top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ตอนเข้าทำงานแรกๆ มันก็ดี...แต่ทำมาหลายปีก็เริ่มเบื่องาน ทำยังไงดี?



คุณกำลังเบื่องานที่ตัวเองทำอยู่ไหมคะ? สาเหตุของการเบื่องานนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น เบื่อเพื่อนร่วมงาน เบื่อหัวหน้า เบื่อเพราะงานเยอะเกินไป เบื่อเพราะในหนึ่งวันไม่ค่อยมีอะไรให้ทำจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าในที่ทำงาน ฯลฯ รวมไปถึงการเบื่องานก็มีหลายระดับตั้งแต่เริ่ม ๆ เบื่อไปจนถึงเบื่อถึงขั้นหมดใจหมดไฟในการทำงาน โดยอาการเบื่องานถูกจัดแบ่งเป็น 3 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่


1. หมดไฟ (Burnout)

อาการหมดไฟในการทำงานมักมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการทำงานซึ่งอาจจะเป็นความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ทางอารมณ์ หรือทั้งสองอย่างรวมเข้าด้วยกัน โดยอาจเป็นเพราะปริมาณงานมากเกินไป มีงานด่วนงานแทรกอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่ได้พัก อยากจะลางานแต่ก็ไม่สามารถทิ้งงานไปได้ อ่อนล้าไปหมดทั้งกายใจแต่ก็ต้องฝืนเพราะว่าต้องเคลียร์งาน จนเกิดเป็นอาการที่เรียกว่า “The work-exhaustion syndrome” ซึ่งเมื่อร่างกายและจิตใจเริ่มจะทนทานต่อความเหนื่อยล้าที่แบกรับมาตลอดไม่ไหวก็จะเริ่มเกิดความตึงเครียดขึ้นโดยร่างกายมักจะเริ่มออกอาการก่อน เช่น ปวดตึงคอบ่าไหล่ ปวดหัวบ่อยมากขึ้น เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี ส่วนด้านจิตใจก็จะเริ่มรู้สึกไม่สดชื่น เกิดอารมณ์หดหู่ เศร้า เบื่อ ท้อแท้ หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเริ่มส่งผลต่อความคิดพฤติกรรม เช่น เริ่มคิดลบกับเพื่อนร่วมงานหรือองค์กร หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย นึกถึงงานทีไรก็อยากร้องไห้หรือมวนท้องอยากอาเจียน มีความรู้สึกว่าไม่อยากไปทำงาน


2. เบื่องาน (Bore-out)

อาการนี้ก็ตรงไปตรงมาตามชื่อเรียกของมันคือ “The work-boredom syndrome” ก็คือเบื่องานนั่นเอง สาเหตุของการเบื่องานนั้นแทบจะตรงข้ามกับสาเหตุของ Burnout เลยก็ว่าได้ คือเป็นการเบื่อกับงานที่ทำเพราะมันไม่ท้าทายความสามารถ หรือรู้สึกไม่พึงพอใจกับลักษณะของงานที่ได้รับมอบหมายเพราะมันดูไม่มีอะไรเลย ซึ่ง Bore-out มักจะเกิดขึ้นกับคนทำงานที่มีโปรไฟล์ดีหรือมีศักยภาพสูงกว่าตำแหน่งงานของตัวเอง หรือแวดล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมทีมรวมไปถึงหัวหน้าที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ขาดโอกาสในการได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ นำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเองถูกลดทอนคุณค่าความสามารถ และเกิดอาการเบื่องานในที่สุด เพราะสำหรับคนทำงานบางคนแล้ว การได้ตำแหน่งงานที่ไม่ค่อยมีงานให้ทำมากนักหรือเป็นงานแบบเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้ต้องแก้ปัญหาก็เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันงานที่ทำก็เป็นเหมือนกรงทองที่ให้เงินเดือนดี มีความมั่นคงสูง ทำให้ไม่อยากลาออกจากงานแต่ก็เบื่องานที่ทำ


3. หมดใจ (Brownout)

Brownout อาจจะเป็นคำที่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่า Burnout แต่ผลกระทบของมันก็จัดว่าหนักหนาไม่แพ้กันเลย อาการนี้จะเรียกว่า “The withdrawal-from-work syndrome” โดยคนทำงานที่เกิดสภาวะนี้จะรู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ไม่รู้จะทำงานไปทำไมแต่ก็ไม่อยากลาออก จึงเกิดอาการ “ลาออกทางอารมณ์” คือตัวมาทำงานตามปกติแต่ใจไม่ทำงาน ซึ่งนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ไม่รับผิดชอบงานที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใส่ใจกับคุณภาพของงาน ทำงานไปวัน ๆ แบบเช้าชามเย็นชามโดยไม่สนว่าเสียงรอบข้างที่พยายามขอร้องให้ปรับปรุงพฤติกรรม


แก้ไขอย่างไรดีหากเกิดอาการเบื่อทั้งจากสภาวะหมดไฟ-เบื่องาน-หมดใจ?


หากเปรียบการทำงานเหมือนความรัก ช่วงเบื่อก็คงจะเทียบได้กับรักที่หมดโปรโมชัน ช่วงแรก ๆ อะไร ๆ มันก็ดี มีปัญหาอะไรก็พยายามที่จะอดทนฝ่าฟัน งานที่ได้รับมอบหมายก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่บ้าง ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าก็ยังดีอยู่ แต่พอเริ่มเจอปัญหาในแต่ละวันจากการทำงาน ไม่ว่าจะงานมากไป งานน้อยไป งานไม่ท้าทาย หรือเพื่อนร่วมงานน่าเบื่อ ก็เริ่มสะสมความเครียดเอาไว้ทีละเล็กละน้อย ถ้าความเครียดไม่ได้รับการจัดการหรือปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะนำไปสู่อาการเบื่องานแบบต่าง ๆ ได้ ดังนั้น หากคุณเป็นคนทำงานที่กำลังเกิดอาการเบื่องานอยู่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธี ดังนี้


1. สำรวจว่าอะไรคือที่มาของอาการเบื่องาน

ลองกลับไปนึกทบทวนตั้งแต่ที่เข้ามาทำงานแรก ๆ และยังอยู่ในช่วงที่มีไฟในการทำงานว่าตอนนั้นคุณมีความรู้สึกแบบไหน ตอนที่มาสมัครงานคุณมีความต้องการอะไร ทำไมคุณจึงมาสมัครงานที่นี่ จากนั้นก็มาค้นหาว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณเปลี่ยนจากคนที่มีไฟเป็นเบื่องาน ในขณะเดียวกันก็วิเคราะห์ดูว่าที่ทำงานของคุณมีคนลาออกเยอะหรือบ่อยไหม นโยบายขององค์กรมันบั่นทอนสุขภาพกายใจของพนักงานหรือเปล่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การมองหางานใหม่เอาไว้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย


2. ใช้วิธีระดมความคิด (Brain Storm)

แม้ว่าทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ชอบทำกันก็คือการพาตัวเองหนีไปจากสิ่งที่เกลียด แต่การหนีไปก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา หากคุณอยากให้ปัญหามันหมดไปหรือลดลง คุณจำเป็นต้องเข้าไปเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจัดการกับมันเป็นเรื่อง ๆไป เช่น ถ้าหากคุณเบื่อเพราะงานไม่ท้าทายก็ลองคิดโปรเจคใหม่ ๆ หรือออกแบบการทำงานสไตล์ใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม อาการเบื่องานนั้นแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ หากระดับของการเบื่องานที่เกิดขึ้นกับคุณเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น เบื่ออาหารจนกินอาหารไม่ลง น้ำหนักตัวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอนไม่หลับติดต่อกัน มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรืออยากหายไป ก็ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาดีกว่าที่จะปล่อยไว้จนอาการหนักขึ้นแล้วรักษาอาการยากค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] [2] BURN-OUT, BORE-OUT AND BROWN-OUT – DEMYSTIFYING MODERN WORK AFFLICTIONS. Retrieved from https://solutionsandco.com/blogue/burn-out-bore-out-and-brown-out-demystifying-modern-work-afflictions


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page