วิตกกังวลแค่ไหน ถึงเข้าข่ายเป็น "โรควิตกกังวล"
ความรู้สึกวิตกกังวล (anxiety) เป็นความรู้สึกที่ทุกคนน่าจะเคยมีหรือบางคนอาจจะกำลังรู้สึกวิตกกังวลอยู่ โดยปกติทั่วไปความรู้สึกวิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเครียด สับสน คาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายควบคู่กันไป เช่น มือสั่น ปัสสาวะบ่อย ปั่นปวนในท้อง แต่หากความรู้สึกวิตกกังวลเกิดขึ้นมาก ๆ อย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคล ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะเป็นความวิตกกังวลที่ผิดปกติ ที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โรควิตกกังวล” (Anxiety Disorders) ซึ่งโรควิตกกังวลนั้นแบ่งย่อยออกได้เป็นหลายชนิด แต่ในบทความนี้จะขอยกชนิดที่เรียกว่า “โรควิตกกังวลในการเข้าสังคม” (Social Anxiety Disorder: SAD) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ “โรคกลัวสังคม” (Social Phobia)
ก่อนที่จะไปรู้จักกับโรควิตกกังวลในการเข้าสังคม อยากชวนให้ทำความเข้าใจอาการหรือพฤติกรรมที่มีความคล้ายกับมันเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่สับสนหรือตกใจว่าตัวเองกำลังเป็นโรควิตกกังวลในการเข้าสังคมอยู่หรือเปล่า ซึ่งได้แก่ บุคลิกมีโลกส่วนตัว (Introvert) ความขี้อาย (Shyness) นั่นเอง โดยจะชวนให้คุณทำความเข้าใจไปที่ละอย่าง ดังนี้
บุคลิกแบบมีโลกส่วนตัว (Introvert)
คำว่า Introvert มักจะถูกแปลว่า “บุคลิกแบบเก็บตัว” แต่ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า “เก็บตัว” เป็นคำที่ค่อนข้างคลุมเครือระหว่าง การชอบอยู่ตามลำพัง กับ การหนีไปซ่อนตัวจากสังคม จึงเลือกใช้คำว่า “มีโลกส่วนตัว” แทนคำว่าเก็บตัว เนื่องจากคนที่มีบุคลิกแบบมีโลกส่วนตัวนั้น พฤติกรรมของพวกเขาจะสัมพันธ์กับแหล่งพลังงานชีวิตมากกว่า โดยชาว Introvert มักจะรู้สึกว่าพลังงานของตัวเองเหือดหายเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมาก ๆ และต้องดึงพลังชีวิตเพื่อมาใช้กับการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ จึงมักจะชอบอยู่ตามลำพังมากกว่า และอาจจะต้องมีการหลบไปอยู่ในโลกส่วนตัวเพื่อชาร์จพลังให้กับตัวเองหลังจากที่ต้องพบปะพูดคุยกับผู้คนมาทั้งวัน ซึ่งชาว Introvert นั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องความอายหรือกลัวสังคม แต่มีปัญหากับความเหนื่อยล้ากับการที่ต้องเข้าสังคมเป็นเวลานาน ๆ มากกว่า
ความขี้อาย (Shyness)
คนที่มีความขี้อาย มักจะสัมพันธ์กับความรู้สึกกังวลว่าตนเองจะถูกสังคมประเมิน เช่น กังวลว่าจะถูกมองด้วยสายตาไม่พอใจ กังวลว่าคนอื่นจะไม่ชอบตนเอง กังวลว่าถ้าทำหรือพูดอะไรไปแล้วจะถูกคนอื่นหัวเราะ จึงพยายามที่จะหลบหน้าหลบตาหรือแยกออกมาอยู่ตามลำพัง ความต่างของคนขี้อายกับคนเป็น Introvert ที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดก็คือ คนขี้อายมักมีความต้องการที่จะเข้าสังคมแต่ไม่กล้า เพราะมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองและกลัวการถูกประเมินจากคนอื่น เช่น มีความต้องการที่จะมีเพื่อนใหม่ ๆ แต่ไม่กล้าเข้าไปสร้างสัมพันธภาพหรือเป็นฝ่ายพูดคุยทักทายคนอื่นก่อน เพราะกลัวว่าตัวเองจะพูดอะไรไม่ถูกหูอีกฝ่ายแล้วจะถูกรังเกียจ ส่วน Introvert นั้นสามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากจะอยู่ตามลำพังมากกว่าเพราะการเข้าสังคมมันทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย
โรควิตกกังวลในการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)
โรควิตกกังวลในการเข้าสังคม คล้ายกับความขี้อาย แต่ระดับของอาการจะมีความรุนแรงมากกว่า โดยผู้มีเป็นโรควิตกกังวลในการเช้าสังคมจะมีความรู้สึกกลัวที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าตนเองกำลังถูกจ้องมอง หรือตนเองอาจทำอะไรที่น่าอับอายขายหน้าและมักมีความวิตกกังวลที่เกิดจากความคิดแบบประเมินไปก่อนล่วงหน้า เช่น “เราคงพูดน่าเบื่อ” “เราคงจะทำให้ทุกคนเซ็งไปหมด” จึงพยายามที่จะหลบเลี่ยงหรือต้องอดทนมากต่อสถานการณ์ที่ตนเองกลัว จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมีอาการนานต่อเนื่องกัน อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งโรควิตกกังวลในการเข้าสังคมมักเริ่มเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจจะกลายเป็นอาการเรื้อรังได้
การแก้ไขปัญหาโรควิตกกังวล
1. ปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิกที่เชี่ยวชาญในการทำจิตบำบัด เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้อาการดีขึ้น โดยจิตแพทย์อาจพิจารณาการรักษาแบบใช้ยา หรือรักษาแบบใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป
2. สาเหตุหนึ่งของโรควิตกกังวลในการเข้าสังคมก็คือ “ความคิด” ที่มักคิดในทางลบ มีการประเมินเหตุการณ์ไปก่อนล่วงหน้า (ในทางลบ) ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลในการเข้าสังคมและกำลังรับการรักษาจากจิตแพทย์อยู่ อาจจำเป็นต้องใช้การฝึกฝนด้านความคิดเพิ่มเติมด้วย เช่น ฝึกหาวิธีคิดแบบอื่น ๆ มาหักล้างความคิดแรกของตนเอง, ฝึกหาหลักฐานมาพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดทางลบของตนเองเป็นจริงหรือไม่, หรืออาจจะใช้วิธีจดบันทึกวิธีคิดของตนเองในแต่ละครั้งที่มีความรู้สึกวิตกกังวลเกิดขึ้น เพื่อดูว่าวิธีคิดของตนเองสัมพันธ์กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นหรือไม่ หากความคิดครั้งใดเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกวิตกกังวลก็ควรหาวิธีลดการคิดแบบนั้นลง
3. หาใครสักคนที่ไว้วางใจได้เอาไว้เล่าระบายความรู้สึก ซึ่งบุคคลที่คุณควรเลือกเข้าหาเพื่อพูดคุยระบายความทุกข์หรือความไม่สบายใจ ก็ควรจะเป็นบุคคลที่พร้อมจะรับฟังคุณอย่างไม่ตำหนิซ้ำเติม และไม่ทำให้คุณต้องเป็นกังวลว่าบุคคลนั้นจะนำเรื่องราวของคุณไปเล่าต่อหรือพูดถึงคุณลับหลังในทางลบหรือไม่ ซึ่งหากคุณพิจารณาแล้วพบว่าคนใกล้ชิดของคุณไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้นเลย นักจิตวิทยาการปรึกษา หรือนักให้คำปรึกษาก็เป็นทางเลือกที่ดีที่อยากชวนให้คุณเก็บเอาไว้เป็นทางเลือก ในเวลาที่คุณต้องการที่จะปรึกษาใครสักคน
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
[1] Understanding the Dimensions of Introversion and Shyness. Retrieved from https://www.verywellmind.com/introversion-and-shyness-explained-3024882
[2] โรคกลัวสังคม อาการแบบไหนถึงเข้าข่ายป่วย. Retrieved from https://www.rama.mahidol.ac.th/
[3] จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)
การศึกษา ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มช และ ปริญญาตรี สาขา จิตวิทยา มช ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iStrong
Comments