top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ภาพยนตร์หลานม่า : กับ 5 เทคนิคจิตวิทยาในการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ



ภาพยนตร์ไทยที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้ คงเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ นอกจากภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ภาพยนตร์แนวครอบครัว – ดราม่า ว่าด้วยเรื่องอาม่าสูงอายุ ผู้อาศัยตามลำพัง โดยมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต คือ รอลูก หลานมาเยี่ยมในวันหยุด กับหลานชายผู้หวังมรดกจากอาม่าด้วยการเข้ามาดูแลอาม่าในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” นี้โดนใจคนไทยหลาย ๆ คนเลยค่ะ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพัง ทั้งคนวัยทำงานที่หาเงิน เพื่อส่งเงินกลับไปให้พ่อ แม่ผู้แก่ชราดูแลตัวเอง หรือไปหาหมอ แต่ตัวเองไม่มีเวลาไปดูแล และกลุ่มหลานวัยรุ่น ที่จะกลับไปพบเจอญาติผู้สูงวัยตามแต่พ่อ แม่ จะพากลับไปเยี่ยมเท่านั้น “หลานม่า” จึงเป็นภาพยนตร์น้ำดีที่สะท้อนให้เราตระหนักในหลาย ๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้เวลากับคนในครอบครัว การใส่ใจคนในครอบครัว การรักษาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และที่เด่นชัดที่สุด ก็คือ “การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ” ค่ะ   


จากสถิติผู้สูงอายุในประเทศไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยสำนักบริหารการทะเบียน พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ จำนวน 13,284,418 คน คิดเป็น 20.12% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด นั่นจึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ทั้งนี้ จากทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการทางจิตสังคม ของ Erik Erikson พบว่า ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพจิต ได้แก่ เรื่องเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรื่องสังคม เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าลดลง เรื่องของหน้าที่ในครอบครัว เรื่องสุขภาพ และการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้ากับความตาย นั่นจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพจิตผู้สูงอายุ คือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล (Egocentricity) มากขึ้น เพราะต้องการให้ลูก หลานสนใจ และยังเกิดความสามารถถดถอย (Repression) เพราะความไม่ทันโลก  และความเสื่อมถอยของร่างกาย ด้วยเหตุนี้จากสถิติทางจิตวิทยาจึงพบว่าผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ดังนี้


1.อารมณ์แปรปรวนในผู้สูงอายุ 

ปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุแรก ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่าพบได้มาก ก็คือ โรคอารมณ์แปรปรวน โดยผู้สูงอายุจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวเศร้า จนสามารถกล่าวได้ว่า 1 วัน พันอารมณ์เลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุของอารมณ์แปรปรวนในผู้สูงอายุ ก็มีได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากฮอร์โมนแปรปรวน ความเครียด การเจ็บป่วยทางกาย หรือทางสมอง เป็นต้น

2. ภาวะเครียด วิตกกังวล 

เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่ประสบปัญหาเรื่องความเสื่อมของร่างกาย และสมอง นั่นจึงทำให้ผู้สูงอายุเกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถและศักยภาพของตนเอง ว่าจะยังดูแลตัวเองได้ไหม ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกนานเท่าไร จึงเป็นผลให้ผู้สูงอายุมีความเครียดสูง และมีความกังวลในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในสังคมที่มิจฉาชีพชุกชุมเช่นนี้ ยิ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุเครียดหนักมาก

3. โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 

จากการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการทางจิตสังคม ตามทฤษฎีจิตวิทยาของ Erik Erikson ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น จะพบว่า ผู้สูงวัยโดยส่วนใหญ่มีภาวะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล (Egocentricity) และเกิดความสามารถถดถอย (Repression) จึงทำให้ผู้สูงอายุที่ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามวัยเช่นนี้ไม่ได้มีความเศร้า เสียใจ ทุกข์ใจ และกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด


เพื่อให้การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุในบ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้เอ็มที่ดูแลอาม่า เหมือนในภาพยนตร์หลานม่า ดิฉันจึงได้รวบรวมข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามาฝากกันใน 5 เทคนิคจิตวิทยาในการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ดังนี้ค่ะ


1.ให้เวลา

สิ่งที่ทำให้เอ็ม หรือหลานของอาม่า ในภาพยนตร์หลานม่า สามารถดูแลอาม่าได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ก็เพราะว่าเอ็มมี “เวลา” ค่ะ ถึงแม้การทุ่มเทเวลาของเอ็มในการดูแลอาม่า ไปไหนมาไหน กินอยู่หลับนอนอยู่ข้าง ๆ อาม่า จะแฝงไปด้วยเจตนาที่ไม่ดีในตอนแรก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การให้เวลากับผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยความที่เวลาของผู้สูงอายุเป็นการนับถอยหลังถึงวันสุดท้าย การที่มีคนมาดูแล เอาใจใส่ จึงเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากค่ะ


2. ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

สาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นผลมาจากการมีกรอบความคิด (Mindset) ว่า ตนเองถูกลดความสำคัญลง เพราะไม่ได้ทำงาน ร่างกายเสื่อมถอย สมองคิดได้ช้าลง ก้าวไม่ทันโลก ดังนั้นเพื่อเสริม การเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self – Esteem) ให้แก่ผู้สูงอายุ เราจึงควรทำให้ผู้สูงอายุยังรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เช่น ชื่นชมความสามารถ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานบ้าง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น ๆ เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุได้ใช้ความสามารถของตนสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เขาก็จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองค่ะ


3. สังคมของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ หากมนุษย์ไม่ได้เข้าสังคม แยกตัวออกมาโดดเดี่ยว โดยเฉพาะมนุษย์ผู้สูงวัยแล้ว จะทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม จนอาจเกิดเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาได้ นอกจากนี้แล้วการที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าสังคม หรือพาสังคมไปหาผู้สูงอายุ ยังช่วยลดความเครียด เพิ่มความมีชีวิตชีวา และลดเหตุเศร้าใจดังเช่นข่าวผู้สูงอายุเสียชีวิตตามลำพังลงได้ค่ะ


4. หมั่นบริหารสมองให้ผู้สูงอายุ

อวัยวะที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรายังคงมีชีวิต คือ สมอง ดังนั้นหากเราใช้งานสมองในระดับที่พอดี ออกกำลังกายสมอง บริหารสมองอย่างต่อเนื่อง เมื่อเราแก่ตัวไป สมองของเราก็ยังสามารถทำงานได้ดี และมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ยาวนาน โดยวิธีบริหารสมองผู้สูงอายุ ก็สามารถทำได้โดย เล่นเกมเกี่ยวกับตัวเลข เล่นเกมอักษรไขว้ ทำงานฝีมือ เป็นต้น


5. ชวนผู้สูงอายุไปออกกำลังกาย

วิธีใช้เวลาร่วมกับผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และมีประโยชน์ ก็คือ การชวนผู้สูงอายุ และคนในครอบครัวไปออกกำลังกายค่ะ เพราะการออกไปวิ่ง เดินสวนสาธารณะ เล่นโยคะ หรือว่ายน้ำเล่นกับหลาน ๆ ก็สามารถสร้างความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายจิตใจ และสานสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี


ถึงแม้ว่าในอนาคตวัยผู้สูงอายุจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย แต่กลายเป็นว่าผู้สูงวัยมีแนวโน้มจะกลายเป็นวัยที่ถูกใส่ใจน้อยที่สุด เพราะคนวัยทำงานก็ไม่มีเวลาไปดูแล วัยรุ่นและวัยเด็กมีกิจกรรมมากมาย ทำให้ห่างเหินจากผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมตลอดช่วงชีวิต


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง :

1. ไทยรัฐออนไลน์. (2566, 12 กรกฎาคม). 5 วิธีดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ให้สดใสร่าเริง ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2567 จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2708958

2. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง. (มปป.). สุขภาพจิตผู้สูงอายุ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2567 จาก https://www.nakornthon.com/article/detail

3. ศรีประภา ชัยสินธพ. (มปป.). สภาพจิตใจของผู้สูงอายุ.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/07172014-1131

4. สำนักบริหารการทะเบียน. (2567, 29 กุมภาพันธ์). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2567 จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/displayData

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page