top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ ดูแลสุขภาพจิตในยุค Covid-19 อย่างไรให้สตรอง


ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราคนไทยคงตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “ประสาทเสีย” กันถ้วนหน้า เพราะยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 นั้นพีคขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนทางกับสุขภาพจิตของพวกเราที่ตกลงไปเรื่อย ๆ ถึงยังไม่มีผลสำรวจความเครียด ซึมเศร้า หรือความสุข แต่จากสถานการณ์ก็สามารถบอกได้เลยว่า “ย่ำแย่” เพราะนอกจากต้องมาผวากับสถานการณ์ Covid-19 ที่ไม่รู้จะติดเชื้อเมื่อไร ยังต้องมากังวลว่าติดเชื้อแล้วจะมีที่รักษาหรือไม่ นอกจากนี้สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพของหลายคนก็ถูกปิดลงทำให้เครียดทั้งเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และเรื่องเศรษฐกิจในครัวเรือน บทความนี้ขอเสนอข้อแนะนำของ

นักจิตวิทยาในการดูแลสุขภาพจิตของคุณในยุค Covid-19 ให้สตรองกันค่ะ


1. อยู่กับปัจจุบัน


ถ้าความกังวลในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid-19 รายจ่ายที่รออยู่ปลายเดือน หรือการงานที่ไม่แน่ไม่นอน ทำให้คุณเครียดจนเสียสุขภาพจิตแล้วละก็ ขอแนะนำให้หลับตา สูดหายใจเข้า – ออก ให้ลึก ๆ เพื่อสร้างสมาธิ ให้ใจเราสงบ และมองในปัจจุบันว่าเราสามารถทำอะไรให้ชีวิตของเราดีขึ้นบ้าง เช่น ขายของออนไลน์ได้ไหม หางานเสริมแบบไหนดี หรือมองหาข้อดี ของสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ เช่น Work from home ถึงจะไม่สะดวก แต่ก็ได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับคนในครอบครัว หรือหากตลาดนัดที่เคยขายของอยู่ถูกสั่งปิด ก็ลองศึกษาเรื่องการขายออนไลน์ การหาลูกค้า เพื่อลองขายของออนไลน์แทนการขายหน้าร้าน เป็นต้น การอยู่กับปัจจุบันสามารถช่วยเรื่องสุขภาพจิตได้ดีในระดับหนึ่งเลยค่ะ เพราะช่วยตัดกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิด และช่วยลดการยึดติดกับเรื่องในอดีต ทั้งความสุข ความผิดหวัง ได้อีกด้วยละค่ะ


2. ใช้ต้นทุนที่ตัวเองมีในการช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด


ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะสามารถช่วยเหลือเราได้ ก็คือตัวเราเอง หรือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั่นเองค่ะ แต่การที่จะช่วยเหลือตัวเองให้เอาตัวรอดจากสถานการณ์เช่นนี้ได้นั้น เราต้องสำรวจตัวเองตามหลัก SWOT Analysis ซึ่งหลักการ ก็คือ การวิเคราะห์ถึง จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) ของตัวเรา และ การมองหาโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) จากสิ่งรอบตัว แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเรามีจุดแข็งอะไร มีจุดอ่อนอะไร อะไรที่เป็นโอกาสให้กับเรา และอะไรที่เป็นอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการทำให้สถานการณ์ดีขึ้นด้วยตัวเราเอง เช่น เราเคยเป็นพนักงานของสายการบินหนึ่งแต่ถูกเลิกจ้างเพราะสถานการณ์ Covid-19 เราก็มาสำรวจตัวเองกันเลยว่า จุดแข็งของเรามีอะไรบ้าง เช่น ภาษา บุคลิกภาพ จุดอ่อนคืออะไร เช่น ความรอบคอบ การทำงานภายใต้ความกดดัน โอกาสของเราคืออะไร เช่น รู้จักคนเยอะ มีเครือข่ายมาก และอุปสรรคคืออะไร เช่น สถานการณ์ Covid-19 เป็นต้น แล้วเราก็จับคู่ตามหลัก SWOT Analysis เพื่อหาแนวทางการพัฒนาตัวเองและการแก้ไขสถานการณ์ค่ะ


3. มีสติ


อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดที่เราสามารถใช้ต่อสู้กับสถานการณ์ที่ร้ายกับเรา เช่น สถานการณ์ Covid-19 ก็คือ “สติ” ค่ะ เพราะสติ ทำให้เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเราทำอะไรอยู่ คิดอะไร รู้สึกอย่างไร กำลังทำอะไร และจะมีผลตามมาอย่างไร ดังเช่นท่อนหนึ่งของบทอาขยาน เรื่อง วิชาเหมือนสินค้า..อันมีค่าอยู่เมืองไกล (ขออนุญาตยกตัวอย่างแบบคนมีอายุ) ที่ว่า “สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา” หมายความว่า ให้สติเป็นตัวนำพาชีวิตเราแม้ในสถานการณ์ที่เอาแน่ เอานอนไม่ได้ เช่น การล่องเรือข้ามแม่น้ำ เพราะเมื่อเรามีสติ เราจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง และสามารถพาตัวเองอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ค่ะ


4. หาวิธีระบายความเครียด


เมื่อเราต้องกักตัวเองออกจากสังคม ออกจากวิถีชีวิตที่ชื่นชอบเป็นเวลานาน ความเครียดก็จะมาเยี่ยมเยือน และหากปล่อยให้ความเครียดมาหาบ่อย ๆ ก็จะพาโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตามมาด้วยทั้ง โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไบโพลาร์ เป็นต้น ซึ่งนักจิตวิทยาแนะนำว่า ให้หาวิธีการระบายความเครียดออกไปบ้าง เช่น โทรเมาส์มอยกับเพื่อน เล่นเกม ดูซีรี่ย์วนไป หาหนังสือถูกใจอ่าน หรือใช้เวลาทำงานอดิเรกแบบจริงจัง เพราะการทำสิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะเสริมความบันเทิงให้ชีวิตเช่นปกติได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็ช่วยทำให้เราสบายใจ เพลิดเพลินจนลืมสถานการณ์ตึงเครียดที่เผชิญอยู่ไปได้สักระยะหนึ่งเลยค่ะ และถ้าเราสามารถระบายความเครียดออกได้ดี สุขภาพจิตของเราจะปกติสุข เพราะเราสามารถรักษาสมดุลของความรู้สึกได้ดีค่ะ



5. ใช้เวลานี้พัฒนาตนเอง


ในเมื่อ Covid-19 ทำให้เราต้องติดอยู่ในโลกส่วนตัว หรือติดอยู่กับตัวเราเองแล้วละก็ เราก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการพัฒนาทักษะ หรือเสริมศักยภาพในสิ่งที่เราต้องการได้เลยค่ะ เช่น เรียนภาษาออนไลน์ ทำอาชีพเสริมจากงาน DIY ที่เราชื่นชอบ ได้ลงมือเขียนหนังสือที่เราค้างคาว่าจะเขียนมานานให้เขียนออกมาได้เสียที หรือติดต่อเพื่อนที่เคยสนิทแต่ห่างหายไปนานก็เป็นโอกาสที่ดีเช่นกัน และเมื่อเราได้ลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำเพื่อตัวเองมานานแต่ไม่ได้ทำ ให้สามารถทำได้สำเร็จเสียที รับรองเลยค่ะว่าเมื่อเรากลับไปสู่สังคมปกติ เราจะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น มีทักษะ ความสามารถ และศักยภาพที่สามารถส่งเสริมการทำงานของเราได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอนค่ะ


6. แบ่งปันความรักในครอบครัว


การส่งเสริมสุขภาพจิตที่นักจิตวิทยาแนะนำว่า ไม่ว่าจะลงมือทำเมื่อไหร่ก็ได้ผลดีทุกที ก็คือ “การแบ่งปันความรัก” ให้กับคนรอบข้างค่ะ แต่ในเมื่อเราออกไปแบ่งปันให้คนนอกบ้านลำบาก ก็แบ่งความรักกับคนในบ้านนี่ละ เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตให้แข็งแรงดีกันทุกคน วิธีการแบ่งปันก็ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่ใช้ความจริงใจ ใส่ใจ และการแสดงออก เช่น กอด บอกรัก ทานอาหารร่วมกัน ทำอะไรเพื่อกัน ใส่ใจกัน สำหรับบ้านที่ไม่ค่อยแสดงความรักต่อกัน แรก ๆ ก็จะเขิน ๆ หน่อย แต่ถ้าทำไปนาน ๆ ก็จะชิน และรู้สึกดีที่ได้แสดงความรักออกมาเองค่ะ การแบ่งปันความรักนั้น นอกจากจะได้รับความรักกลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว เรายังได้ภูมิคุ้มกันทางใจ ได้ความเชื่อมั่นในชีวิตว่าจะไม่โดดเดี่ยวแน่นอนมาเพิ่มอีกด้วยละค่ะ


7. อึด ฮึด สู้!


ข้อสุดท้ายในการดูแลสุขภาพจิต ที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ อึด ฮึด สู้ ค่ะ เพราะในเมื่อเรา ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ได้ หรือไม่สามารถห้ามสถานการณ์เช่น Covid-19 ไม่ให้เกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ ยอมรับว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว และอดทนสู้กับมันด้วยอาวุธทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมา คือ อยู่กับปัจจุบัน พึ่งตัวเองให้มากที่สุด มีสติ รักษาสมดุลของความรู้สึก พัฒนาตนเอง และแบ่งปันความรัก แล้วเราจะมีความหวัง และมีแรงฮึดขึ้นมาว่าเราต้องสามารถรอดจากสถานการณ์นี้ให้ได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ช่วงเวลานี้แม้จะยากลำบากในการอยู่ให้รอด แต่นักจิตวิทยาแนะนำว่า ถ้าหากเรามีการดูแลสุขภาพจิตที่ดี เราจะมีความเข้มแข็งทางใจ จนสามารถเอาตัวรอด และยังประคองคนรอบข้างให้สามารถรอดจากสถานการณ์วิกฤตไปพร้อม ๆ กับเราได้ด้วยค่ะ

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ

ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page