How to รักษาความสัมพันธ์ในบ้าน ด้วยเทคนิคจิตวิทยา I-Message
ในช่วงที่เราต้อง Work from home กันอย่างจริงจังเป็นเวลานาน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่มีทีท่าจะลดลงเลย ซึ่งทำให้หลายคนต้องเป็นชาวออฟฟิตติดบ้านไปโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งข้อดีของการ Work from home ก็คือทำให้ลดความเสี่ยงที่จะไปรับเชื้อ Covid-19 ลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงาน มาใช้ในการดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น มีเวลานอนมากขึ้น มีเวลาทานอาหารเช้า ออกกำลังกายในบ้าน และยังช่วยประหยัดค่าเดินทางได้อีกด้วยค่ะ แต่ข้อเสียก็คือ ทำให้เราเบื่อ ทั้งเบื่อบ้านเพราะออกไปไหนไม่ได้ เบื่ออาหารการกิน เพราะร้านเปิดน้อยลง จนพาลไปเบื่อคนในบ้าน โดยเฉพาะถ้าในบ้านมีคนต่างวัยอยู่ร่วมกัน หรือเป็นครอบครัวขยาย ก็จะมีแนวโน้มที่ต่างคนต่างเบื่อกันและกันมากกว่าคนที่อยู่กับคู่รัก หรืออยู่กับวัยเดียวกันค่ะ
เนื่องจากคนที่ต่าง Generation กันมาก ๆ มักจะมีช่องว่าง หรือ Gap ทางประสบการณ์ที่ส่งผลต่อความคิดและทัศนคติแตกต่างกันมาก และมักจะแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอีกฝ่ายออกมาทางคำพูด หรือการสื่อสาร เช่น เมื่อคุณปู่เห็นหลายชายวัยมัธยมปลาย ซึ่งอยู่ในช่วงปิดเทอมตื่นสาย ก็พูดกับหลานว่า “เธอนอนกินบ้านกินเมืองแบบนี้ จะไปทำอะไรทันเขาได้ยังไง” หรือ คุณย่าที่ขัดใจกับคุณแม่ที่ Work from home แล้วปล่อยให้ลูกดูคลิปในโทรศัพท์ จึงพูดกับแม่ว่า “ทำไมเธอถึงไม่ใส่ใจดูลูก ปล่อยลูกทำแบบนี้ก็สมาธิสั้นหมดสิ” ซึ่งคำพูดร้ายกาจ เชือดเฉือนที่ซ่อนความหวังดีไว้ลึก ๆ เหล่านี้ มักสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ และความบาดหมางก็จะกินใจคนในบ้านยาวนาน เพราะคนพูดก็ไม่รู้ตัว และคนฟังก็ไม่กล้าบอก
ดังนั้น เพื่อความสมานฉันท์ ปรองดองในบ้าน บทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ วิธีการรักษาความสัมพันธ์กับคนในบ้าน ด้วยเทคนิคจิตวิทยา ที่เรียกว่า “I-Message” ค่ะ
I-Message เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ในการปรับการสื่อสารให้ดูเป็นมิตร น่าฟัง สามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกของเรา เพื่อให้คู่สนทนาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ แรงจูงใจรวมไปถึงพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ค่ะ โดยแนวทางการใช้ I-Message ก็ไม่ยากเลยค่ะ สามารถเปลี่ยนคำพูด หรือการสื่อสารของเราให้เป็น I-Message ได้ตามนี้เลยค่ะ
1. เปลี่ยนประโยคการสื่อสาร โดยขึ้นต้นจาก “เธอ” เป็น “ฉัน”
ยกตัวอย่างจากประโยคด้านบนนะคะ ที่คุณปู่พูดกับหลานว่า “เธอนอนกินบ้านกินเมืองแบบนี้ จะไปทำอะไรทันเขาได้ยังไง” จากประโยคดังกล่าว จะเห็นว่า คุณปู่ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “เธอ” ซึ่งเป็น You-Message โดยในทางจิตวิทยาการสื่อสารแบบ You-Message จะให้ผลตรงข้ามกับ I-Message อย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ เพราะการใช้ประโยคในลักษณะ You-Message จะทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกทางลบ หงุดหงิด โมโห แล้วด้วยการที่ต้อง Work from home ทำให้ออกไปไหนไม่ได้ด้วยแล้ว จะทำให้คนในบ้านระเบิดอารมณ์ใส่กันได้ง่าย ๆ
ดังนั้น หากเราเปลี่ยนรูปแบบประโยคเป็น I-Message จะทำให้สถานการณ์ในบ้าน ความรู้สึกที่คนในบ้านมีต่อกันดีขึ้นอย่างมากเลยค่ะ เช่น จาก “เธอนอนกินบ้านกินเมืองแบบนี้ จะไปทำอะไรทันเขาได้ยังไง” เปลี่ยนเป็น “ปู่คิดว่า ถ้าหลานตื่นเร็วกว่านี้อีกหน่อย จะดีกับหลานในการบริหารเวลามากเลยละ เพราะหลานมีเวลาที่จะทำอะไรได้มากขึ้นเยอะเลย”
เป็นอย่างไรบ้างคะ เมื่อคุณปู่พูดด้วย I-Message ที่นิ่มนวลมากขึ้น คนฟังก็จะไม่โต้แย้ง และ เก็บสารที่คุณปู่สื่อไปคิด และมีแนวโน้มที่หลานจะตื่นนอนไวขึ้น มากว่าการสื่อสารแบบเดิมค่ะ
2. เปลี่ยนจากการวิจารณ์ เป็นการบอกความคิด ความรู้สึก ความต้องการ และความคาดหวังของเรา
ทีนี้มาดูประโยคที่คุณย่าใช้พูดกับคุณแม่กันบ้างนะคะ “ทำไมเธอถึงไม่ใส่ใจดูลูก ปล่อยลูกทำแบบนี้ ก็สมาธิสั้นหมดสิ” ประโยคนี้ให้ความรู้สึกไม่ดีเลยใช่ไหมคะ คุณแม่ที่กำลัง Work from home ไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย นอกจากจะเหนื่อยกายแล้ว ยังต้องมากังวลกับคำวิจารณ์ของคุณย่า และต้องเหนื่อยใจกับความคาดหวังของคุณย่าอีก
ดังนั้น หากเปลี่ยนประโยคข้างต้นเป็น I-Message ก็จะได้เป็นว่าจาก “ทำไมเธอถึงไม่ใส่ใจดูลูก ปล่อยลูกทำแบบนี้ ก็สมาธิสั้นหมดสิ” เป็น “ย่าว่าปล่อยให้ลูกดูมือถือนาน ๆ ไม่ดีนะ เดี๋ยวเขาจะสมาธิสั้นได้ เพราะอะไรถึงให้ลูกดูมือถือนาน ๆ ละ?”
ในประโยค I-Message จะเห็นว่า คุณย่าขึ้นต้นด้วยการแทนตัวเอง ตามด้วยการบอกความต้องการ คือ ไม่อยากให้หลานเล่นมือถือนาน และเปลี่ยนจากคำถามว่า “ทำไม?” เป็น “เพราะอะไร?” แทน ซึ่งการใช้คำว่า “ทำไม?” นอกจากจะไม่ได้คำตอบแล้ว ยังสร้างศัตรูอีกด้วยละค่ะ เพราะในทางจิตวิทยา “ทำไม?” เป็นคำถามที่จัดอยู่ในแนว “หาเรื่อง” คือ ถามด้วยอารมณ์ ถามหาคนผิด แต่เมื่อเปลี่ยนเป็น “เพราะอะไร?” ซึ่งเป็นการถามหาต้นเหตุของปัญหา คุณแม่ที่ได้ฟัง ก็อาจได้โอกาสขอความช่วยเหลือจากคุณย่าให้ช่วยดูหลาน เล่นกับหลาน เวลาที่แม่ทำงานได้ค่ะ
3.ใช้คำพูดที่ฟังดูเป็นมิตร
ความมหัศจรรย์ของ I-Message นอกจากจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ผู้รับสารได้รับสารครบถ้วนแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้สึกทางบวกให้คนฟังอย่างมากเลยค่ะ เพียงแค่เราเปลี่ยนการขึ้นต้นประโยค จาก “เธอ” “คุณ” หรือชื่อคู่สนทนา เป็น “ฉัน” “เรา” หรือคำแทนตัวเอง แล้วบอกความต้องการ ความคิด ความรู้สึก หรือหากมีคำถาม ก็เปลี่ยนจาก “ทำไม?” เป็น “เพราะอะไร?” หรือ “เกิดอะไรขึ้น?” แทน เช่น ต้องการจะบอกคนรักให้ช่วยทำงานบ้านบ้าง ก็สามารถใช้ I-Message โดยพูดว่า“ฉันจะรู้สึกเหนื่อยน้อยลงมากเลย ถ้าคุณช่วยทำงานบ้าน” หรือ “ฉันจะรู้สึกดีขึ้นมากเลย ถ้าคุณช่วยฉันดูแลบ้าน” หรือ ต้องการถามลูกเรื่องการใช้เงิน ก็สามารถถามลูกได้ว่า “แม่รู้สึกว่าช่วงนี้ลูกใช้เงินมากกว่าปกติ เกิดอะไรขึ้นหรือลูก ” เป็นต้น
ประโยค I-Message เหล่านี้นอกจากจะสื่อสารความคิด ความรู้สึกของเราต่อคนฟังแล้ว ยังทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกตำหนิอีกด้วยละค่ะ
4. ใช้คำพูดที่แสดงถึงอารมณ์ทางบวก หรือความรู้สึกด้านบวก
ถ้าพูดถึงการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาในการจูงใจคนฟัง หรือสร้างความรู้สึกที่ดีแก่คนฟัง เทคนิค I-Message นี่ถือว่าประสบความสำเร็จมากเลยค่ะ เพราะสามารถบอกความรู้สึก ความต้องการของเราไปถึงอีกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่เปลี่ยนความรู้สึกที่จะสื่อสารเป็นเชิงบวก เช่น ต้องการบอกคนรักให้ฟังเราพูดให้จบก่อน อย่าเพิ่งพูดแทรก ก็สามารถบอกได้ว่า “ฉันรู้สึกดีมากเลยเวลาที่คุณรับฟังฉันอย่างตั้งใจ” หรือ “ฉันชอบเวลาที่คุณปล่อยให้ฉันพูดทุกอย่างให้หมดก่อนโดยไม่แทรก” เป็นต้นค่ะ เราก็สามารถบอกความต้องการของเรา ไปพร้อม ๆ กับรักษาความรู้สึก หรือสร้างความรู้สึกทางบวกให้คู่สนทนาไปพร้อม ๆ กันได้เลย
บทความแนะนำ “สื่อสารกับคนรักอย่างไรไม่ชวนทะเลาะ”
การใช้เทคนิคจิตวิทยาในการสื่อสาร ที่เรียกว่า I-Message นั้น นอกจากเราจะสามารถนำมาใช้กับคนในบ้านในช่วง Work from home ยังสามารถนำไปใช้สื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำงานได้ด้วยนะคะ
iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments