top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ดูแลสุขภาพจิตอย่างไร ? เมื่อ WORK FROM HOME มาพร้อมกับการดูแลลูก




ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 รุนแรงขึ้น การใช้มาตรการ Work from home จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ในการช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ Covid-19 แต่ก็อาจไปเพิ่มปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ขึ้นมาแทน เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณพ่อ คุณแม่ที่นอกจากจะต้องทำงานไปด้วย ยังจะต้องเลี้ยงลูกไปด้วย ยิ่งลูกอยู่ในวัยเด็กน้อย ไม่เกินชั้นอนุบาลเช่นเดียวกับเรา นี่! ขอบอกเลยค่ะฝึกจิตกันมาก โทรศัพท์เข้าก็อยากมีส่วนร่วมส่งเสียงตลอด พยายามชวนเราเล่นตลอดเวลา เดี๋ยวก็ถึงเวลาทานข้าว ปวดฉี่บ้าง ทำเลอะบ้าง ถ้างานเร่ง ๆ ด้วยประสาทจะกินกันเลยทีเดียวค่ะ แล้วคิดถึงคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องดูแลลูกคนเดียวจะทวีคูณความลำบากไปขนาดไหน ด้วยความเข้าใจ เราจึงขอส่งกำลังใจผ่านข้อแนะนำของนักจิตวิทยาในการดูแลสุขภาพจิตอย่างไรให้สตรองในสถานการณ์ที่เราต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย 4 ข้อแนะนำด้วยกันค่ะ


1.ตกลงกับคู่ชีวิตในการแบ่งหน้าที่กัน


ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน และในสถานการณ์วิกฤติดังเช่นการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในตอนนี้ ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ความเป็นคู่ชีวิตได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ เพราะคุณทั้งคู่จะต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน ปัญหาทางการงาน ความกังวลด้านสุขภาพ และที่แน่นอนหากคุณมีลูกด้วยกัน ก็จะเจอกับปัญหาการแบ่งเวลามาเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กนี่ละค่ะ เพราะคู่รักส่วนใหญ่ก็มักจะทำงานด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งในสถานการณ์ปกติ ก็สามารถพาลูกไปฝากให้เนิร์สเซอรี่ หรือโรงเรียนดูแลให้ได้แต่เมื่อ Covid-19 แพร่ระบาดรุนแรง ทำให้ต้อง Work from home และแน่นอน เจ้าตัวเล็กของเราก็อยู่บ้านด้วยเช่นกัน


ในกรณีที่สามารถแบ่งเบาภาระกับคู่ชีวิตได้ นักจิตวิทยาแนะนำว่า ให้ตกลงแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจนไปเลยค่ะว่าใครจะดูแลส่วนไหนของบ้าน เช่น ภรรยาดูแลอาหารการกิน และความเป็นอยู่ของลูก สามีดูแลงานบ้าน เล่นกับลูก เป็นต้น หรือจะแบ่งกะดูแลลูกเป็นเวลา เช่น ครึ่งเช้าภรรยาดูแล ครึ่งบ่ายสามีดูแล ก็ได้เช่นกันค่ะ เพื่อให้คุณทั้งคู่สามารถทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย โดยไม่เครียดหรือกดดันจนเกินไป


2. หาผู้ช่วย


ในกรณีที่ไม่สามารถแบ่งเวลาในการ Work from home และเลี้ยงลูกได้ลงตัว วิธีต่อมาที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ หาผู้ช่วยในการเลี้ยงลูกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นฝากคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หากคุณสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ไปฝากลูกให้ท่านดูแลได้ หรือถ้าหากอยู่ในจังหวัดเดียวกันก็ย้ายไปอยู่บ้านท่านชั่วคราวก็ได้ค่ะ เพื่อความสบายใจและความสะดวกในการ Work from home และดูแลเจ้าตัวเล็กไปด้วย เพราะคนที่เราไว้ใจในการดูแลลูกรองจากเรา ก็คือ พ่อแม่ของเราเอง นอกจากเรื่องลูกแล้ว การมีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อยู่ใกล้ ๆ ยังช่วยเรื่องอาหารการกิน และเรื่องความสะอาดของบ้านช่องอีกด้วยละค่ะ หรือหากไม่สามารถเดินทางไปหาคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ให้ช่วยดูแลลูกให้ได้ ก็อาจจะต้องจ้างพี่เลี้ยง หรือขอความช่วยเหลือจากญาติสนิท มิตรสหายมาดูแลลูกให้ที่บ้านเราแทนค่ะ ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ขอให้พิจารณาถึงความปลอดภัยทั้งจาก Covid-19 และความปลอดภัยของลูก รายจ่าย ความคุ้มค่า ในด้านต่าง ๆ ด้วยนะคะ


3. หาช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง


เมื่อการเลี้ยงลูก และการ Work from home ไปพร้อม ๆ กันช่างหนักหนาต่อสุขภาพจิตและอาจทำให้เกิดความเครียด ความรู้สึกเศร้า จนอาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ตามมา นักจิตวิทยาจึงขอแนะนำว่า ให้คุณหาช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง แล้วหากิจกรรมผ่อนคลายทำนะคะ เช่น เล่นเกมก่อนนอน ดูซีรีย์ช่วงพักทานข้าวเที่ยง นั่งสมาธิ ฟังเพลง ถึงเราจะไม่สามารถออกไปผ่อนคลายนอกบ้านได้ แต่เราก็สามารถหาสถานที่ปลอดภัย (Safe zone) ที่ทำให้จิตใจของเราสงบจากสถานการณ์วุ่นวายต่าง ๆ ได้ภายในบ้านของเราเองค่ะ ซึ่งเวลาดังกล่าวอาจจะเป็นช่วงที่สับเวรกับคู่ชีวิตของเรา หรือลูกหลับแล้วการผ่อนอารมณ์สามารถช่วยให้เราลดความเครียด รักษาสมดุลของสุขภาพจิตของเราให้ดีขึ้นได้เพราะถ้าหากคุณเก็บกดความรู้สึกทั้งหลายเอาไว้ ทั้งความเครียด ความกดดัน มันก็เหมือนทำให้เรากลายเป็นระเบิดเวลา ถ้าระเบิดออกมาคนที่เสียความรู้สึก ก็คือ คนที่เรารักทั้งลูกของเรา คู่ชีวิต รวมไปถึงตัวเราเองด้วยค่ะ ที่เสียใจกับคำพูดและการกระทำที่ไม่สามารถควบคุมได้ของเรา อย่าให้เราไปถึงขั้นนั้นเลยดีกว่านะคะ


4. เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส


ในทุกสถานการณ์ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อเสีย แม้ว่าในการแพร่ระบาดของ Covid-19 จะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีเยอะมาก ๆ ก็ตาม แต่ถ้ามองหามุมบวก ก็มีอยู่พอสมควรเลยค่ะ ทั้งเราสามารถ Work from home ไม่ต้องออกบ้านไปไหน ประหยัดค่าเดินทาง ไม่ต้องออกไปเสี่ยงรับเชื้อ Covid-19 ได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก ทั้งคู่ชีวิตของเรา และลูก ซึ่งในช่วงเวลาปกติเราคงได้ใช้เวลาร่วมกันน้อยกว่านี้มาก


ดังนั้น เราต้องฉกฉวยโอกาสที่ดีในวิกฤติ Covid-19 ให้เป็นประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด เช่น การสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้เข้มแข็ง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเรากับลูก เพราะเมื่อลูกของเราเข้าสู่วัยรุ่น ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง และความเชื่อใจในครอบครัวจะช่วยเหลือเขาอย่างมากในการก้าวผ่านวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เขาเดินทางผิดในอนาคตค่ะ หรือในส่วนของคู่รักเอง การใช้เวลาร่วมกันก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นค่ะ ซึ่งก็แอบเห็นเพื่อน ๆ ใน facebook หลายท่านมีข่าวดีเรื่องทายาท เพราะการ Work from home ไม่น้อยเลยค่ะ



การเป็นพ่อคน แม่คน เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังอย่างมาก ทั้งพลังกาย พลังใจ แล้วยิ่งถ้าคุณเป็นมนุษย์พ่อ มนุษย์แม่ ที่เป็นมนุษย์ออฟฟิตด้วยแล้ว นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า การรักษาสุขภาพจิตไปพร้อม ๆ กับสุขภาพกายก็สำคัญยิ่งค่ะ เพราะถ้าสุขภาพจิตเราดี สุขภาพกายเราแข็งแรง เราจะสามารถดูแลลูกที่เรารัก ไปพร้อมกับสู้งานได้อย่างไม่ทำร้ายความรู้สึกของเราจนเกินไปได้นาน ๆ ค่ะ

 

iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page