3 สิ่งสำคัญที่ทำให้ความใส่ใจของคุณไม่น่ารำคาญอีกต่อไป
เมื่อพูดถึงเรื่อง “การใส่ใจ” แล้ว เชื่อว่าคงมีผู้อ่านหลายท่านเคยประสบกับปัญหาถูกคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แฟน สามี ภรรยา ลูก พี่ น้อง หรือเพื่อนสนิทหาว่า “ใส่ใจน้อยเกินไปบ้าง” หรือถูกละเลยการใส่ใจบ้าง จนเกิดความสงสัยว่า “ใส่ใจเท่าไหร่ถึงจะพอ?”
วันนี้จะนำไปรู้จักกับเทคนิคการรักษาสมดุลของการแสดงความใส่ใจ เพื่อลดการเกิดปัญหาที่มาจาก “การใส่ใจ” กันค่ะ
โดยเนื้อหาในบทความนี้ ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากการบรรยายของ Jackie Tabick ซึ่งเป็นแรบไบ (Rabbi) หญิงคนแรกของประเทศอังกฤษ ได้บรรยายในหัวข้อ The balancing act of compassion ในปี ค.ศ. 2009 ใจความสำคัญว่า ทุกศาสนามีคำสอนที่มุ่งให้เกิด “ความรัก” ซึ่งความรัก ณ ที่นี้ แสดงออกโดยการ “เห็นอกเห็นใจ ใส่ใจกัน” ซึ่งทุกคนคงได้เรียนรู้กันมาแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่า “การใส่ใจ” หรือเห็นอกเห็นใจนั้น ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเรา
มีคำกล่าวคลาสสิกที่ว่า “อยากได้อะไรจงให้เขาก่อน” หมายความว่า ถ้าคุณต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติเช่นใดกับคุณ ขอให้คุณปฏิบัติเช่นนั้นกับเขาก่อน หากคุณต้องการมิตรจงเป็นมิตร หากคุณต้องการศัตรูนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้ว “การใส่ใจ” มาเกี่ยวข้องอะไรในส่วนนี้ ต้องขอบอกเลยว่า “การใส่ใจ” มีส่วนสำคัญอย่างมากเลยค่ะในการที่จะทำให้เราเข้าใจผู้อื่น เข้าใจว่าผู้อื่นต้องการอะไร ผู้อื่นรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้นั้นเป็นบุคคลสำคัญ เป็นบุคคลที่เรารักด้วยแล้ว “การใส่ใจ” ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญค่ะ
แต่อย่างไรก็ตาม “การใส่ใจ” ที่มากเกินไป ก็จะทำให้บุคคลที่เราต้องการ “ใส่ใจ” รู้สึกไปในทางรำคาญได้ ทั้งๆที่เรามีเจตนาดี แต่ผู้รับความ “ใส่ใจ” ไม่ต้องการก็ไร้ประโยชน์ อีกทั้งยังจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ไปเสียอีก ด้วยเหตุนี้ Tabick จึงได้มีข้อแนะนำ ว่า “การใส่ใจ” ที่มีคุณภาพ ต้องประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ ดังนี้
1.ความยุติธรรม
เหตุผลที่ “การใส่ใจ” ต้องมีความยุติธรรม เพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เราจะให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น เราต้องใส่ใจกับทุกคนโดยยึดหลักความยุติธรรม หมายความว่า จงให้คนที่ควรให้ ในปริมาณที่ควรได้รับ เช่น คุณผู้อ่านสนิทกับคุณพ่อคุณแม่มาก แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็ควรใส่ใจคุณพ่อคุณแม่ให้มากขึ้น ผ่านการติดต่อสื่อสารในช่องทางต่างๆ หรือหาเวลาไปหาให้มากขึ้น ใส่ใจบุคคลที่ไม่ควรใส่ใจให้น้อยลง เช่น คนที่ว่าร้าย คนที่ทำร้ายความรู้สึกของเราค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับใส่ใจคนที่ควรใส่ใจน้อยกว่าที่เป็น แต่กลับไปให้ความสำคัญกับคนที่ไม่ควรใส่ใจเสียมากกว่า รู้แบบนี้แล้ว ใส่ใจให้ถูกคนเพื่อความสบายใจของเรากันนะคะ
2.สติ
การมีสติ คือ การมีสำนึกรู้ตัวอยู่เสมอ ซึ่ง “การใส่ใจ” ก็ต้องการความรู้ตัว รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร รู้ว่าเราได้ทำอะไรให้กับใคร และรู้ว่าเราแสดงออกต่อบุคคลอื่นอย่างไร การมีสตินั้น จะส่งผลให้ “การใส่ใจ” มีคุณภาพ เพราะเราจะรู้ตัวอยู่เสมอในการให้ความ “ใส่ใจ” และตระหนักเสมอถึงทุกผลของการกระทำของเรา
3.ความเห็นอกเห็นใจ
“การใส่ใจ” ที่มีคุณภาพนั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรารู้ว่าบุคคลที่เรารักชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ในสถานการณ์หนึ่งๆจะรู้สึก หรือคิดอะไร พูดง่ายๆก็คือ เราต้องรู้ใจบุคคลที่เราต้องการที่จะ “ใส่ใจ” เสียก่อน และเมื่อรู้ใจแล้วเราจะเข้าใจว่าในสถานการณ์ที่เขาต้องเผชิญนั้นทำให้เขารู้สึกอย่างไร เมื่อเรารู้ความรู้สึกของเขาแล้ว เราจะสามารถ “ใส่ใจ” และดูแลความรู้สึกของเขาได้อย่างเหมาะสมค่ะ
ทั้งสามองค์ประกอบของ “การใส่ใจ” ที่ Tabick แนะนำมานั้น ดูค่อนข้างจะเป็นอุดมคติไปหน่อย แต่ถ้าหากเราได้ลองนำไปใช้ในการพัฒนา “การใส่ใจ” ผู้เขียนเชื่อแน่นอนค่ะว่าความสัมพันธ์ของคุณผู้อ่านกับคนที่คุณผู้อ่านรัก จะแน่นแฟ้นและใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
อ้างอิง :
https://www.ted.com/talks/jackie_tabick/transcript?referrer=playlist-how_to_make_compassion_thrive
Comments