อลูกถูกทำร้าย นักจิตวิทยาแนะนำว่าสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ควรทุ่มเทให้ลูกอย่างมาก ก็คือ ความใส่ใจค่ะ ทั้งการให้เวลา การใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น แต่อย่าเพิ่งถามลูกถึงเหตุการณ์ที่ลูกถูกทำร้ายนะคะ เพราะจะยิ่งไปเปิดแผลใจให้ลูกหวาดกลัว เมื่อลูกมีความสบายใจ ที่ได้อยู่กับเรา และลูกมีความพร้อมเมื่อไรลูกจะพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจของลูกเองค่ะ


3. หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกได้รับการกระตุ้นถึงเหตุการณ์เดิม


เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ รู้แน่ชัดว่าใครทำร้ายลูก และลูกถูกทำร้ายที่ไหน ก็ไม่ควรให้ลูกกลับไปอยู่ใกล้ชิดกับคนนั้น หรือกลับไปในสถานที่นั้นอีกค่ะ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ลูกหวาดกลัว มีบาดแผลฝังลึกในใจ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจ และมีผลให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้ค่ะ


ดังนั้น จึงควรให้ลูกอยู่ใกล้ชิด กับเรา อยู่ในสถานที่ปลอดภัย และให้อยู่ห่างไกลจากสิ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ทำร้ายลูก ไม่ว่าจะเป็นคน ที่มีลักษณะคล้ายกับคนที่ทำร้ายลูก หรือสถานที่คล้ายคลึงกับสถานที่ที่ลูกถูกทำร้ายค่ะ


4. ห้ามไม่ให้ใครถามลูกถึงเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ


เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ลูกถูกทำร้าย และดันเป็นข่าวใหญ่โต สิ่งที่ยากแต่ต้องทำสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ก็คือ ห้ามให้สื่อ หรือใครก็ตามมาสอบถามลูกโดยตรงค่ะ และคุณพ่อ คุณแม่เองก็ควรพูดถึงเหตุการณ์นั้นให้น้อยที่สุด เพราะเมื่อคำพูดของลูก หรือของเราถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์แล้ว มันจะคงอยู่ในนั้นไปตลอด ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี หรือลูกจะโตขึ้นแค่ไหน ลูกก็ยังจะถูกตอกย้ำซ้ำ ๆ ด้วยสื่อ ที่เขาเห็นค่ะ หรือต่อให้เหตุการณ์ที่ลูกถูกทำร้ายไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ คนในบ้านเองก็ไม่ควรไปถามถึง เรื่องดังกล่าวเพื่อให้เด็กย้อนนึกถึงอีกค่ะ


5. หากพบปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา


ถึงแม้ว่านักจิตวิทยาจะสนับสนุนให้คุณพ่อ คุณแม่ดูแลลูก ในกรณีที่ลูกถูกทำร้ายเป็นหลัก แต่ถ้าหากคุณพ่อ คุณแม่ได้เยียวยาจิตใจลูกแล้ว แต่ลูกยังมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ก้าวร้าวรุนแรง นอนไม่หลับ ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น


คุณพ่อ คุณแม่ สามารถขอรับคำปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่สถานพยาบาลรัฐ หรือเอกชนใกล้บ้านได้นะคะ หรือสามารถติดต่อเรา iSTRONG ได้เสมอนะคะ ทางเรามีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาค่ะ


การที่เด็กถูกทำร้ายไม่ว่าจะเล็กน้อย หรือหนักหนา แต่ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กในระยะยาว ดังนั้น เราจึงไม่ควรมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องเด็กแกล้งกัน หรือแค่ครูทำโทษ นะคะ เพราะเด็ก ที่สุขภาพจิตดีในวันนี้ จะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้าค่ะ โปรดอย่าลดคุณภาพชีวิต ของคน ๆ หนึ่งลง ด้วยการถูกทำร้ายเลยค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. ตุลาคม 2563. ดูแลใจอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกถูกทำร้าย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2563 จาก https://www.dmh.go.th

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page