top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกเล่าให้ฟังว่าไม่โอเคกับครูที่โรงเรียน


แม้ว่าคุณครูในประเทศไทยจะได้รับการเชิดชูให้เป็น “พระคุณที่สาม” แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ที่คุณครูเองจะกลายเป็นคนที่ทำให้นักเรียนรู้สึกแย่ ในบทความนี้จึงอยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่ลองมองปัญหาในโรงเรียนที่เกิดขึ้นกับลูกผ่านมุมมองของลูก เพื่อที่จะได้เป็นที่พึ่งพาให้แก่ลูกได้ในยามที่ลูกประสบความทุกข์ทางใจอันเกิดจากการไม่โอเคกับครู

ครูแบบไหนที่มักทำให้นักเรียนรู้สึกไม่โอเค?

  • ครูใจร้าย – ครูใจร้ายมักมีมุมมองต่อนักเรียนในทางลบไว้ก่อนเสมอ เช่น มองว่านักเรียนขี้โกหก นักเรียนตั้งใจหาผลประโยชน์จากคนอื่น ครูประเภทนี้จึงไม่เคยประนีประนอมให้กับนักเรียนคนไหนเลย แม้กระทั่งนักเรียนที่ประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาการเงิน ฯลฯ ตรงข้าม ครูใจร้ายจะเคี่ยวเข็ญและไม่โอนอ่อนให้กับนักเรียนโดยเด็ดขาด และอาจจะมีพฤติกรรมที่ทำให้นักเรียนรู้สึกแย่ร่วมด้วย เช่น มองบนชักสีหน้า ตะคอกใส่ พูดจาไม่ดี หรือทำให้นักเรียนรู้สึกอับอายต่อหน้าเพื่อน

  • ครูที่ไม่จริงจังกับการสอน – ครูบางคนมีลักษณะที่ไม่จริงจังกับการสอน เช่น สอนแบบไม่ละเอียด ไม่อธิบายให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาการเรียน หรือแทบจะไม่มาสอนแต่ใช้วิธีการสั่งงานให้นักเรียนทำแล้วครูก็หายไปจากห้องเรียน

  • ครูที่ปล่อยปละละเลยนักเรียน – แม้ว่านักเรียนจะชอบอิสระ แต่การที่ครูไม่มีการควบคุมพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียนเลย เช่น ปล่อยให้คุยเสียงดังจนรบกวนเพื่อนที่ตั้งใจเรียน ปล่อยให้มีนักเรียนบางคนแกล้งเพื่อนโดยที่ครูไม่มาจัดการกับพฤติกรรมของคนที่แกล้งเพื่อนเลย ทำให้ชั้นเรียนมีบรรยากาศที่วุ่นวายไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

  • ครูน่าเบื่อ – ในยุคปัจจุบันการสอนแบบสื่อสารทางเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมนั้นจัดว่าเป็นการทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนน่าเบื่อ เช่น ครูเปิดสไลด์และอ่านทุกคำที่มีอยู่สไลด์ให้นักเรียนฟัง หรือมีรูปแบบที่ซ้ำกันทุกคาบอย่างเช่นให้เรียนเนื้อหาจากนั้นก็ทำแบบฝึกหัดซ้ำ ๆ วน ๆ ไปจนนักเรียนรู้สึกเบื่อหน่ายกับวิธีการสอนของครู


ทำอย่างไรเมื่อลูกเล่าให้ฟังว่าไม่โอเคกับครูที่โรงเรียน?


1. อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน

ก่อนที่จะเข้าไปช่วยลูกของคุณ ควรหาข้อมูลให้ได้มากขึ้นก่อน โดยแทนที่จะด่วนตัดสินไม่ว่าจะด่วนตัดสินว่าครูเป็นครูที่แย่ หรือด่วนตัดสินลูกว่าลูกไปทำอะไรให้ครูต้องทำแบบนั้นกับลูก พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกเล่าเรื่องราวออกมาให้มากที่สุด เพื่อฟังมุมมองของลูก ในขณะเดียวกันก็พยายามค้นหาว่าครูทำแบบนั้นด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือด้วยนิสัยของครู เพราะหากจะมองอย่างยุติธรรม ครูก็เป็นคน ๆ หนึ่งที่อาจมีวันที่แย่และทำให้ครูแสดงพฤติกรรมแย่ ๆ ออกมา แต่วันที่แย่เพียงหนึ่งวันก็คงจะเอามาตัดสินไม่ได้ว่าครูคนนั้นไม่สมควรเป็นครู ดังนั้น แทนที่จะด่วนตัดสินเรื่องราวก็ควรจะรับฟังข้อมูลให้ครบด้านก่อน จากนั้นจึงค่อยหาทางช่วยเหลือลูกอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งในการหาข้อมูลจากลูกนั้น พ่อแม่ควรเลือกใช้คำถามปลายเปิด เช่น “วันนี้ไปเรียนเป็นยังไงบ้าง?” และหลีกเลี่ยงคำถามชี้นำอย่างเช่น “วันนี้ไปก่อเรื่องอะไรมารึเปล่า?”


2. เป็นพ่อแม่ที่ลูกพึ่งพาได้

เมื่อลูกมาเล่าว่าไม่โอเคกับครู อย่าเพิ่งแสดงออกว่าพ่อแม่ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เพราะพ่อแม่บางคนอาจจะเกิดความรู้สึกว่า “แล้วพ่อแม่จะช่วยอะไรได้ล่ะ มันเป็นเรื่องที่โรงเรียน” ซึ่งแม้ว่าบางเรื่องมันจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่สามารถไปแก้ปัญหาให้ได้เลยจริง ๆ แต่พ่อแม่ก็สามารถช่วยเหลือลูกได้ด้วยการรับฟังปัญหาของลูก เพราะการรับฟังลูกจะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนที่เข้าใจ เห็นใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกของเขา ในขณะที่การพยายามบอกลูกให้เข้าใจชีวิต เช่น “อย่าคิดมากเลย” “คนอื่นก็ส่วนคนอื่นอย่าไปสนใจ” จัดเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการละเลยความรู้สึกของลูกและจะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พึ่งพาไม่ได้

3. ไปพบครู

พ่อแม่อาจใช้วิธีการไปพบครูคนดังกล่าว เพื่อฟังมุมมองของครูรวมไปถึงเพื่อสื่อสารให้ครูรับทราบว่าลูกไม่โอเคกับครูอย่างไรบ้าง เช่น “ลูกมีความรู้สึกเหมือนว่าครูไม่ชอบเขา เพราะเขาบอกว่าเวลาที่มีคำถามสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเรียน ครูก็จะบอกว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียนแทนที่จะอธิบายส่วนที่ลูกไม่เข้าใจ” ซึ่งในบางครั้งครูเองก็อาจจะกระทำพฤติกรรมบางอย่างไปโดยไม่รู้ตัว หากไม่มีใครช่วยสะท้อนครูก็อาจจะยังคงทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะไม่ทราบว่าพฤติกรรมของตนเองส่งผลกระทบอะไรต่อนักเรียน


4. ขอพบครูใหญ่

หากการไปพบครูไม่ก่อให้เกิดผลอะไร หรือทำให้ครูยิ่งมีพฤติกรรมแย่ ๆ กับลูกมากขึ้น พ่อแม่อาจลองขอพบครูใหญ่เพื่อสะท้อนปัญหาให้ครูใหญ่ทราบ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็คงจะไม่สามารถคาดหวังให้ครูใหญ่เข้ามาช่วยจัดการปัญหาอย่างที่พ่อแม่ต้องการแบบเป๊ะ ๆ ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังถือว่าได้มีการสื่อสารให้ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการได้รับทราบปัญหาแล้ว


5. เปลี่ยนครู

การเปลี่ยนครูเป็นวิธีสุดท้ายสำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกในกรณีที่ลองทำทุกอย่างแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย โดยการเปลี่ยนครูนั้นมีตั้งแต่ขอให้โรงเรียนเปลี่ยนครู ทำการย้ายลูกไปอยู่ห้องที่ครูคนดังกล่าวไม่ได้สอน หรือย้ายโรงเรียนไปเลย


อย่างไรก็ตาม ในชีวิตคนเราย่อมไม่สามารถกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปดั่งใจตนเองได้ สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยก็คือ การสอนให้ลูกมีทักษะในการรับมือกับปัญหาประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ลูกสามารถผ่านพ้นปัญหาชีวิตซึ่งการไม่โอเคกับครูก็เป็นหนึ่งในนั้นไปได้ด้วยตนเองโดยมีพ่อแม่เป็นผู้สนับสนุนให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง และชื่นชมลูกเมื่อเขาสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง หรือเมื่อเขาได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างเต็มที่แล้วแม้จะไม่สำเร็จก็ตาม แต่ทั้งนี้ หากพ่อแม่ได้ลองทำตามวิธีดังกล่าวแล้วยังพบว่าลูกมีพฤติกรรมซึม ๆ พูดน้อยลง เก็บตัวมากขึ้น ไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน มีปัญหาที่เกี่ยวกับการกินการนอน พ่อแม่ควรพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยไม่รอช้า เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักให้คำปรึกษา เพื่อรีบหาทางช่วยเหลือก่อนที่ลูกจะมีปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงจนเกิดความสูญเสียขึ้นในครอบครัว

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Does Your Child Have a Bad Teacher?. Retrieved from. https://www.verywellfamily.com/what-to-do-about-a-bad-teacher-4019662


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page