ชวนพ่อ แม่ปรับวิธีคิด กับ 6 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้เป็นมิตรกับสังคม
จากเหตุการณ์ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่มีเหตุกราดยิง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจที่สุด ก็คือ ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุ 14 ปีเท่านั้นเอง และสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ก็คือ มีการส่งต่อข้อมูลส่วนตัวของเด็ก มีการค้นประวัติพ่อ แม่ของเด็ก และแน่นอนว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเทคนิคการเลี้ยงลูกของพ่อ แม่ผู้ก่อเหตุอย่างดุเดือด ซึ่งเหตุการณ์ ณ สยามพารากอน ในครั้งนี้ ยิ่งทำให้สังคมตื่นตัวกับความรุนแรงในสังคม รวมถึงเกิดความตระหนักถึงเทคนิคการเลี้ยงลูกที่เหมาะสม จนเกิดการตั้งคำถามว่าในเมื่อพ่อ แม่ผู้ก่อเหตุดูมีความพร้อมที่จะมีลูก และมีการวางแผนในการเลี้ยงลูก แล้วเหตุใดกลับกลายเป็นสร้างยุวอาชญากรมาทำร้ายคนอื่นได้ บทความจิตวิทยานี้หาคำตอบและเทคนิคการเลี้ยงลูกมาฝากค่ะ
ก่อนอื่นต้องขอยกทฤษฎีจิตวิทยาเรื่องทฤษฎีความผูกพันทางอารมณ์หรือ Attachment theory ของ John Bowlby นักจิตวิทยาสังคม โดย Bowlby ได้กล่าวว่า เด็กมีความจำเป็นที่ต้องมีความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้นกับผู้เลี้ยงดู อย่างน้อย 1 คน เพื่อเด็กคนนั้นมีพัฒนาการทางสังคมและพัฒนาการทางอารมณ์ที่เหมาะสม นั่นหมายความว่า ถ้าแม่ หรือพ่อ หรือใครก็ตามที่รับหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก ให้ความรัก ให้ความใส่ใจจนเกิดเป็นความผูกพันทางอารมณ์ จะส่งผลให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาเป็นมิตรกับผู้อื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการเก็บรวบรวมสถิติทางจิตวิทยาจนเกิดมาเป็นทฤษฎีของ Bowlby ก็ได้พบว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะสร้างความผูกพันทางอารมณ์เชิงบวกให้กับเด็กได้ เพราะบางบ้านก็ไม่มีเทคนิคการเลี้ยงลูกที่เหมาะสม จนส่งผลให้เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ต่างกัน เกิดบุคลิกภาพแตกต่างกัน 4 รูปแบบ ดังนี้
1. มั่นใจ (Secure Attachment)
เด็กที่มีบุคลิกภาพแบบมั้นใจจะกล้าลุย กล้าแสดงออก กล้าที่จะทำผิดพลาด หรือล้มเหลว เพื่อที่จะเรียนรู้ มีความยืดหยุ่นสูง มองโลกในแง่ดี มีความเป็นมิตร และแน่นอนว่ามีความผูกพันทางอารมณ์กับพ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดูในลักษณะของความอบอุ่นใจ เชื่อใจ ไว้ใจกัน และมองว่าครอบครัว คือ Safe Zone
2. วิตกกังวล (Anxious - Ambivalent Attachment)
เด็กที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกกังวลจะไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะกลัวแม่ดุ พ่อด่า ย่าตี เด็กจะมีความกังวลอย่างมาก พยายามสร้างตัวตนที่ดูดีขึ้นมาเพื่อให้คนรอบข้างยอมรับ เช่น เรียนให้เก่ง กีฬาให้เด่น หรือทำตัวเองให้สวย ให้หล่อ ให้ดูดี เพื่อถมความไม่มั่นใจของตนเอง
3. ขี้กลัว (Anxious - Avoidant Attachment)
เด็กที่มีบุคลิกภาพแบบขี้กลัว จะคล้าย ๆ กับเด็กที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกกังวล แต่ต่างกันที่เด็กที่วิตกกังวลยังเข้าหาสังคม ยังพยายามทำให้สังคมยอมรับตนเอง แต่เด็กที่ขี้กลัวจะหลีกหนีสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ มีแนวโน้มหลีกเลี้ยงปัญหา และมักเก็บตัวเงียบ เก็บปัญหาไว้กับตัวเองคนเดียว
4. ไม่มีระเบียบ (Disorganized Attachment)
เด็กที่ไม่มีระเบียบ คือเด็กที่ขาดทักษะการวางแผนในชีวิต อยากตื่นตอนไหนก็ตื่น อยากทำอะไรก็ทำ หากมีบุคลิกเช่นนี้ไปจนโตจะสร้างควมเดือดร้อนให้ตัวเองอย่างมาก เพราะจะมีปัญหาเรื่องวินัยในการใช้ชีวิต เช่น ใช้เงินเกินตัว ขาดความรับผิดชอบในงาน มักจะมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นต้น
ถ้าคุณพ่อ คุณแม่พบว่าลูกของคุณเป็นเด็กมั่นใจ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะแสดงว่าเทคนิคการเลี้ยงลูกของคุณมาถูกทางแล้ว แต่ถ้าลูกของคุณมีบุคลิกภาพในรูปแบบอื่น ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหากับตัวเขาเอง และอาจสร้างควมเดือดร้อนให้คนอื่น เช่นเหตุการณ์ที่สยามพารากอนนั้น ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ นักจิตวิทยาแนะนำว่าสามารถปรับเปลี่ยนไป โดยชวนมาปรับแนวคิดเพื่อปรับเทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ดังนี้ค่ะ
1. เชื่อมั่นในตัวลูก
Carol S. Dweck ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success โดยมีใจความสำคัญว่า “คนทุกคนสามารถพัฒนาให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้” เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเราต้องการเห็นลูกมั่นใจ และภูมิใจในตัวเอง พ่อ แม่ อย่างเราก็ต้องแสดงให้ลูกเห็นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าเรามั่นใจ และสุดแสนจะภูมิใจในตัวเขา
2. พยายามไปพร้อมกับลูก
เมื่อลูกยังเป็นเด็กน้อย พ่อ แม่ยังทำทุกอย่างให้ลูก แต่เมื่อเขาโตขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ถอยออกมาแล้วส่งเสริมให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งการที่ถอยออกมานั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทิ้งลูก เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก วิธีการที่เราเคยใช้ในการแก้ปัญหา หรือทำสิ่งใดให้สำเร็จในอดีตที่ผ่านมา อาจไม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาของลูก หรือพาลูกไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้นแล้วเราต้องอยู่เคียงข้างลูก เป็นที่ปรึกษา และเป็นคู่หูให้ลูกค่ะ
3. อย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
ในยุคสมัยหนึ่งนิยมส่งเสริมให้ลูกพัฒนาตนเองโดยการเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นหรือลูกในอุดมคติของพ่อ แม่ เช่น ไม่เห็นจะเก่งเหมือนลูกข้างบ้านเลย หรือ ลูกอาได้ไปเรียนเมืองนอกเลยนะ หรือดูเพื่อนลูกสิสอบติดหมอเลยนะ หรือแม่คิดว่าลูกจะทำได้ดีกว่านี้เสียอีก ซึ่งวิธีการกระตุ้นเช่นนี้นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังบั่นทอนจิตใจของลูกให้ตกต่ำ ด่ำดิ่งจนอาจทำร้ายตัวเอง หรือคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นแล้วสิ่งต้องห้ามในเทคนิคการเลี้ยงลูก ก็คือ “ห้ามเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น”
4. อย่าทำโทษลูกด้วยความรุนแรง ขอให้ลงโทษลูกด้วยเหตุผล
ในทฤษฎีจิตวิทยาสมัยใหม่ไม่สนับสนุนให้มีการลงโทษลูก แต่จากประสบการณ์การเป็นแม่มา 6 ปี กับอีก 3 เดือน พบว่า ถ้าเราไม่มีกฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเลย ลูกก็ยังคงมีพฤติกรรมทางลบนั้นอยู่เรื่อย ๆ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นไปอีก เช่น การกรีดร้อง การทำร้ายคนอื่น หรือการขว้างปาสิ่งของ ดังนั้นเทคนิคการ Time Out คือ กำหนดเวลาให้ลูกสงบสติอารมณ์ในสถานที่ที่ไม่มีสิ่งรบกวนตามลำพัง และเทคนิคการ Time In คือ การกำหนดเวลาให้ลูกสงบสติอารมณ์เช่นกัน แต่มีเราอยู่ด้วย สามารถนำมาใช้ในการปรับพฤติกรรมได้ดีทีเดียวค่ะ
5. อย่าคิดว่าเราเป็นเจ้าของชีวิตเขา
เราให้กำเนิดลูกก็จริง แต่ชีวิตลูกเป็นของลูกไม่ใช่ของเรา เขาจะเลือกทางชีวิตไปทางไหนเป็นสิทธิของลูก และเป็นความรับผิดชอบในชีวิตของลูกเอง เราไม่มีสิทธิ์กำหนด หรือบังคับลูก อย่าเอาความฝันของเราไปยัดเยียดให้ลูกทำตาม แต่จงให้คุณค่ากับความฝันของลูก สนับสนุนลูก และคอยผลักดันลูก เพื่อให้ลูกมีชีวิตที่ปกติสุขที่สุด
6. ฟังลูกให้มากกว่าบ่นลูก
และเทคนิคการเลี้ยงลูกข้อสุดท้ายที่จะแนะนำกันในวันนี้ ก็คือ ฟังลูกให้มาก ใส่ใจลูกให้เยอะ และจับสังเกตลูกให้ไว เพราะเด็กบางคนเวลามีปัญหาไม่กล้าที่จะบอกพ่อ แม่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ถ้าเราหมั่นสังเกตลูก รับฟังลูก ใส่ใจลูก เราจะสามารถพบปัญหาได้เร็ว และช่วยลูกแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา
ลูกเป็นเพียงคนธรรมดา ย่อมผิดพลาดได้เป็นปกติ โปรดอย่าตัดสินลูก อย่าด้อยค่าลูก ตอนที่ลูกคลอด เราคาดหวังเพียงว่าให้ลูกแข็งแรง ลูกปลอดภัย ลูกสมบูรณ์ ฉะนั้นแล้วเมื่อลูกเติบโต โปรดอย่าคาดหวังจนเขากดดัน แต่จงเป็นผู้เติมความหวัง และเป็น Safe Zone ให้กับลูก
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : 1. Sahatorn Petvirojchai. (2021, 14 ตุลาคม). ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จ แล้วองค์กรจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร?ปี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2566 จาก https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/211013-growth-mindset/
2. ปัณฑิตา เทียมทัด. (2022, 29 ตุลาคม). เข้าใจความผูกพันใน เด็กแรกเกิด - 1 ปี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2566 จาก https://www.youtube.com/watch?v=3nqgLSXqqZY
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments