top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

วิธีอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยไม่ให้เราดิ่งตาม


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกวันหรือบ่อย ๆ โดยเฉพาะถ้าคุณมีแฟน คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทเป็นโรคซึมเศร้า และในบางครั้งคุณเองก็มีความรู้สึกว่าตัวเองเหมือนจะเป็นโรคซึมเศร้าตามไปด้วย รู้สึกเหมือนพลังชีวิตของตัวเองถูกสูบหายไปจากการที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิหรือตัดสินว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นภาระของผู้ดูแลนะคะ เพียงแต่อยากจะช่วยเสริมพลังให้กับผู้ดูแลเพื่อให้พวกเขาสามารถมีพลังกายพลังใจเต็มเปี่ยม จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่ายค่ะ


วิธีอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังไงโดยไม่ให้เราดิ่งตามไปด้วย


1. อย่าพยายามที่จะรับทุกอย่างมาเป็นของตัวเอง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจจะมีช่วงที่อารมณ์ดิ่งมาก ไม่อยากจะทำอะไรเลย บางคนอาจจะฟาดงวงฟาดงาใส่คุณ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คุณดิ่งไปกับเขาก็คือคุณคิดไปว่าที่เขาเป็นแบบนั้นเพราะคุณ เช่น คุณดูแลเขาไม่ดีพอ คุณควรที่จะยอมรับเขาได้มากกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ความผิดของทั้งเขาและคุณ แต่อาการและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นผลมาจากอาการของโรคซึมเศร้าต่างหาก และขอให้คุณบอกกับตัวเองว่าคุณได้พยายามทำดีที่สุดแล้วเท่าที่คน ๆ หนึ่งจะทำได้ ส่วนหน้าที่ในการบำบัดรักษานั้นยกให้เป็นส่วนของจิตแพทย์เลย


2. อย่าพยายามไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขา

อาการที่เด่นชัดมากอย่างหนึ่งของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือ “การมีความคิดลบ” คุณอาจจะมองเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เขาไม่มีความสุขก็คือการที่เขามีความคิดลบนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องทำความเข้าใจว่าบ่อยครั้งที่ความคิดลบของเขามันมาจากอาการของโรคซึมเศร้า ดังนั้น ไม่ว่าคุ ณจะพยายามโน้มน้าวยังไงก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เขาเลิกคิดลบได้เลย แต่เมื่ออาการของเขาดีขึ้นแล้ว ความคิดลบที่เคยมีอย่างรุนแรงจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองตามลำดับ ซึ่งหากเขามีอาการป่วยของโรคซึมเศร้าก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เพื่อดูแลให้อาการดีขึ้น


3. ช่วยกระตุ้นและสนับสนุนให้เขาทำพฤติกรรมที่ดีต่ออาการ

คุณอาจจะกระโดดเข้าไปแก้ไขความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้เปลี่ยนจากลบมาเป็นบวกไม่ได้เลย แต่คุณสามารถช่วยกระตุ้นและสนับสนุนให้เขาทำพฤติกรรมที่ดีต่ออาการของเขา เช่น สนับสนุนให้เขามีการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมบ้างแทนที่จะนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน ชวนให้เขากินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันก็พบว่ามีอาหารหลายชนิดที่ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินได้ เช่น ปลาแซลมอน ไข่ ถั่วเหลือง แมคคาเดเมีย ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการขยับเคลื่อนไหวร่างกายนั้นมีส่วนช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้าลดลง โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง


4. ลดความคาดหวังลงบ้าง

บางครั้งผู้ดูแลเองก็มีความปรารถนาดีอยากให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลับมาสดชื่นร่าเริงได้สักที โดยที่ลืมทำความเข้าใจไปว่าศักยภาพของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะกลุ่มที่อาการยังไม่ดีขึ้นนั้นจะยังไม่สามารถทำอะไรได้เท่ากับคนอื่น ๆ ได้ ยิ่งคุณอยากให้เขาดีขึ้นโดยที่มองเปรียบเทียบกับคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือเปรียบเทียบเขากับคนปกติที่มีปัญหาชีวิตหนัก ๆ หรือมีความคิดว่า “คนอื่นเจอมาหนักกว่านี้เขายังไม่เห็นจะอยากตายเลย” คุณก็จะยิ่งเครียดกับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น สิ่งที่คุณควรทำเพื่อให้ดีต่อทั้งตัวเองและผู้ป่วยก็คือการที่คุณบอกให้เขารู้ว่าคุณคอยเอาใจช่วยอยู่เสมอ และย้ำให้เขารับรู้ว่าแม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้อยู่ข้าง ๆ คอยรับฟังเขาตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณรังเกียจเขา เพียงแต่คุณมีเรื่องที่ต้องทำ หรือบางครั้งคุณเองก็อยู่ในช่วงที่ต้องการพักสักครู่หนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งหมายความว่าคุณได้ลดความคาดหวังต่อเขาว่าจะต้องหายโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ลดความคาดหวังต่อตนเองว่าจะต้องเป็นคุณที่ช่วยให้เขาหายหรือดีขึ้น ขอให้ใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป


5. ทำความเข้าใจว่าการรักษามีหลายรูปแบบ

แน่นอนว่าโรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรกินยาเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่ายาจะได้ผลกับผู้ป่วยทุกคน มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนที่ไม่ไหวกับผลข้างเคียงของยาจึงหยุดกินยาเอง หรือร้องขอที่จะหยุดกินยา ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่ยืนหยัดมากในการที่จะให้เขากินยา คุณก็จะยิ่งเครียดมากกับการที่ต้องเห็นเขาไม่กินยา สิ่งที่คุณควรทำก็คือชวนให้เขากลับไปพบจิตแพทย์เพื่อเล่าอาการข้างเคียงที่เกิดจากยา และขอให้จิตแพทย์ช่วยปรับแผนการรักษา โดยอาจจะลดยาลงแต่เพิ่มในส่วนของการทำจิตบำบัดเข้ามาแทน


การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นจะไม่ง่ายเลยหากคุณแบกรับทุกอย่างเอาไว้ทั้งหมด หรือมีความเชื่อว่าคุณจะต้องแข็งแรงเพื่อที่จะได้ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดีตลอดเวลา เพราะในความจริงแล้วคุณเองก็คือมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณเองก็สามารถพักและถอยออกมาเป็นครั้งคราวเพื่อดูแลชาร์จแบตหัวใจของตัวเองได้นะคะ และหากคุณกังวลว่าการถอยออกมาชั่วคราวของคุณจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ คุณก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยที่เราไม่ดิ่งตามเพิ่มเติมได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] How to Help Someone with Depression. Retrieved from https://www.healthline.com/health/how-to-help-a-depressed-friend

[2] Serotonin (เซโรโทนิน) สารเคมีแห่งความสุข ความเศร้า และสุขภาพ. Retrieved from https://www.pobpad.com/serotonin-%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87



บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page